เคาะสูตรส.ส.400+100 18-20ส.ค.ถกพรบ.งบฯ


เพิ่มเพื่อน    

กมธ.เคาะสูตร ส.ส.เขต 400 - ปาร์ตี้ลิสต์ 100 ก้าวไกลโวยโดนปิดปาก ดันเยอรมันโมเดลไม่สำเร็จ เปิดศึกเพื่อไทยอีกรอบ  ทิ่มรุ่นใหญ่ข้องใจชงยกอำนาจให้ กกต. ฟันธงแก้รอบนี้สูญเปล่า สภาเดินหน้าถก พรบ.งบฯ 18-20 ส.ค. “โอ๊ค-เอม-อิ๊ง” เปิดตัว Thaksin Official เชื่อมคนไทยกับ "ทักษิณ"
    มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม รัฐสภา 
    โดยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 ว่าด้วยจำนวน ส.ส. และมาตรา 91 ว่าด้วยวิธีการคำนวณ ส.ส. กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยให้มีการแก้ไขจำนวน ส.ส. โดยให้มี ส.ส.แบ่งเขต จำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  จำนวน 100 คน อย่างไรก็ตาม ก่อนลงมติในเรื่องดังกล่าวพรรคก้าวไกลเสนอว่าควรจะมี ส.ส.แบ่งเขต จำนวน 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน เพราะควรจะมีสัดส่วนไม่ห่างกันแบบ 400  ต่อ 100 คน ซึ่งทางฝั่งของเยอรมันก็ใช้แบบครึ่งต่อครึ่ง แต่ระหว่างที่ตนอธิบายเรื่องนี้ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะ กมธ.จากพรรคพลังประชารัฐกลับขัดจังหวะอยู่ตลอด
    “ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม หรือเอ็มเอ็มพีของเยอรมัน สะท้อนภาพประชาชนได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่กำหนดจำนวน ส.ส.เขต  400 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 แต่สุดเป็นที่น่าเสียดาย ที่ประชุมลงมติตามร่างรัฐธรรมนูญที่รับหลักการมาแล้ว” นายธีรัจชัยกล่าว
    นายธีรัจชัยกล่าวว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และ กมธ.ยังได้เสนอแปรญัตติให้มีการแก้มาตรา 85 ว่าด้วยการให้ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30  วัน ถือว่าผิดหลักการ เพราะเป็นการแปรญัตติเพิ่มมาตราที่เสนอโดย กมธ. ไม่เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่สุดท้ายแล้วที่ประชุมก็โหวตเช่นกัน โดยได้รับเสียงเห็นชอบ 16 ต่อ 15 เสียง  
    นอกจากนี้ กรณีที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา  และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แปรญัตติไปถึงบทเฉพาะกาล โดยให้มีการยกร่างประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 90  วันนับจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากไม่แล้วเสร็จให้อำนาจ กกต.ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์การเลือกตั้งได้เลย ส่วนตัวเห็นว่าเป็นข้อความที่หมิ่นเหม่ เหตุใดจึงไม่ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ แต่กลับมอบอำนาจให้ กกต. ซึ่งเราคัดค้านไม่ควรมอบอำนาจให้ฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ไม่สามารถอภิปรายได้อย่างเต็มที่ กลับมีความเร่งรีบร้อนรน
    ด้านนายรังสิมันต์ โรม กมธ.จากพรรคก้าวไกลเช่นกัน กล่าวเสริมว่า การพิจารณาของ กมธ.ในขณะนี้อาจนำไปสู่การฝ่าฝืนหลักการ ข้อบังคับรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตรายและเป็นการแก้รัฐธรรมนูญที่สูญเปล่า เพราะมีความต้องการที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีหน้าตาเหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญที่ตกไปแล้ว ส่วนการแปรญัตติเพิ่มบทเฉพาะกาลของนายประเสริฐจากพรรคเพื่อไทย ข้อโต้แย้ง 3 ประการ  คือ 1.ถ้าดูประวัติความเป็นมาของ กกต. เรายังกล้าให้ กกต.ออกกฎเกณฑ์กติกาการเลือกตั้งอีกหรือ ที่ผ่านมาเราเห็นความล้มเหลวและเกิดคำถาม ถามว่าจะให้ กกต.ออกหลักเกณฑ์การเลือกตั้งอีกหรือไม่ 2.กกต.คือผู้ใช้กฎหมาย แต่รัฐสภารับอำนาจจากประชาชนและรัฐธรรมนูญ คำถามคือบทบาทระหว่าง กกต.และรัฐสภาตอนนี้กำลังมีความสับสนใช่หรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต. ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 3.กำลังให้ กกต.ชุดนี้ไปออกกฎเกณฑ์บางอย่างที่ประชาชนกำลังตั้งเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  คำถามคือ กกต.จะเอาความชอบธรรมอะไรในการทำกฎเกณฑ์เหล่านี้  จึงอย่ายกอำนาจที่เป็นของประชาชนไปให้ กกต.ไม่กี่คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแก้วิกฤติ แต่จะเป็นการซ้ำเติมวิกฤติ ทำให้ยุ่งยากมากขึ้น
    ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ และคณะ เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชาชนร่วมกันลงชื่อเกินห้าหมื่นคนต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.64 ว่า ได้ส่งข้อมูลของผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายไปให้สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบความเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.  ปรากฏว่าผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่มีเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วนคงเหลือจำนวน 135,247 คน จึงถือว่าผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 หลังจากนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะไปรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ รธน.มาตรา 77 กำหนดไว้ ก่อนบรรจุระเบียบวาระการประชุมต่อไป
     นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ว่า ขณะนี้สภาได้ทำหนังสือเรียกประชุมไปยัง ส.ส.แล้ว รวมถึงจัดทำหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.เพื่อขอผ่อนผันเงื่อนไขการเดินทางของสมาชิก ยืนยันไม่มีการเลื่อนประชุม ทั้งนี้การประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 วาระ 2 และ 3 จะมีการประชุมกันช่วง  18-20 ส.ค.นี้  
    นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ระหว่างการประชุม ครม.ไม่ได้มีการพูดถึงการชุมนุมทางการเมืองหรือการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ตอนท้ายการประชุมนายกฯ ได้กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีทุกคน และขอบคุณทุกพรรคการเมืองที่ร่วมกันทำงาน 
    วันเดียวกันนี้ นายพานทองแท้ ชินวัตร, น.ส.พินทองทา ชินวัตร  คุณากรวงศ์ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของ นายทักษิณ ชินวัตร ได้ร่วมกันเปิดเว็บไซต์ Thaksin official  โดยบอกว่าเพื่อเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 72 ปีให้นายทักษิณ โดยทั้งสามคนเผยว่า เว็บไซต์นี้เกิดจากความตั้งใจของลูกทั้งสามคน ที่มีความคิดอยากจะทำอะไรให้พ่อในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบ 72 ปี  การมีเว็บไซต์จะเป็นคลังข้อมูลที่เก็บเนื้อหามุมมองต่างๆ ของนายทักษิณ ที่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ อยากส่งต่อความหวังของวันนี้และวันพรุ่งนี้ให้กับสังคม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"