‘บิ๊กตู่-หนู’โดนแน่ ฝ่ายค้านจองกฐิน แก้รธน.ส่อป่วน


เพิ่มเพื่อน    

“สมพงษ์” โผล่หารือพรรคร่วมฝ่ายค้าน เคาะยื่นญัตติอภิปราย 16 ส.ค.นี้ เล็งไว้ 4-5 รัฐมนตรี เน้น “บิ๊กตู่-หมอหนู” เป็นหลัก เล็งสรุปชื่อสุดท้าย 14 ส.ค.นี้ แก้ไขรัฐธรรมนูญส่อเค้าวุ่น ภูมิใจไทยชี้ทำไม่ถูกนิติวิธี และยังผิดหลักนิติธรรม เชื่ออาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ “นิกร” ยัน 16 ส.ค.ถึงมือประธานชวน
    เมื่อวันพุธที่ 11 ส.ค. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านผ่านระบบซูมเพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วงใจ โดยมีแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านเข้าร่วมหารือคับคั่ง
โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. กล่าวภายหลังว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่าจะร่วมกันยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่อาคารรัฐสภา ซึ่งรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปราย เบื้องต้นจะมี 4-5 คน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นหลัก ส่วนประเด็นสำคัญในการอภิปรายนั้นจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผิดพลาดซ้ำซากของรัฐบาล เป็นสาเหตุทำให้พี่น้องประชาชนยากลำบาก และปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบของบุคคลในรัฐบาลรวมไปถึงบริวารแวดล้อม  
    “ในวันที่ 14 ส.ค. นายสมพงษ์จะหารือร่วมกันถึงรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งหมดอีกครั้ง เพื่อพิจารณาเอกสารหลักฐาน และสรุปความชัดเจนเกี่ยวกับรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเพิ่มเติมทั้งหมด” นายประเสริฐกล่าว 
    วันเดียวกัน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ครบ 76 ปีนั้น พล.อ.ประวิตรได้งดเปิดบ้านพักส่วนตัว และมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมอวยพร และงดออกร้านอาหารเหมือนเช่นทุกปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการติดป้ายข้อความไว้ที่ด้านหน้ามูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ระบุว่า “งดรับการเข้าอวยพร” โดย พล.อ.ประวิตรและครอบครัวได้เดินทางไปทำบุญวันคล้ายวันเกิด และทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน ตั้งแต่เวลา 05.30 น. แต่ได้งดกิจกรรมไปถวายภัตตาหารเพลที่วัดชนะสงครามในช่วงเวลา 11.30 น.ไป
    วันเดียวกันมีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 โดยนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชพน.) ในฐานะเลขานุการ กมธ.เผยหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเสร็จสิ้นในหลักการแล้ว โดยสาระสำคัญคือบทเฉพาะกาล ให้ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ในกรณีที่ยุบสภาฯ หรือเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน โดยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปออกประกาศระเบียบใช้ไปพลางก่อน เพื่อให้มีการเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขใหม่ 
นายนิกรกล่าวต่อว่า การแก้ไขในมาตรา 83 มีการปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำให้สมบูรณ์ขึ้น ส่วนมาตรา 91 ยืนตามหลักการเดิม ให้การคำนวณคะแนนอยู่ในกฎหมายลูกเป็นหลัก นอกจากนั้นมีการไปแก้ไขมาตรการ 86 ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับหลักการให้มีส่วนสัด ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยให้ตัดบางมาตราที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการคิดคำนวณแบบสัดส่วนผสมออก เพราะเป็นแบบบัตร 2 ใบ ซึ่งการพิจารณาเกือบเสร็จแล้ว แต่มีปัญหากันเล็กน้อยระหว่าง กมธ.จากพรรคก้าวไกล (กมธ.) และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธาน กมธ.มีความขัดแย้งกันเล็กน้อยเกี่ยวกับการประชุม ทำให้ต้องปิดการประชุมไปก่อน แล้วจะประชุมใหม่ในวันที่ 13 ส.ค.เพื่อยืนยันหลักการ และตรวจรายงานการประชุม โดยคาดว่าจะยื่นรายงานต่อประธานสภาได้ในวันที่ 16 ส.ค.นี้ 
ขณะที่ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของคณะ กมธ. เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงสงวนความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะ กมธ. เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เสนอแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ซึ่งเป็นร่างเดียวที่ที่ประชุมรัฐสภารับร่าง นั่นคือเจตนารมณ์ของรัฐสภา ณ วันนั้นที่ไม่ประสงค์แก้ไขมาตราอื่น แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของคณะ กมธ.มีเหตุการณ์ไม่เคยปรากฏมาก่อนอย่างมากมาย คือ การเสนอความเห็น และแปรญัตติ ซึ่งคิดว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาปี 2563 ข้อที่ 124 โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เสนอแก้ไขเพิ่มเติมความ และมาตราเพิ่มเติมขึ้นมา มีการหยิบเอาถ้อยคำ ข้อความ และมาตราที่อยู่ในร่างของพรรค พปชร.และ พท. ซึ่งรัฐสภาไม่ได้รับหลักการนั้น และร่างได้ตกไปแล้วมาใส่ ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นคนเสนอร่างก็ยังได้แปรญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม โดยหยิบเอาความที่ไม่ปรากฏเข้ามาแปรญัตติเพิ่มเติม ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเกิดขึ้นในสถาบันนิติบัญญัติ
    “สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือสมาชิกผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ท่านไม่ได้ทำในสิ่งที่เรียกว่านิติวิธี และยังทำผิดหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เป็นการกระทำโดยมิชอบ สุ่มเสี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดประมวลจริยธรรมร้ายแรงของสมาชิกทั้ง ส.ส. และ ส.ว.” นายศุภชัยกล่าว และว่า เรื่องนี้กว่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่สุดแล้วอาจต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งไม่อยากร่วมกระบวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้
    ถามต่อว่า พรรค ภท.จะโหวตอย่างไร นายศุภชัยกล่าวว่า ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้คุยกัน แต่ที่ผ่านมาในวาระแรก พรรคงดออกเสียงในร่างนี้ เพราะสถานการณ์ไม่เหมาะสมที่จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง วันนี้จุดยืนของเรายังเหมือนเดิมคือ ไม่เห็นด้วยในแง่ของกฎหมายที่ไม่มีความชอบธรรม
    ส่วน นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค พท. กล่าวถึงการแก้ไขระบบเลือกตั้งไปใช้บัตร 2 ใบ และกำหนดจำนวนและที่มาของ ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คนว่า พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านเคยเสนอตั้งแต่ปี 2563 และต่อมาในปี 2564 พรรคเพื่อไทยได้ยื่นแก้ในประเด็นเดียวกันนี้อีกครั้ง ส่วนพรรค พปชร.ได้ยื่นแก้ไขหลายประเด็น รวมถึงการแก้ระบบเลือกตั้งด้วย พรรคมีจุดยืนในเรื่องระบบเลือกตั้งชัดเจนต่อเนื่อง และเป็นผู้นำในการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้เดินตามและไม่ได้ฮั้วกับพรรค พปชร. 
    รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.ท.ติณภัทร ภุมรินทร์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง, พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ ขณะดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 และเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาของรัฐ รวม 10 กว่าราย กรณีถูกกล่าวหาว่ามีการทุจริตในโครงการจัดซื้อไบโอเมทริกซ์ หรือการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) วงเงิน 2,100 ล้านบาท  
    ขณะเดียวกัน ป.ป.ช.ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และสมาชิกวุฒิสภา กรณีดำรงตำแหน่งครบ 3 ปี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.64 โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ได้แจ้งสถานะว่า อยู่กินฉันสามีภริยากับ น.ส.รัตนาภรณ์ สีวลีพันธ์ มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 104,166,808 บาท ไม่มีหนี้สิน นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ซึ่งเป็นหลานชายของนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าตนเอง และ น.ส.สาวิกา พาณิชย์พิศาล คู่สมรส มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 302,129,290 บาท และมีหนี้สิน 13,976,268 บาท.
     


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"