'อัยการธนกฤต'เห็นด้วยต้องคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งข้อสังเกต4ข้อพรก.นิรโทษโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

13ส.ค.64-ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมาย เรื่อง พ.ร.ก. จำกัดความรับผิดกรณีโควิด 19 ในมุมของรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และหลักการคุ้มครองความปลอดภัยผู้ป่วยฉุกเฉิน มีเนื้อหาดังนี้

 ตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขร่วมออกแถลงการณ์ขอให้มีการคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคติดต่ออันตรายโควิด 19 ที่อาจเกิดข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานโดยสุจริต นั้น
 ในความเห็นส่วนตัวของผม ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความคุ้มครองแก่บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในด้านหน้าซึ่งเผชิญกับโรคติดต่ออันตรายโควิด 19 และให้กำลังใจและความชื่นชมแก่บุคลากรผู้กล้าและผู้เสียสละเหล่านี้มาโดยตลอด

 อย่างไรก็ตาม การที่มีกระแสข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจะเสนอให้มีการออกพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 นั้น ผมขอให้ข้อสังเกตที่เป็นความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้ดังต่อไปนี้

1. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดถึงเหตุความจำเป็นในการออกพระราชกำหนดไว้ว่า  จะต้องเป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ และให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้

จึงมีข้อควรมาพิจารณาว่า การออกพระราชกำหนดเพื่อจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 จะเข้าหลักเกณฑ์ในการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 หรือไม่ ซึ่งหากพิจารณาดูแล้ว น่าจะยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญดังกล่าว

2. พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้ให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตไว้แล้ว กล่าวคือ

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ หน่วยงานของรัฐต้องเป็นผู้รับผิดต่อผู้เสียหาย ผู้เสียหายต้องฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ที่กระทำละเมิดไม่ได้ และในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ไปแล้ว หากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้กระทำละเมิดไป โดยไม่ใช่ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หน่วยงานของรัฐก็ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคืนให้แก่หน่วยงานของรัฐได้

 ดังนั้น เจ้าหน้าที่ที่เป็นบุคลากรสาธารณสุขหากปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ที่จะไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดของตนอยู่แล้ว ดังที่กล่าวไป

นอกจากนี้ ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ. 2562 ข้อ 5 (9) ก็ได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินการให้ผู้ปฏิบัติการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการนั้นได้รับความคุ้มครองความรับผิดต่อผู้เสียหายในการกระทำละเมิดที่ผู้ปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการนั้นได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่

3. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 3 มีนาคม 2563 ได้กำหนดให้ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล และตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 มาตรา 28 ได้กำหนดหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินไว้ อีกทั้งยังมีประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ. 2562 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉินฯ มาตรา 29 (1) เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินในมาตรา 28

ดังนั้น หากจะมีการออกพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 มีข้อควรนำมาพิจารณาว่า จะมีผลกระทบต่อหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินดังที่ได้กล่าวไปหรือไม่

4. หากมีกรณีที่เกิดข้อจำกัดทางด้านบุคลากร ทรัพยากร เวชภัณฑ์ วัคซีน หรือในเรื่องอื่นใด ที่ทำให้เป็นข้อจำกัดหรือเป็นอุปสรรคในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคติดต่อโควิด 19 การพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง ประเภท ระดับ อำนาจหน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ และข้อจำกัดของหน่วยปฏิบัติการ พ.ศ. 2562 ดังกล่าว หรือการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ในเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินจากโรคโควิด 19 เป็นการเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินในสภาวะวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงโควิด 19 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อหลักการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยฉุกเฉินตาม พ.ร.บ. การแพทย์ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 28  ควรจะนำมาพิจารณาดำเนินการด้วยหรือไม่ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ควรมาพิจารณาด้วย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"