ซัดนิรโทษเหมาโกดังล่วงหน้า แนะตั้งกองทุนเยียวยาแทน


เพิ่มเพื่อน    

ฝ่ายกฎหมาย พท.ยันไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมโควิด ชี้มี กม.ที่ใช้อยู่แล้วบุคลากรทางการแพทย์จะรับผิดต่อเมื่อจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หวั่นออกมาคุมความบกพร่องฝ่ายบริหารแนะตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียชีวิตจากโควิดแทน "วิโรจน์" ชำแหละบทเฉพาะกาล พ.ร.ก.นิรโทษ เหมาโกดังล่วงหน้า ประชาชนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยจากฝ่ายบริหารไม่ได้เลย 
     เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะออก พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ว่า แม้การออก พ.ร.ก.จะเป็นอำนาจของ ครม. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 แต่ก็ต้องดูว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะหรือไม่ ส่วนเนื้อหาของ พ.ร.ก.จะมีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการจำกัดความรับผิดของบุคลากรด้านสาธารณสุขแค่ไหนเพียงไรคงต้องรอดูก่อน แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกพ.ร.ก.ฉบับนี้เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลใด เนื่องจากตามหลักวิชาชีพของแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย แพทย์ทุกคนก็ใช้ความรู้ความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
    "ไม่มีแพทย์คนไหนที่มีเจตนาจะให้ผู้ป่วยตาย ส่วนความรับผิดฐานประมาทนั้น เมื่อพฤติการณ์เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า มีผู้ป่วยจำนวนมาก โอกาสในการสูญเสียย่อมเกิดขึ้นได้ แม้แพทย์จะรักษาอย่างสุดความสามารถแล้วก็ตาม แพทย์เองก็มีข้ออ้างได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว ในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยทั่วไปก็มีหลักกฎหมายที่ใช้กันอยู่แล้วว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะรับผิดก็ต่อเมื่อเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น อีกทั้งการรักษาพยาบาลผู้ป่วยถือหลักความยินยอมของผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยด้วย จึงไม่มีเหตุที่ต้องไปกลัวว่าจะมีคนไปฟ้องร้องแพทย์ตามที่มีการแถลงข่าว" นายชูศักดิ์กล่าว
    นายชูศักดิ์กล่าวอีกว่า ที่สังคมเป็นห่วงขณะนี้คือ การเสนอ พ.ร.ก.จะนำบุคลากรทางการแพทย์เป็นข้ออ้างเพื่อนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อวัคซีนและในการกระจายวัคซีน หรือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้แก่ฝ่ายการเมือง และบุคคลที่ฝ่ายการเมืองแต่งตั้งให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว สิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรพิจารณาคือ จะทำอย่างไรในการจะชดเชยความเสียหายให้กับผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จึงเห็นว่ารัฐควรจะตั้งกองทุนเฉพาะกิจขึ้นมาโดยอนุมัติเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการเยียวยาผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด ไม่ว่าจะเสียชีวิตระหว่างการรักษาของแพทย์หรือผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาก็ตาม ซึ่งจะทำให้แพทย์เองก็มีความสบายใจในการที่จะดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะที่ญาติของผู้เสียชีวิตก็ได้รับการชดเชยเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการสูญเสียได้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่ปล่อยให้คนตายรายวัน โดยที่ไม่มีความรับผิดชอบใดๆ จากรัฐเหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้
    นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง "ความหน้าด้านที่สุด ของ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาเข่งล่วงหน้า อยู่ที่บทเฉพาะกาล" ระบุว่า ประเด็นที่สังคมจับจ้อง และก่นด่ากันในตอนนี้ก็คือ ข้อที่ 7 ที่มีการนิรโทษกรรมล่วงหน้าให้กับ "บุคคล และคณะบุคคล ที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหา หรือบริหารวัคซีน" ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจ หรือมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับวัคซีนทั้งหมด ทั้งนายกรัฐมนตรี ผอ.ศบค. รมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวง ผู้อำนวยการสถาบัน อธิบดี คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนทั้งหมด กำลังนำเอาความเหนื่อยยากของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ามาบังหน้า เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง ถ้าเป็นการรักษาชีวิตของประชาชนในสถานการณ์โควิดนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การอาศัยสถานการณ์โควิดมานิรโทษกรรมให้กับตนเองและพวกแบบเหมาเข่งล่วงหน้า แบบนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแน่ ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 อย่างชัดเจน
    บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ทำงานหน้างานจริงๆ มีข้อสงสัยอย่างมาก เพราะโดยปกติแล้ว พวกเขาก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และ พ.รบ.การแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น  
    แต่ความเลวร้ายที่หน้าด้านที่สุด ไม่ได้อยู่ที่ข้อที่ 7 แต่อยู่ที่ "บทเฉพาะกาล" ที่ระบุว่า บรรดาคดีที่มีมูลความผิดที่เกี่ยวเนื่องจากการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ กรณีโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้น นับตั้งแต่วันที่ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ให้ได้รับ "การยกเว้นความรับผิดทางแพ่งและอาญา ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ หรือทางวินัย"
    นี่ไม่ใช่แค่การเหมาเข่ง แต่เป็นการ "เหมาโกดัง" เพราะถ้า พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่าน นั่นเท่ากับว่าประชาชนที่ถูกเลื่อนฉีดวัคซีนจากการแทงม้าตัวเดียว และการจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้าจนในที่สุดตัวเองต้องมาติดโควิด และเสียชีวิต ประชาชนที่ต้องรอเตียงเข้าไม่ถึงยา Favipiravir จนต้องตายคาบ้าน เด็กตัวเล็กๆ ที่พ่อแม่เสียชีวิตด้วยโควิด จากความล้มเหลวจากการบริหารจัดการของรัฐบาล-ประชาชนที่ได้รับผลข้างเคียงและเสียชีวิตจากนโยบายการฉีดวัคซีนสลับชนิดของรัฐบาล ทั้งหมดจะไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยเยียวยาอะไรจากรัฐบาลได้เลย รวมทั้งการกำหนดนโยบายล็อกดาวน์ที่ผิดพลาด ขาดการเยียวยา 
    ถ้าอ่านมาถึงบทเฉพาะกาล จะตกใจอย่างมาก เพราะนี่ไม่ใช่แค่การเหมาเข่ง แต่เป็น พ.ร.ก.นิรโทษกรรมเหมาโกดังล่วงหน้า ที่ไม่ใช่แค่บุคคล หรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายวัคซีนเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นฝ่ายบริหารที่อยู่บนหอคอยงาช้างทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ผอ.ศบค. เลขาฯ สมช. นายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข รมว.มหาดไทย ฯลฯ จะไม่ต้องรับผิดอะไรเลย. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"