ปลูกฝังเด็กโตแล้ว.."ไม่เห็นแก่ตัว” ผู้ใหญ่ต้องเป็น"ต้นแบบ"แห่งการให้


เพิ่มเพื่อน    

        ภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลง ชีวิตที่ทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ ลูกเล็กเด็กแดง พึ่งพาสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร แทนการเดินไปมาหาสู่ ทักทายซึ่งกันและกัน ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

                แต่ทุกวันนี้ และก่อนหน้านี้ ภาพของเด็กหรือเยาวชนเดินพูดคนเดียว นั่งเล่นเกมบนมือถือบนรถเมล์ รถไฟฟ้า โดยไม่สนใจคนรอบข้าง จนกระทั่งขาดมารยาทแสดงน้ำจิตน้ำใจต่อคนสูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ กลายเป็นเรื่องปกติ จนน่าสะท้อนใจว่า ...เด็กยุคดิจิทัล โตขึ้นแล้ว..จะเห็นแก่ตัว!!

                ทำอย่างไรที่สังคมไทยจะป้องกันปัญหาวัฒนธรรมของความเห็นแก่ตัว  ซึ่งมีการตีความว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรก้าวก่าย  หรือไม่ควรแทรกแซง              

                กรณีดังกล่าวมีตัวอย่างหรือภาพสะท้อนจากความเห็นแก่ตัวและขาดความเสียสละ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมของ "คนดัง" หรือผู้มีอิทธิพลในสังคมโซเชียลหลายต่อหลายคนท่ามกลางปัญหาโควิด-19 จนมีการตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรที่เราจะเลี้ยงลูกหลานโตขึ้นไม่เห็นแก่ตัว?!?

                แพทย์หญิงถิรพร ตั้งจิตติพร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3 ให้คำแนะนำวิธีสอนลูกหลานอย่างไรให้เสียสละ มีน้ำใจ และไม่เห็นแก่ตัวไว้อย่างน่าสนใจว่า “พื้นฐานหลักจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเด็ก เช่น ความรักที่มั่นคงในครอบครัว (ความรักเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เด็กรู้ว่า ตนเองไม่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้ความรักมา สามารถทำให้เด็กมีความสุขและพร้อมแบ่งปันผู้อื่น) และเด็กรู้สึกถึงความปลอดภัย (ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญ หากลูกรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย สัญชาตญาณของมนุษย์ก็พร้อมที่จะเอาตัวรอด ซึ่งวิธีการอยู่รอดอาจจะเกิดการไปเบียดเบียนผู้อื่นได้)

                “สำหรับวิธีการเลี้ยงลูกแบบโตไปไม่เห็นแก่ตัว และการรู้จักเสียสละ ซึ่งวิธีการเลี้ยงดูให้มีคุณลักษณะนี้ต้องประกอบไปด้วย การปลูกฝังเรื่องความคิดและพฤติกรรม ที่ควรแสดงออกให้แก่เด็ก ทั้งนี้ “การปลูกฝังพฤติกรรม” เริ่มจาก 1.กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าพ่อแม่ อยากเลี้ยงลูกให้มีคุณลักษณะอย่างไร และการที่เด็กสามารถเสียสละได้ ต้องมีแนวคิดเรื่อง การที่ไม่ทำให้ตนเอง ผู้อื่น สังคมเดือดร้อน ไม่เบียดเบียนตนเอง (ความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น) + มีความสามารถ (เพื่อการอยู่รอด) เช่น การคิดวิเคราะห์เป็นและมีทักษะการจัดการปัญหา จัดการอารมณ์ได้ ซึ่งความสามารถจะเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกอยู่ได้อย่างมีความสุข เมื่อตนเองมีความสุข ก็จะสามารถพร้อมเป็นผู้ให้ได้ (ตนเองเต็มไปด้วยความสุข ก็จะสามารถเติมเต็มให้ผู้อื่นได้ โดยไม่รู้สึกว่าตนองเสียเปรียบหรือถูกเอาเปรียบ)

                2.เริ่มฝึกตั้งแต่เล็กๆ เพราะสามารถปลูกฝังและเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า 3.พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี ดังนั้นลองสำรวจดูว่ามีสิ่งไหนที่เราห้ามไม่ให้ลูกทำ แล้วเราทำเองบ้าง Action speak louder than words ดังนั้นหากเราจะสอนลูก ต้องเริ่มจากทำให้เด็กดู และสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองก็สำคัญ ในการที่เด็กจะเรียนรู้เลียนแบบ ยกตัวอย่าง ถ้าเราให้เด็กดู TV หรือ cartoon ที่มีแต่พฤติกรรมแก่งแย่งกัน เด็กก็จะมีภาพจำพฤติกรรมนั้น จนอาจเกิดความเคยชิน คิดว่าใครๆ ก็ทำกันได้ 4. สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวจะเป็นสิ่งที่สำคัญ 5.คอยสะท้อนบอกพฤติกรรมที่เราต้องการให้เด็กฟัง 6.มีกฎระเบียบในบ้านให้ชัดเจน และมีผลของการละเมิดกฎ เพื่อสอนให้เด็กสามารถคุมกายและใจของตนเอง เกิดความยับยั้งชั่งใจ 7.ฝึกให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเอง เมื่อเด็กช่วยเหลือตนเองได้ดี ก็จะรู้จักช่วยเหลือผู้อื่น 8.มีแบบฝึกหัดเพื่อชวนให้เด็กคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเหตุผลต่างๆ โดยพ่อแม่มีหน้าที่เฝ้าดูและรับฟัง 9.มีความสม่ำเสมอในการฝึก 10.สร้างความรู้สึกมีคุณค่าและความมั่นใจในตนเอง

                ส่วน “การปลูกฝังความคิด” นั้น เริ่มจากพัฒนาการทางจริยธรรม Moral development เป็นพัฒนาการที่เกี่ยวกับ ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความถูกผิด และเกิดจากกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะทางปัญญา การใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจ เลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 6 ขั้น การพัฒนาจริยธรรมนี้ไม่ได้พัฒนาตามอายุ บางคนที่โตแล้วอาจจะอยู่ในลำดับขั้นแรกๆ ได้ หากไม่ได้ถูกกระตุ้นคิดให้เปลี่ยนแปลง

                โดยขั้นแรก คนเราจะเลือกตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไร ดูที่ผลของการกระทำว่าจะได้รับคำชม หรือถูกลงโทษ ลำดับถัดมา คนเราจะเลือกตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร ดูที่ผลของการกระทำว่าเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้างหรือทำตามกฎระเบียบ และสุดท้าย คนเราจะเลือกตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไรโดยตีความหมายของหลักการและมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยวิจารณญาณ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน คำนึงความถูกต้องยุติธรรม ยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์

                นอกจากนี้ จริยธรรมพัฒนาขึ้นมา ด้วยการนึกคิดของแต่ละบุคคล ตามลำดับขั้น ไม่สามารถสอนหรือปฏิบัติให้ดูได้ สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาจริยธรรมคือ การอภิปรายและแลกเปลี่ยนทัศนะความคิดเห็น ร่วมกับการได้เห็นความคิดของบุคคลอื่นๆ ที่แตกต่างกัน ก็จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และยอมรับเรื่องความแตกต่าง ฝึกการกระตุ้นคิด-เหตุผลได้”

                จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ศูนย์สุขภาพเด็ก รพ.พญาไท 3 บอกอีกว่า “สำหรับการนำงานจิตอาสามาใช้อบรมเลี้ยงดูบุตรหลานสามารถทำได้เลย ไม่มีข้อเสีย งานจิตอาสาสามารถทำได้ทุกรูปแบบ โดยที่ผู้ปกครองต้องคำนึงถึงงานที่มีความปลอดภัย และเหมาะสมกับพัฒนาการในเด็ก ยิ่งเป็นงานจิตอาสาที่ผู้ปกครองทำร่วมด้วยยิ่งดีมาก ประกอบกับถ้ามีความหลากหลายในงาน เด็กก็ยิ่งได้เรียนรู้

                “ในสถานการณ์ช่วง covid-19 อาจมีงานที่เด็กๆ ออกนอกบ้านได้น้อย แต่ก็ยังสามารถเป็นจิตอาสาได้ เช่น การร่วมกันแพ็กของถุงยังชีพเพื่อแบ่งปันผู้อื่น การได้โพสต์ข้อความดีๆ ให้กำลังใจผู้อื่น การกล่าวชื่นชมบุคคลที่เสียสละเพื่อช่วยให้ประเทศรอดพ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นงานที่เด็กๆ ทำได้ และปลูกฝังให้เกิดความรัก ความเสียสละให้ผู้อื่นได้เช่นกัน ส่วนการที่ผู้ปกครองให้คำแนะนำเกี่ยวกับการสอนให้เด็กรู้จักมีเหตุมีผล เพื่อที่จะทำให้ลูกหลานโตไปแบบไม่เห็นแก่ตัวนั้น อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะการสอนให้รู้จักเหตุผล เป็นการสอนแค่การคิดของผู้ปกครองเท่านั้น แต่เราจะไม่ทราบวิธีคิดของเด็กว่าเด็กคิดอย่างไร อาจจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเด็ก และปลูกฝังเกี่ยวกับพฤติกรรม ที่ทำให้เด็กรู้จักการเสียสละเพิ่มขึ้นด้วย”

                คุณหมอถิรพรบอกอีกว่า “สำหรับแนวโน้มของเด็กไทยในอนาคต เกี่ยวกับเรื่องของการรู้จักเสียสละต่อผู้อื่นจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะสังคมยุคใหม่ที่เด็กติดโซเชียล หรือติดมือถือกระทั่งไม่ยอมคุยกับคนรอบข้างนั้น หมอต้องบอกว่าอันที่จริงแล้วการติดโซเชียล ไม่คุยกับคนรอบข้าง ไม่ได้เป็นเหตุที่ทำให้เด็กไม่เสียสละ เพียงเหตุเดียวค่ะ แนวโน้มเด็กไทยเกี่ยวกับเรื่องการรู้จักความเสียสละเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครเก็บข้อมูลในส่วนนี้ จึงไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าเด็กๆ ใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ เช่น รับรู้ข่าวสาร ข้อความดีๆ ชวนกันมีน้ำใจและเสียสละ จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กรู้จักเสียสละได้ แต่ถ้าสื่อเต็มไปด้วยข้อความในแง่ลบเรื่อยๆ เด็กก็จะยิ่งซึมซับความคิดลบๆ เข้ามา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราไม่อยากให้เกิด ประการสำคัญการที่พ่อแม่ จะสอนให้เด็กรู้จักการเสียสละ และไม่เห็นแก่ตัวนั้น ก็จำเป็นอย่างมากค่ะ ในการสอนโดยการทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง เพราะลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้นค่ะ”

                ด้าน “รังสรรค์ พรมมะลิหอม” เจ้าของธุรกิจส่วนตัว และสมาชิก “โครงการนกขมิ้นคลับ” กลุ่มจิตอาสามอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ยากไร้ บอกว่า “อาชีพหลักคือทำธุรกิจส่วนตัว และชอบทำบุญช่วยเหลือผู้ยากไร้ โดยการมอบสิ่งของให้กับผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารต่างๆ นอกจากนี้ก็มีการเล่นดนตรีเปิดหมวกเพื่อหาเงินและสิ่งของไปช่วยผู้ยากไร้เช่นกัน ภายใต้ชื่อกลุ่มสมาชิก “โครงการนกขมิ้นคลับ” รวมถึงการจัดทริปขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เพื่อนำสิ่งของไปมอบให้กับคนด้อยโอกาสในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการทำงานจิตอาสานี้ทำร่วมกับสมาชิกมา 5 ปีแล้ว โดยเฉลี่ยเราจะลงพื้นที่ มอบสิ่งของร่วมกับสมาชิกปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้สิ่งที่ผมและสมาชิกทุกคน ได้รับคือความสุขในการได้ช่วยเหลือผู้อื่น  และงานจิตอาสาที่ผมทำ ก็เป็นการปลูกฝังเรื่องการให้กับลูกๆ และที่ผ่านมาเคยพาลูกๆ ทั้ง 2 คนไปร่วมทำกิจกรรมอาสา โดยลูกชายคนโตอายุ 12 ปี ส่วนลูกสาวคนเล็กอายุ 7 ขวบ"

                “เนื่องจากตอนนี้มีเหตุการณ์โควิด-19 ลูกๆ จึงไม่ไปร่วมทำงานจิตอาสานอกสถานที่ แต่ก็จะช่วยเป็นกำลังใจให้ผมในการช่วยเหลือผู้อื่น และช่วยแพ็กของกินของใช้เล็กๆ น้อยๆ เพื่อนำไปร่วมบริจาค ทั้งนี้สิ่งที่ผมให้ลูกๆ มีส่วนช่วยในการทำงานจิตอาสา ในมุมที่เด็กช่วยได้และไม่เกินกำลังเขาแล้ว ก็คิดว่าน่าจะช่วยปลูกจิตสำนึกให้เด็กๆ เป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน รู้จักการเสียสละ และไม่เห็นแก่ตัวเมื่อลูกๆ โตขึ้น โดยมีผมเป็นตัวอย่าง เรื่องการช่วยเหลือคนยากไร้ครับ ที่สำคัญงานจิตอาสายังเป็นตัวเชื่อมครอบครัวให้อบอุ่นด้วยครับ เพราะสมาชิกจะได้พูดคุยเรื่องการให้ผู้อื่น เช่น หากเด็กๆ ลงความคิดว่าเราควรช่วยเหลือ หรืออยากทำงานจิตอาสาในแบบที่เขาชอบ เป็นต้นว่าช่วยเก็บขยะรอบชุมชน หรือช่วยผู้ใหญ่ในชุมชนถือของ ผมก็จะสนับสนุนลูกๆ อย่างเต็มที่ เพื่อให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นครับ ส่วนหนึ่งก็จะทำให้สังคมน่าอยู่และโตไปเป็นเด็กที่รู้จักการแบ่งปัน”

                ด้าน "น้องนิสา” - ด.ญ.ทัศนีย์ โพธิ์ไทร อายุ 9 ขวบ จากโรงเรียนวัดบางสะแกใน ที่มาช่วยผู้ปกครองขายของ ช่วงหลังเลิกเรียนออนไลน์บอกว่า “นอกจากการเก็บขยะรอบๆ โรงเรียนให้สะอาดแล้ว แม่ก็สอนให้หนูรู้จักช่วยเหลือคนอื่นค่ะ เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา หนูได้ช่วยพาคนแก่ตาบอด เดินไปที่ร้านขายโทรศัพท์ค่ะ และหนูก็รู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เพราะแม่บอกว่าการช่วยคนตาบอดนั้นถือว่าเป็นบุญกุศล และส่วนตัวหนูก็รู้สึกดีใจและมีกำลังใจในการช่วยเหลือคนอื่น โดยเฉพาะตอนที่คนตาบอดพูดขอบคุณ แม้ว่ามันจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม แต่มันก็ทำให้เด็กตัวเล็กๆ อย่างหนูภูมิใจที่ได้มอบความสุขให้ผู้อื่น และถ้าต่อไปหนูเจอคนตาบอดอีก หนูจะเข้าไปถามว่าต้องการให้ช่วยอะไรไหม เช่น การพยุงแขนคนตาบอดข้ามสะพานลอยไปอีกฝั่งหนึ่งค่ะ เพราะแม่จะสอนเสมอว่าถ้าคนลำบาก และเราช่วยได้ก็ควรช่วยค่ะ”

                ไม่ต่างจาก “น้องม่าเหมี่ยว” - ด.ญ.กมลชนก อุดมพันธุ์ อายุ 11 ขวบ นักเรียนโรงเรียนวัดทุ่งครุ บอกว่า “หนูมีไอดอลเรื่องการทำบุญคือพี่พิมรี่พายค่ะ ที่ชอบเพราะว่าพี่เขาเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือคนอื่น เวลาดูในเฟซบุ๊กแล้วก็อยากทำตามบ้าง และเมื่อเร็วๆ นี้หนูกับแม่ได้เอาข้าวสารไปให้เพื่อนแม่และคนที่รู้จักอยู่จังหวัดสระบุรีค่ะ เพราะช่วงนี้คนต่างจังหวัดก็ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนไม่กล้าออกมาซื้อของนอกบ้านค่ะ หนูกับแม่ก็เลยไปช่วยเหลือในแบบที่เราสามารถช่วยได้ค่ะ สิ่งที่ได้จากการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น เป็นการสอนให้หนูรู้ว่าการให้เป็นอย่างไร บางครั้งของที่เราให้อาจจะไม่ต้องราคาแพง แต่ขอให้เป็นของกินของใช้ ที่คนเดือดร้อนสามารถใช้ได้จริงๆ ค่ะ ที่สำคัญแม่จะบอกเสมอว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคนรู้จักกัน  แต่เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน หากมีเรื่องเดือดร้อนเราก็สามารถช่วยเหลือแบ่งปันกันได้ เช่น การทำอาหารแบ่งกันกิน และแม่ให้หนูเอาไปให้เพื่อนบ้าน ตรงนี้หนูอาจได้เพื่อนข้างบ้านเพิ่มขึ้นก็ได้ค่ะ”

                กล่าวได้ว่า เด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว ดังนั้นการปลูกฝังเรื่องรู้จักเสียสละเพื่อผู้อื่นและไม่เห็นแก่ตัวนั้น จำเป็นต้องมีผู้ใหญ่เคยชี้แนะ เห็นได้จากปัจจุบันที่ปัจจัยแวดล้อมเด็กและเยาวชน อย่างการติดโซเชียล กระทั่งไม่ยอมคุยกับผู้อื่น นอกจากมือถือที่อยู่ตรงหน้า นั่นไม่เพียงทำให้การสื่อสารกับคนรอบข้างต้องหายไป แต่ยังนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพมากมาย หรือแม้แต่การที่เด็กนั่งเล่นมือถือจนลืมลุกให้คนสูงอายุบนรถไฟฟ้านั่ง กระทั่งระบบ “child center” หรือการทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางทุกอย่าง ทั้งในบ้านและในโรงเรียน ที่อาจมีข้อดีคือผู้ใหญ่ให้ความใส่ใจทุกเรื่องกับเด็ก หรือเรื่องของเด็กย่อมมาเป็นสิ่งแรก แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งอาจทำให้คุณน้องๆ หนูๆ ไม่รู้จักการเสียสละให้ผู้อื่น โดยเฉพาะบางครอบครัวที่มีลูกคนเดียว ซึ่งผู้ปกครองมักจะตามใจเด็กในทุกๆ เรื่อง ทำให้ต้องได้ในสิ่งที่อยากได้

                ดังนั้น วิกฤตินี้กำลังเป็นโอกาสที่เราจะปลูกฝังเด็กๆ ให้รู้จักคำว่า เสียสละ อดทน ซึ่งก็คือองค์ประกอบสำคัญของความไม่เห็นแก่ตัวนั่นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"