สหรัฐกับจีนต่างก็พยายามจะบอกให้อาเซียนเพิ่มความระแวดระวังอีกฝ่ายหนึ่ง
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่งรัฐมนตรีกลาโหมลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) มาเยือนสิงคโปร์, ฟิลิปปินส์และเวียดนามเมื่อสัปดาห์ก่อน
ตามมาด้วยรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ที่จะมาสิงคโปร์และเวียดนาม
นักการทูตบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าคนสำคัญของรัฐบาลสหรัฐไม่แวะมาทักทายผู้นำประเทศไทย
รัฐบาลไบเดนจัดลำดับความสัมพันธ์กับไทยอยู่ในระดับไหน
ไทยเราวางตนให้อยู่ในสายตาของระดับนโยบายต่างประเทศของวอชิงตันมากน้อยเพียงใด
รัฐมนตรีกลาโหมปราศรัยที่สิงคโปร์ประกาศชัดเจนว่าสหรัฐจะอยู่ข้างอาเซียน
และยุให้อาเซียนอย่าได้ยอมหงอจีนเป็นอันขาด
พูดเหมือนกับจะบอกว่า อเมริกาเป็นพี่ใหญ่มาปกป้องอาเซียนจากจีนแล้ว
แต่มีหรือที่ปักกิ่งจะอยู่เฉยๆ
ในช่วงจังหวะใกล้กันนั้นมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับจีนผ่านระบบออนไลน์
รัฐมนตรีต่างประเทศจีนหวังอี้ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกันมีความแนบแน่นยิ่งนัก
ไม่มีทางที่สหรัฐจะมายุแยงให้จีนกับอาเซียนแตกกันเป็นอันขาด
สหรัฐกับจีนใช้ “การทูตวัคซีน” เอาใจอาเซียน
โจ ไบเดน ย้ำว่าวัคซีนที่ส่งมาช่วยนั้นไม่มีเงื่อนไขใดๆ และไม่มีข้อผูกมัดทางการเมืองแต่อย่างใด
เหมือนจะชิ่งไปถึงปักกิ่งว่าจีนใช้วัคซีนเป็นเรื่องสร้างบารมีทางการเมืองและเศรษฐกิจ
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐมาเยือนบางประเทศอาเซียนเป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐเวนดี้ เชอร์แมน ไปปักกิ่ง และนั่งแลกเปลี่ยนกับนายหวังอี้อย่างเปิดเผย
เชอร์แมนถูกส่งมาอาเซียนก่อนหน้านี้เพื่อประสานเรื่องเมียนมา และแวะมาประเทศไทยเพื่อจะส่งสัญญาณว่าอเมริกาต้องการจะกลับมามีปฏิสัมพันธ์อย่างคึกคักกับย่านนี้อีกครั้ง
หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนจะทอดทิ้งประเทศแถบนี้ด้วยนโยบาย America First
ออสตินยอมรับว่าสหรัฐก็อาจจะทำอะไรผิดพลาดได้เหมือนกัน
“แต่ความสวยงามอยู่ที่ว่าระบบการเมืองของสหรัฐนั้นทำให้อเมริกาสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเองด้วยเสียงอันดังและด้วยสีสันที่จัดจ้านเห็นได้ชัดเจน”
อ่านระหว่างบรรทัดก็แปลว่าสหรัฐเป็นประชาธิปไตย เพื่อนฝูงและพันธมิตรย่อมจะวิพากษ์วิจารณ์กันและกันได้ หากเกิดพลาดพลั้งอย่างไรก็สามารถที่จะแก้ไขกันอย่างตรงไปตรงมา
เสมือนหนึ่งจะบอกว่าระบบของจีนไม่เหมือนสหรัฐ เป็นเรื่องยากที่จะพูดอะไรอย่างเปิดอกต่อกันและกัน
ที่ออสตินเลือกไปเยือนสิงคโปร์, เวียดนามและฟิลิปปินส์นั้นสะท้อนชัดเจนว่าเขามองสามประเทศนี้เป็นหุ้นส่วนด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่จะยันอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้
โดยเน้นไปที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งจะเป็นจุดร้อนของความสัมพันธ์ของสองยักษ์ในย่านนี้
รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส มาเยือนอาเซียนก็เลือกสิงคโปร์และเวียดนาม
มีการมองกันว่าสหรัฐต้องการจะดึงเอาอาเซียนบางประเทศไปร่วมกิจกรรมทางด้านความมั่นคงกับกลุ่ม “จตุภาคี” หรือ Quad ที่ประกอบด้วย 4 ประเทศพันธมิตรหลักของสหรัฐในเอเชีย
อันได้แก่ อินเดีย, ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย
แน่นอนว่า จีนมองว่า Quad เป็นแกนสำคัญที่ก่อตั้งโดยสหรัฐเพื่อระดมสรรพกำลังสำคัญในเอเชียเพื่อต้านการขยายตัวของจีน
จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า หากสมาชิกอาเซียนใดเข้าร่วมกับ Quad อย่างเปิดเผยจะถูกจีนมองว่าเป็นท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อปักกิ่ง
อันจะนำไปสู่ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับประเทศอาเซียนเหล่านั้น
และอาจจะทำให้ท่าทีของจีนต่ออาเซียนในภาพรวมมีปัญหาตามมาด้วย
แต่จีนก็รู้ว่าจำเป็นจะต้องรักษาความสัมพันธ์กับสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศด้วยความละเอียดอ่อนและละมุนละม่อม
จีนต้องการให้อาเซียนเป็น “มิตรสหาย” ที่มีความผูกพันกันยาวนาน และชี้ชวนให้อาเซียนเห็นว่าสหรัฐเป็นเพื่อนที่มีลักษณะ “ผีเข้าผีออก” ขึ้นอยู่กับว่าใครจะพรรคไหนจะมานั่งทำเนียบขาว
ปักกิ่งจะย้ำให้เห็นถึง “ความจริงใจและต่อเนื่อง” ของความสัมพันธ์กับประเทศในแถบนี้
แต่ในท้ายที่สุด สำหรับประเทศไทยแล้วการดำเนินนโยบายที่รักษาผลประโยชน์ของประเทศด้วยการทำตนให้ทั้งวอชิงตันและปักกิ่งเห็นว่าเราเป็นตัวของเราเอง, พร้อมจะคบหาทั้งสองอย่างเสมอภาคและจริงใจ
แต่เราก็จะแสดงจุดยืนของตนเองอย่างมั่นคงและแข็งขันที่ทั้งสองประเทศควรจะต้องเคารพและถ้อยทีถ้อยเกื้อหนุนกันอย่างเสรีและยุติธรรม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |