จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่านเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานการดำเนินงานจัดส่งผู้ป่วยกลับไปเข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนา
ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ติดตามสรุปผลการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา) โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม รับผิดชอบการประสาน การบริหารจัดการจัดส่งผู้ป่วยจังหวัดนครราชสีมา
สำหรับภารกิจเดินหน้าพาผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานตอนล่างตามภารกิจที่ ครม.มอบหมาย โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์อย่างทันท่วงที และนำความปลอดภัยมาสู่ประชาชนที่ได้รับเชื้อโควิด-19 หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าได้มีการดำเนินการจริงแล้วหรือไม่นั้น วันนี้เรามีข้อมูลมาให้รับทราบกัน ดังต่อไปนี้
โดยตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.-5 ส.ค.2564 การรถไฟฯ ได้ส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคอีสานตอนล่างแล้วจำนวน 2,824 คน แบ่งเป็น จ.นครราชสีมา 404 คน, บุรีรัมย์ 458 คน, สุรินทร์ 395 คน, ศรีสะเกษ 211 คน, อุบลราชธานี 778 คน, ยโสธร 550 คน และอำนาจเจริญ 28 คน
ในการส่งผู้ป่วยดังกล่าว ได้ใช้ขบวนรถไฟ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ เป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ห้องน้ำระบบปิด มีระบบปรับอากาศเหมือนบนเครื่องบิน จากสถานีรถไฟรังสิตไปยังปลายทางที่ จ.อุบลราชธานี
นอกจากนี้ยังนำรถบัสโดยสารของ บขส.รับ-ส่งผู้ป่วยจากกรมการขนส่งทหารบก (บางเขน) ไปยัง จ.อำนาจเจริญ โดยได้ปรับปรุงรถโดยสาร และกั้นห้องโดยสารระหว่างพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และห้องโดยสาร ได้มีการปรับระบบปรับอากาศบนรถ นำพลาสติกมาหุ้มบริเวณเบาะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างเดินทาง
ขณะเดียวกัน กรมขนส่งทางบก (ขบ.) ยังรับผู้ป่วยจาก จ.นนทบุรี ไปส่งที่ศูนย์ขนส่งทหารบก บางเขน และยังสนธิกำลังกับหน่วยงานในระดับจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยให้สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
สำหรับนโยบายของกระทรวงคมนาคมได้กำหนดการเดินทางโดยยานพาหนะที่เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วยที่จะเดินทาง โดยให้ บขส.เตรียมรถบัสโดยสาร และ ขบ. ช่วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดหารถสองแถว หรือรถสามล้อ ที่มีการปรับแต่งซีลกั้นตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยให้ดำเนินการวางแผนร่วมกันระหว่างจังหวัดและ สพฉ.
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการวางแผนเพื่อนำผู้ป่วยโควิด-19 (กลุ่มสีเขียว) เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ก่อนหน้านี้ บขส.ได้จัดรถโดยสารรับ-ส่งผู้ป่วยติดเชื้อ จำนวน 3 ครั้ง คือ เส้นทางโรงพยาบาลศิริราช-โรงพยาบาลสนามบุษราคัม, เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพฯ-อำนาจเจริญ โดยทุกเที่ยววิ่ง บขส.ได้คำนึงถึงความปลอดภัย
ในส่วนของพนักงานของ บขส.ที่เข้าร่วมภารกิจนี้ ได้รับการฉีดวัคซีนและผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่ สพฉ. รวมทั้ง บขส.ได้มีการปรับปรุงรถโดยสารให้ได้มาตรฐานตามที่สาธารณสุขกำหนด เช่น กั้นห้องโดยสารระหว่างพนักงานขับรถกับผู้โดยสาร ปรับระบบปรับอากาศบนรถ และหุ้มบริเวณเบาะด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
แน่นอนว่าในส่วนของงบประมาณในการลำเลียงผู้ป่วยครั้งนี้ แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการตามแนวทาง หลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของตัวเอง โดย สพฉ. รวมทั้งให้ ขบ.หาแหล่งงบประมาณ หรือกองทุนมาใช้ดำเนินการ ดังนั้นเรื่องนี้ถือเป็นการทำงานแบบปิดทองหลังพระที่หน่วยงานได้ร่วมมือกันช่วยส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |