ถกพรรคการเมืองห้ามไลฟ์สด


เพิ่มเพื่อน    

    “วิษณุ” เผยถกวงเล็กปมคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/60 ใครมีปัญหาอะไรให้เอามาพูด นายกฯมอบ "บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะถกพรรคการเมือง ยันไม่ให้ไลฟ์สด ปชป.พร้อมร่วมถก ภูมิใจไทยตั้งแง่ต้องเปิดให้พรรคหารือกันก่อน พท.ยืนกรานทางออกคำสั่ง 53/60ต้องยกเลิก ซัดพลังดูดรุนแรง ปูดผู้ใหญ่ในอำนาจให้ข้อเสนอได้ทั้งงบฯ-ค่าใช้จ่ายรายเดือน หวั่นโกงเลือกตั้งย้อนยุคปี 2500 
    เมื่อวันพุธ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงการนัดหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 14 มิ.ย.ว่า กำลังประสานอยู่ เนื่องจากบางหน่วยงานสะดวกในวันที่ 14 มิ.ย. ขณะที่บางหน่วยงานยังไม่มีความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมวันดังกล่าว แต่เบื้องต้นน่าจะมีการประชุมในวันที่ 14 มิ.ย. ยกเว้นเมื่อถึงเวลามากันไม่พร้อม อาจจะมีการเลื่อนออกไป เพราะอยากให้ครบองค์ประชุม อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าจะมีการหารือเรื่องไพรมารีโหวตและเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่จะมีการหารือถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 และปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองเป็นหลัก โดยจะไม่มีพรรคการเมืองเข้าร่วมแม้แต่พรรคเดียว เพราะเป็นคนละเวทีกัน เวทีนี้เป็นการหารือภายในในระดับคณะทำงาน เรื่องเทคนิค และไม่ใช่การประชุมแม่น้ำ 5 สาย 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีหารือในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.เสนอมาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ให้ กกต.เป็นคนพูด ใครอยากจะพูดเรื่องอะไรก็พูด กกต.อาจจะมาพูดเรื่องงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง 5.5 พันล้านบาทก็ได้ แต่ตนจะพูดเรื่องของตน ส่วนจะหาเรื่องใดไม่รู้ ต่างคนต่างขนกันมาคนละกระบุง แล้วมาเทกระจาด แล้วช่วยกันจับปูใส่กระด้ง
    "ใครมีปัญหาอะไรให้เอามาพูด เพราะเป็นปัญหาของผู้ปฏิบัติ ขณะที่ในพรรคการเมืองเองก็มีปัญหา แต่ควรเอาเรื่องดังกล่าวไปพูดในเวทีที่สง่าผ่าเผยกว่านี้ มากกว่าจะมาพูดในเวทีแค่นี้ อย่างไรก็ตาม ในการหารือครั้งนี้ พร้อมที่จะรับฟังในทุกปัญหา แต่อาจจะไม่เชื่อสักปัญหา เพราะรับฟังแล้วเอามาคุย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือประเด็นพวกนี้มา 2-3 ครั้งแล้ว แต่ไม่สมควรที่จะพูดให้เกิดการตีความจนทำให้หน่วยงานใดเสียหาย" นายวิษณุกล่าวถึงกรณีจะมีการหารือในเรื่องของสาขาพรรคหรือไม่ 
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการเชิญพรรคการเมืองและกกต.มาหารือการจัดการเลือกตั้งว่า ทาง พล.อ ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานในการประชุมครั้งแรก ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงสิ้นเดือนนี้ โดยเบื้องต้นจะดูว่าปลดล็อกอะไรก่อน แต่ยังไม่ปลดล็อกทั้งหมด จะเน้นการเปิดให้หาสมาชิกพรรคการเมืองได้ ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งยังไม่อนุญาต เพราะต้องรอกฎหมายลูกเรียบร้อยก่อน
    ส่วนกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า หากในที่ประชุมไม่ให้ไลฟ์สดจะไม่เข้าร่วมด้วยนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็แล้วแต่ อยากมาก็มา ถ้าไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา แต่คงจะไม่ให้ไลฟ์สด เพราะต้องพูดคุยกันก่อน จะมาไลฟ์สดอะไร ผมเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาทั้งพรรคการเมืองใหม่และพรรคการเมืองเก่า ปัญหาระดับโลกเขายังแก้ไขกันได้ ของเราเรื่องแค่นี้
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเตรียมหาทางออกปัญหาการลักลั่นการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่า  พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เป็นเรื่องผิดหลักการกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดการใช้อำนาจต่างๆ แก่องค์กรใดไว้แล้ว แต่การเขียนมาตรา 44 คือการให้อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ คสช. แถมยังตรวจสอบไม่ได้ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา 279 เขียนรับรองให้ประกาศหรือคำสั่ง คสช.มีผลบังคับใช้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 
พท.ยืนกรานเลิก 53/60
    "เมื่อเราไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.44 ตั้งแต่ต้น เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่เกิดจากมาตรา 44 สร้างปมปัญหามากมาย ทางแก้ไขที่ดีที่สุดคือยกเลิกคำสั่งดังกล่าว แล้วไปยึดการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ไปดูว่ามีอะไรจำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่ ถ้าต้องแก้ ก็แก้ไขตามกระบวนการปกติ" นายชูศักดิ์กล่าว  
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประวิตรจะเป็นประธานในการพูดคุยกับพรรคการเมืองเพื่อหาทางปลดล็อกในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ว่า พรรค ปชป.ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมาโดยตลอด ที่ผ่านมาเราได้ให้ความร่วมมือกับทุกเวที ตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องความปรองดอง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค จะนำคณะไปให้ความร่วมมือตลอด ซึ่งครั้งนี้ถ้าทางรัฐบาลเชิญมาก็คงไปร่วมด้วยเช่นกัน ไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่อยากทราบประเด็นที่จะประชุมให้ชัดเจน เพื่อที่พรรคจะได้เตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ไปชี้แจง หารือกันได้ถูกต้อง
    ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตรระบุว่าจะมีการหารือให้คลายล็อกเพื่อให้พรรคการเมืองหาสมาชิกเพิ่มได้ แต่จะยังไม่ให้หาเสียงจนกว่ากฎหมายลูกจะแล้วเสร็จทุกฉบับ นายองอาจกล่าวว่า อยากทราบว่าจะคลายล็อกตรงไหนที่เป็นประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองได้บ้าง ส่วนการหาเสียงต้องเป็นไปตามกฎหมาย ส.ส. หากกฎหมายว่าอย่างไรเราต้องว่ากันไปตามนั้น ทางพรรคพร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ที่สำคัญการพบปะครั้งนี้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างพรรคการเมืองกับ คสช.กันอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา คสช.ควรเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ถึงจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมได้
    นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า วันนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะไปร่วมหรือไม่ เพราะไม่รู้ว่าจะหารือเรื่องอะไร พรรคเก่ายังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถจัดประชุมพรรคได้ หาก คสช.บอกว่าจะหารือเรื่องสำคัญให้พรรคไปร่วม ก็ควรให้พรรคการเมืองได้หารือกันก่อน แล้วจึงค่อยนำความเห็นของพรรคไปร่วมประชุมด้วย บางเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐบาลและ คสช.ทำเอง เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งหารือไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะพรรคก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ขณะที่บางเรื่อง เช่น ปัญหาอุปสรรคในการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองต้องการให้ คสช.แก้ไขโดยด่วน รวมถึงการกำหนดวันเลือกตั้ง หากเป็นประเด็นเหล่านี้ คิดว่าทุกพรรคการเมืองจะสนใจ แต่ถ้าหารือเรื่องอื่น เช่น นโยบาย คิดว่าเป็นเรื่องภายในของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวที่ต้องหารือกับรัฐบาลและ คสช.
    เมื่อถามถึงกรณี พล.อ.ประวิตรระบุว่า จะไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองอย่างสมบูรณ์ แต่เน้นการเปิดให้พรรคหาสมาชิกได้ นายทรงศักดิ์กล่าวว่า เจตนาของ พล.อ.ประวิตรอาจต้องการให้การเลือกตั้งขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่พรรคการเมืองต้องสื่อสารและรับฟังประชาชน หากให้พรรคไปหาสมาชิกทั้งที่พรรคยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับคนที่ต้องการเป็นสมาชิกพรรคเลยจะเป็นไปได้หรือ ก็ต้องมาคิดต่อว่าการสื่อสารทำความเข้าใจถือเป็นการหาเสียงหรือไม่ บอกว่าแค่ห้ามหาเสียง ก็ทำให้งง เพราะกว้างเกินไป เรื่องที่ควรให้พรรคดำเนินการได้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเดินหน้าเพื่อการเลือกตั้ง เช่น การหาสมาชิก การประชุมเพื่อตั้งสาขา
    ส่วนกรณีจะไม่มีการถ่ายทอดสดหรือไลฟ์ทางเฟซบุ๊กตามข้อเสนอของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น นายทรงศักดิ์กล่าวว่า ข้อเสนอของนายธนาธรเป็นความคิดที่ดี การประชุมหารือในเรื่องการเลือกตั้งที่ประชาชนสนใจ ถ้าทำให้คนรู้ได้ทั่วถึงถือเป็นเรื่องดี เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องปิดบัง
ปูดพลังดูดรุนแรง
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยิ่งใกล้เข้าโหมดเลือกตั้ง พลังดูดยิ่งรุนแรง ทราบมาว่าใครอาวุโสในจังหวัด ได้ทั้งตำแหน่งได้ทั้งงบ ไม่นับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งก้อนโต หากย้ายพรรคไปอยู่กับเขาในตอนนี้ รับไปก่อนหนึ่งก้อน รายเดือนอีกครึ่งก้อน นี่หรือคือการปฏิรูปการเมืองปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง รู้สึกเสียดายเวลา 4 ปีที่ผ่านมา การเมืองยังอยู่ในวังวนเดิมที่อำนาจอธิปไตยยังไม่ได้เป็นของปวงชนอย่างแท้จริง
    "เมื่อคนในอำนาจพยายามทุกวิถีทาง ถึงขนาดมีผู้ใหญ่ระดับสูงลงมาล็อบบี้ยื่นเงื่อนไขให้ประโยชน์กับอดีต ส.ส.ด้วยตนเอง จึงประมาณการได้ว่า การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีถึง คงจะมีการโกงกันอย่างมโหฬารย้อนยุคไปเหมือนปี 2500 แล้วประเทศของเราจะเหลือความเชื่อมั่นให้สังคมโลกเชื่อถือได้อย่างไร"
    สมาชิกพรรคเพื่อไทยผู้นี้บอกว่า "อดีต ส.ส.ของพรรคที่ถูกเชิญตัวไปพบผู้ใหญ่ในอำนาจ เขามาสารภาพกับผู้ใหญ่ในพรรคว่าถูกพลังดูดจริง แต่เขาไม่ยอมย้ายพรรค ได้แต่ขอบคุณไป เพราะไม่รู้จะหันหน้าไปบอกประชาชนอย่างไร ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลคงป่นปี้ ถูกพี่น้องประชาชนสาปแช่ง ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด และถ้าย้ายไป ก็คงสอบตกเหมือนกับผู้ที่ขายตัวในอดีต คือสอบตกทุกราย ถูกประชาชนลงโทษ
        นายวันชัย สอนศิริ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่บ้านเมืองมีการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายมากว่า 10 ปี บ้านเมืองไม่ได้เดินหน้า จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเกิดการปฏิรูปด้านการเมืองอย่างจริงจัง คณะกรรมการฯ จึงได้กำหนดการปฏิรูปไว้ 5 ประเด็น  ได้แก่ การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ถัดมาคือการสร้างกลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธีและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย ต้องทำให้คนไทยมีความสามัคคีปรองดอง อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข รู้จักยอมรับความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน และต้องสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ตามมาด้วยการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม ต่อมาทำให้เกิดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยการเลือกตั้งจะต้องปราศจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง สุดท้ายเป็นการสร้างรัฐธรรมาธิปไตย คือการเป็นรัฐที่ยึดถือประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยต้องมีการควบคุม ตรวจสอบการใช้อำนาจและบทลงโทษที่ชัดเจน
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงกรณี สนช. จะพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีในสัปดาห์นี้ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติผูกพันอยู่ 5 อย่างคือ รัฐบาลทุกชุดหลังจากนี้ในการแถลงนโยบายต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนอื่นๆ อาทิ แผนการศึกษาชาติ แผนวัฒนธรรม ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ การจัดทำงบประมาณ จากนี้ไปต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศต้องปฏิรูปในแนวทางเดียวกับที่กำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ชาติสามารถแก้ไขได้ไม่ยุ่งยากเหมือนแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนที่ สนช.จะพิจารณายุทธศาสตร์ชาติในสัปดาห์นี้ ตนและนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ชี้แจง แต่คนที่ทำหน้าที่ชี้แจงหลักคือประธานการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ ที่จะลงรายละเอียดในเนื้อหา 
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวถึงการประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่ภาคใต้เร็วๆ นี้ว่า ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการลงพื้นที่ไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มการเมือง เราทำเหมือนกันทุกภาค จะไปเอื้อประโยชน์อะไร เราก็ไปประชุมตามปกติ ขณะที่นายกรัฐมนตรีไปเยี่ยมและดูแลประชาชน เอางบประมาณลงไปให้ทุกภาค ทำเหมือนกันหมด อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณเราพิจารณาถึงความเหมาะสมและความทัดเทียมกันทุกจังหวัด ไม่มีจังหวัดไหนได้มากหรือน้อย
     พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงกรณี ครม.ตีกลับข้อเสนอขึ้นบำเหน็จให้เจ้าหน้าที่ คสช. 2 ขั้นว่า เพื่อให้ตนกลับมาดูความเหมาะสมจำนวน 600 คน ที่ได้มีจำนวนมากไปนิดหน่อย แต่ขอดูรายละเอียดก่อนว่าเขาพิจารณาตามความเหมาะสมแค่ไหน เนื่องจากเรามีบำเหน็จปกติอยู่แล้ว สำหรับการพิจารณา เราดูทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง 
     "การอนุมัติหลักการให้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องดูจำนวนคนว่ามากเกินหรือน้อยเกินไป ส่วนที่ปีก่อนได้มีการให้บำเหน็จเจ้าหน้าที่ คสช.ไปจำนวน 1,000 คน และปีนี้ลดเหลือ 600 คนนั้น เนื่องจากปีนี้คนที่มาช่วยงาน คสช .ลดน้อยลง" พล.อ.ประวิตรกล่าว
    นักข่าวบีบีซีไทยรายงานว่า องค์กรต่อต้านการค้าอาวุธ Campaign Against Arms Trade (CAAT) ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า  ยอดอนุมัติขายอาวุธขนาดเล็กและยุทธภัณฑ์จากสหราชอาณาจักรสู่ประเทศไทย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 5.7 ล้านปอนด์ (245 ล้านบาท) ปี 2557 มาเป็น 35 ล้านปอนด์ (1.5 พันล้านบาท) ในปี 2560 
    ข้อมูลดังกล่าวมาจากการรวบรวมของ CAAT จากรายงานประจำปีของหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษที่เปิดเผยใบอนุญาตการขายยุทธภัณฑ์ที่ให้แก่เอกชนอังกฤษที่จัดหาสินค้าแก่รัฐบาลชาติอื่นๆ ตัวเลขนี้เป็นการประเมินขั้นต่ำที่ไม่รวมยุทธภัณฑ์ที่ขายให้เพื่อการใช้งานทางพลเรือน 
    ยุทธภัณฑ์ที่ขายให้ไทยมีหลากหลาย ตั้งแต่ อุปกรณ์เพื่อการควบคุมฝูงชน ปืน ระเบิดแสวงเครื่องทางการทหาร ไปจนถึงอะไหล่สำหรับรถหุ้มเกราะ ชิ้นส่วนประกอบสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน ส่วนประกอบเรดาร์ทหาร รวมทั้งอุปกรณ์นำทางและสื่อสารสำหรับเครื่องบิน 
    CAAT เปิดเผยข้อมูลชุดนี้ 1 สัปดาห์ก่อนการเยือนสหราชอาณาจักรของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 20-22 มิ.ย.นี้
     พล.อ.ประยุทธ์และคณะมีกำหนดเดินทางด้วยเที่ยวบินพิเศษของกองทัพอากาศ มาถึงกรุงลอนดอนช่วงเช้าวันที่ 20 มิ.ย. ก่อนเข้าหารือข้อราชการกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวน์นิง 
    รายงานว่า กลุ่มต่อต้านการรัฐประหารในไทย พยายามจะรวบรวมผู้ประท้วงไปยื่นจดหมายต่อต้านการมาเยือนที่บ้านเลขที่ 10 ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางมาถึงด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"