อภ.เบรกจัดซื้อATK8.5ล้านชุด


เพิ่มเพื่อน    

ไทยทำสถิติใหม่อีกแล้ว  ยอดติดเชื้อในประเทศนิวไฮ 22,782 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 147 ราย ทำให้ยอดดับรวมใกล้แตะ 7 พัน ชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดหัวทิ่มแล้ว หลังชมรมแพทย์ชนบทออกมาแฉว่าของไม่ได้คุณภาพ เอฟดีเอมะกันสั่งแบนไปแล้ว “นพ.เกียรติภูมิ” ในฐานะประธานองค์การเภสัชกรรมสั่งเหยียบเบรกทันที พร้อมให้ “อภ.-อย.” เร่งตรวจสอบคุณภาพ
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22,782 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 22,399 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19,973 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,426 ราย, จากเรือนจำและที่ต้องขัง 375 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 839,771 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 23,649 ราย หายป่วยสะสม 623,801 ราย อยู่ระหว่างรักษา 209,028 ราย อาการหนัก 5,495 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,103 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 147 ราย เป็นชาย 76 ราย หญิง 71 ราย มากสุดอยู่ใน กทม. 70 ราย เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย ที่ จ.ระยองและปัตตานี ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 6,942 ราย
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 11 ส.ค. ได้แก่ กทม. 4,854 ราย, สมุทรสาคร 1,779 ราย, สมุทรปราการ 1,736 ราย, ชลบุรี 1,666 ราย, นนทบุรี 729 ราย, ศรีสะเกษ 632 ราย, นครปฐม 621 ราย, อุบลราชธานี 477 ราย, บุรีรัมย์ 441 ราย และพระนครศรีอยุธยา 410 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ในต่างจังหวัด 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษ อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย, บริษัทยางรถยนต์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 77 ราย, ฟาร์มสัตว์ปีก อ.บางเลน จ.นครปฐม 18 ราย และบริษัทเครื่องครัว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 10 ราย
    ขณะที่นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ว่าข้อมูล ณ วันที่ 11 ส.ค. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 375 ราย พบในเรือนจำสีแดง 239 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 136 ราย รักษาหายเพิ่ม 1,090 ราย เสียชีวิต 1 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 6,063 ราย เป็นพื้นที่ กทม. 348 ราย, ปริมณฑล 1,716 ราย และต่างจังหวัด 3,999 ราย และวันนี้ไม่พบการระบาดเพิ่มในเรือนจำแห่งใหม่ติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ส่งผลให้มีเรือนจำสีแดง 35 แห่ง และเรือนจำสีขาวที่ไม่มีการแพร่ระบาด 107 แห่งคงเดิม 
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 เข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์อย่างรวดเร็ว สธ.ได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหาจัดซื้อเข้ามาอย่างพอเพียงและต่อเนื่องไม่ให้ขาด ซึ่งขณะนี้จำนวนการใช้ยาทั่วประเทศอยู่ที่เกือบ 1 ล้านเม็ดต่อวัน ส่วนยามีในสต๊อกประมาณ 15 ล้านเม็ด กำลังทยอยส่งมอบในเดือน ส.ค.-  ก.ย.รวม 120 ล้านเม็ด และในเดือน ต.ค.-ธ.ค. มีแผนจัดหาและส่งมอบอีกเดือนละ 100 ล้านเม็ด นอกจากนี้ในส่วนการผลิตในประเทศ อภ.สามารถผลิตได้ 5 ล้านเม็ดต่อเดือน และได้สั่งการให้พิจารณาหยุดการผลิตยาชนิดอื่นที่ไม่จำเป็นชั่วคราว เพื่อเพิ่มสายการผลิตฟาวิพิราเวียร์ให้ได้ 20-30 ล้านเม็ดต่อเดือน ให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าจะมียาเพียงพอสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 แน่นอน
แพทย์ชนบทจี้ทบทวน
    ขณะเดียวกันยังมีปัญหากรณีการจัดซื้อชุดตรวจโควิดด่วน หรือ Antigen Test Kid : ATK โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกแถลงการณ์ว่า เดิมการวินิจฉัยการติดเชื้อโควิดได้ผูกติดกับการตรวจ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน แต่มีข้อจำกัดในการใช้เวลาในการตรวจนานและมีห้องปฏิบัติการที่ทำได้น้อยแห่ง มีความล่าช้าในการออกผลทำให้การรักษาเริ่มได้ช้า เมื่อรักษาช้าก็ทำให้ผู้ป่วยที่ป่วยหนักหรือเสียชีวิตมีมากขึ้น ต่อมาชมรมแพทย์ชนบทได้เสนอการใช้ ATK ที่ตรวจแล้วทราบผลได้ทันทีในปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง แต่ทั้งนี้ต้องใช้ ATK ที่มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อผลที่แม่นยำ สร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในการให้การรักษาในทันทีโดยไม่ต้องรอผล RT-PCR แต่การที่ อภ.ทำการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชิ้นให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลแจกจ่ายกับประชาชนนั้นน่าดีใจ แต่ผลการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลนั้นมีปัญหา เพราะ อภ.ใช้เกณฑ์ราคาถูกที่สุดเป็นตัวตัดสิน โดยไม่ได้ใส่ใจในการคัดเลือก ATK ที่มีคุณภาพสูง 
“ยี่ห้อ LEPU ที่ชนะการประมูลนั้นได้ถูกเรียกเก็บสินค้าออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้ระงับใช้ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดทั้ง Antigen Rapid Test Kit และ Antibody Rapid Test Kit ของ Lepu Medical Technology เพราะให้ผลการตรวจที่ไม่แม่นยำ” 
    ชมรมแพทย์ชนบทขอยืนยันว่า ชุดตรวจ ATK คือหัวใจของการควบคุมโรคโควิด ATK ต้องมีคุณภาพสูง ต้องมีความแม่นยำ ความจำเพาะและมีความไวตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่งสูงกว่ามาตรฐาน อย.ไทย หากใช้ ATK ที่ไม่แม่นยำ ย่อมต้องมีการตรวจซ้ำด้วย RT-PCR อีก จะเสียโอกาสของผู้ป่วยในการรักษาเร็ว อีกทั้งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการตรวจ RT-PCR เพิ่มเติมอีกด้วย ดังนั้นการประกาศผู้ชนะการประมูลของ อภ.ที่ได้ ATK ยี่ห้อที่ราคาถูกที่สุด แต่เป็นยี่ห้อที่มีข้อกังขาเรื่องความแม่นยำมากที่สุด จะทำให้การควบคุมโรคโควิดที่วิกฤติหนักมีปัญหาเพิ่มขึ้นอีกโดยใช่เหตุ ชมรมฯ ขอให้นายกฯ ตรวจสอบและสั่งการให้ อภ.ยุติการลงนามในสัญญาการจัดซื้อครั้งนี้ และกำหนดมาตรฐานชุดตรวจ ATK ที่จะขายในประเทศไทยให้ต้องมีคุณภาพสูงระดับที่องค์การอนามัยโลกรับรอง  
“ทหารต้องการรถถัง เครื่องบิน เรือดำน้ำที่มีคุณภาพสูงเพื่อสู้ภัยผู้รุกรานฉันใด วงการแพทย์ก็ต้องการชุดตรวจ ATK ที่มีมาตรฐานสูงในระดับองค์การอนามัยโลกรับรองเพื่อสู้ภัยโควิดฉันนั้น”แถลงการณ์ทิ้งท้าย
    ทั้งนี้ ชมรมแพทยชนบทยังได้โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อเวลา 15.58 น. ย้ำถึงเรื่องนี้ด้วยว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกคำแนะนำด้านความปลอดภัยสำหรับผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้ทำการทดสอบ และผู้ทำหน้าที่ดูแล ให้ระงับใช้ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดทั้ง Antigen Rapid Test Kit และ Antibody Rapid Test Kit ของ Lepu Medical Technology ในเว็บไซต์ stop Using Lepu Medical Technology SARS-CoV-2 Antigen and Leccurate Antibody Tests: FDA Safety Communication  เป็นที่น่าประหลาดใจ ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทยทำอะไรกันอยู่ ไม่ได้ตื่นตัวที่จะตรวจสอบเลยหรืออย่างไร และไม่เฉพาะในสหรัฐเท่านั้นที่เรียกคืน ยังมีประเทศอื่นด้วย สิ่งที่ อย.ไทยต้องทำคือเร่งตรวจสอบ แล้วสั่งระงับการใช้เป็นการชั่วคราวไปก่อน เมื่อมีรายงานว่าชุดตรวจมีปัญหาต่อความไม่ปลอดภัยต่อประชาชน
อภ.เบรกเซ็นสัญญาซื้อ ATK
    ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน อภ.กล่าวเรื่องนี้ว่า อภ.ได้รับมอบหมายจาก รพ.ราชวิถี ให้จัดหาชุดตรวจโควิด-19 ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด เป็นการเร่งด่วน ตามโครงการพิเศษของ สปสช. และตามคุณสมบัติที่ รพ.ราชวิถี และ สปสช.ต้องการ โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ได้ทำการคัดเลือกผู้เสนอราคา ได้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในราคาประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แต่เนื่องจากบางหน่วยงานมีความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจ และมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า อภ.จึงขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน โดย อภ.และ อย. จะเร่งตรวจสอบข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม
    สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดต่างๆ นั้น นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าฯ ปทุมธานี และผู้เกี่ยวข้อง ได้ร่วมในงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชนรังสิต-ประชาธิปัตย์ ณ อาคารหอประชุม 100 ปี เมืองธัญญบูรี เทศบาลนครรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งในระยะแรกจะรับผู้ป่วย 100 เตียง และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ  ต่อไป 
นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ระบุว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,736  ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 53,609 ราย และมีผู้เสียชีวิต 12 ราย เป็นเพศชาย 8 ราย และหญิง 4 ราย อายุระหว่าง 47- 84 ปี รวมเสียชีวิตสะสม 518 ราย
    ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ รายงานว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 481 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 8,284 ราย เสียชีวิตสะสม 13 ราย หายป่วยสะสม 3,583 ราย ยังรักษาอยู่ 4,688 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 481 ราย กระจายใน 21 อำเภอจากทั้งหมด 23 อำเภอ 
    ส่วนที่ จ.อำนาจเจริญ สำนักงานสาธารณสุขรายงานว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 95 ราย กระจายไป 7 อำเภอ รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,863 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม มีผู้เสียชีวิตสะสม 10 ราย ขณะเดียวกันจังหวัดยังได้จัดพิธีมอบธงสีฟ้าและป้ายหมู่บ้าน ตำบล เข้มแข็ง ปลอดภัยสู้ภัยโควิด-19 ที่ อ.พนา มี 4 ตำบล 56 หมู่บ้าน
    นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานในพิธีมอบป้ายและธงสัญลักษณ์หมู่บ้านสีฟ้าให้นายอำเภอทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดตราด เพื่อส่งต่อไปยัง 106 หมู่บ้าน จากทั้ง 7 อำเภอที่ไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระหว่างวันที่ 1-11 ส.ค.
    ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 104 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 5,281 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 2,066 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 41 ราย
    ส่วนที่ จ.ปัตตานี ซึ่งพบครอบครัว 5 ชีวิต ที่แม่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับสะพานปลาและห้างสรรพสินค้า และลูกคนเล็กอายุ 2 ขวบ ซึ่งผลตรวจมีผลเป็นบวก แต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแลทั้งที่เข้าสู่วันที่ 3 แล้ว โดยทำให้เพื่อนบ้านและคนในครอบครัวเกรงกว่าโรคจะรุนแรงและจะทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"