ถก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมหมอในที่ประชุม ครม.เครียด “วิษณุ” แนะดึงบุคลากรแพทย์มาอยู่ใน ศบค. กันโดนฟ้องตามหลัง แต่หากจำเป็นต้องออก พ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์ ให้รวบปมอื่นมาไว้ด้วย ขณะที่ “อนุทิน” เผยต้นเรื่องมาจากที่ประชุมอีโอซี สธ. ไม่ต้องการให้หมอกังวลในการทำงาน เนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วย 1-2 หมื่นคนต่อวัน "บิ๊กตู่" ยกเลิกข้อกำหนดสกัดเฟกนิวส์แล้ว
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า กฎหมายฉบับนี้ยังเป็นแค่ร่าง และยังเหลืออีกหลายขั้นตอน กว่าจะได้ใช้ ต้องฟังเสียงอีกหลายฝ่าย ส่วนที่กังวลว่าฝ่ายการเมืองหมกเม็ดนิรโทษกรรมตัวเอง อันที่จริงกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เกิดจากฝ่ายการเมืองเสนอขึ้นมา และเจตนาของกฎหมายคือคุ้มครองคนทำงาน ที่ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต สิ่งที่ทำให้คนทำงานกลัวเพราะเขาต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ ทั้งส่วนที่รักษา ทั้งส่วนที่ควบคุมโรค ทั้งส่วนที่ดูแลเรื่องทรัพยากรต่างๆ ในการรับมือกับโรคนี้มันไม่มีสูตรตายตัว ทุกอย่างใหม่หมด
คนทำงานไม่ว่าจะเป็นใคร ระดับไหน ก็มีความกังวลใจทั้งนั้น ขอถามว่าเวลาจัดซื้อยา จัดซื้อเวชภัณฑ์ เป็นเรื่องของใคร คำตอบคือ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่วนเรื่องจัดหาวัคซีนก็เป็นเรื่องของบอร์ด ซึ่งข้างในมีสถาบันวัคซีน, กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม และฝ่ายผู้ผลิต ฝ่ายนโยบายไม่เข้าไปแทรกแซงอยู่แล้ว คนที่ดูแลในแต่ละขั้นตอน ก็ชื่อขึ้นต้นด้วยนายแพทย์กันเกือบหมด คนกลุ่มนี้เขาต้องมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่
"ทราบว่าทุกท่านตั้งใจทำให้มันดี แต่ก็มีความกังวลในการทำงาน ก็ต้องหาอะไรมาปกป้องคนทำงานบ้าง ไม่เช่นนั้นแล้วใครจะกล้าทำงานให้ประเทศชาติ เรื่องนี้ทางผู้บังคับบัญชา ท่านปลัดฯ ท่านเข้าใจ ก็ผลักดันกฎหมายฉบับนี้ออกมา ส่วนตัวก็รับพิจารณา เพราะคนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ รอบคอบ เพื่อให้การจัดการโรคมีประสิทธภาพ ต้องได้รับการปกป้อง ในฐานะที่เป็นเจ้ากระทรวง เมื่อคนทำงานรู้สึกว่าเสี่ยง มันก็ต้องหาทางออก" รมว.สาธารณสุขกล่าว
ด้านนายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองตรงข้ามนำเสนอความจริงเพียงแค่บางส่วน เพื่อด่ารัฐบาล ด่าฝ่ายตรงข้าม วันนี้การออกกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นไปเพื่อปกป้องคนทำงาน ให้คนทำงานรู้สึกมั่นใจในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ทั้งในเรื่องของการควบคุมโรค รักษาผู้ป่วย ไปจนถึงการป้องกันโรค สาระของกฎหมายมีแค่นี้ แต่ฝ่ายการเมืองไปตีความว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่อละเว้นความผิดให้ฝ่ายการเมืองเพียงไม่กี่คน
“กฎหมายฉบับนี้มันไม่ได้ถูกผลักดันโดยฝ่ายการเมือง มันเกิดจากว่าแพทย์ พยาบาล เขาต้องรักษาผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่ ซึ่งมันไม่มียาตรงตัว มันไม่มีแนวทางการรักษาที่แน่นอน เวลาปฏิบัติหน้าที่ทุกท่านทำเต็มที่ แต่ก็มีความกังวล ก็มีข้อเสนอจากองค์กรวิชาชีพและสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเข้ามา สธ.จึงตั้งคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย มีกรม สบส.เป็นหน่วยงานหลัก ดูแลหาทางช่วยเหลือ ให้คนทำงานได้มั่นใจ เรื่องมันก็มีอยู่แค่นี้” นายวัชรพงศ์กล่าว
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าวยังพิจารณาไม่เสร็จสิ้น ระหว่างนี้ต้องรับฟังความเห็นจากหลายส่วน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน และยังต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูในรายละเอียด แต่ตอนนี้ยังไม่มีการพิจารณาอะไร เพราะกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้ส่งเรื่องไป ยังต้องหารือกันอีกหลายส่วนเพื่อความรอบคอบต่อไป
ส่วนนายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ได้มีการเสนอมายังสำนักงานเพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแต่อย่างใด
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความชัดเจนกับนายอนุทินถึง พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยนายอนุทินชี้แจงว่า ตนเองก็ยังไม่เห็นกฎหมายฉบับเต็มเพราะยังยกร่างไม่เสร็จ อยู่ในขั้นตอนของกระทรวง และถึงอย่างไรกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมาปรึกษากับนายวิษณุอยู่แล้ว พร้อมกับเล่าที่มาของกฎหมายดังกล่าวว่า เรื่องนี้เริ่มจากที่ประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุข เห็นพ้องต้องกันว่าบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มีความกังวลในการทำงาน เนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วย 1-2 หมื่นคนต่อวัน ผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับความสะดวก โรงพยาบาลสนามบางแห่งไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ถ้าสถานการณ์ปกติไม่เป็นอะไร แต่วันนี้มีผู้ป่วยอยู่ใน HI และ CI กว่าสองแสนราย
จึงเป็นความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์ ว่าจะถูกฟ้องร้องตามหลังหากรักษาให้ไม่ทันหรือเกิดความผิดพลาด อีกทั้งฝ่ายตรงข้ามก็พยายามโจมตีเฉพาะประเด็นยา ประเด็นวัคซีน มาพูดถึง พ.ร.ก.ดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงมันมีอย่างอื่น ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดก็อยากได้การรับรอง จะได้ไม่มีใครมาฟ้อง จึงต้องทำทุกอย่างให้ครอบคลุม
ขณะที่นายวิษณุกล่าวว่า ถือเป็นหลักการที่ดี เจตนาดี เพราะแพทย์มีสิทธิ์ที่จะถูกฟ้องได้ แต่อาจจะไปใช้วิธีอื่นได้ เช่น ดึงเอาบุคลากรทางการแพทย์มาเป็นเจ้าพนักงานของ ศบค. ซึ่งได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่แน่ใจว่าเพียงพอหรือไม่ แต่หากจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.ก็อยากให้นำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเรื่องที่ต้องการแก้ไขอื่นๆ เช่น เรื่องวัคซีน โรงพยาบาลสนาม เอามารวมใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่ใช่นิรโทษกรรมเรื่องเดียว หรือแม้แต่ประเด็นที่อยากจะแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถ้าเห็นว่ามีอะไรสำคัญและอยากจะใช้เร็วให้ดึงมาอยู่ใน พ.ร.ก.นี้ด้วย เพราะถ้าจะทำต้องทำให้รอบคอบ ครอบคลุม แต่การออก พ.ร.ก.นี้อาจไม่มีเหตุผลทางการเมืองที่จำเป็นต้องออก โดยนายอนุทินย้ำว่าถึงอย่างไรต้องนำมาหารือนายวิษณุก่อนอยู่ดี
ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงว่า ตอนนี้ไม่ว่าไปสอบถามใครก็คงไม่มีใครบอกว่า บุคลากรด่านหน้าต้องรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่ ตรงนี้เราไม่แย้งเลย แต่จุดที่ประชาชนเดือดดาลความพยายามออกกฎหมายนี้คือ การเหมาเข่ง เอาหมอบังหน้า แล้วทำให้คนที่ประชาชนเชื่อว่าอาจจะเป็นนักฆ่าให้พ้นผิด วันนี้วัคซีนยังไม่เต็มแขนประชาชนแล้วจะออกกฎหมายให้พ้นผิดมาทำไม นอกจากนี้จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้ประชาชนว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานที่มีส่วนในการตัดสินใจทางนโยบายจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ก.นี้ด้วยหรือไม่ หากจะเขียนเพื่อให้บุคลากรด่านหน้าสบายใจก็ควรออกเป็น พ.ร.บ. และต้องเขียนขอบเขตให้ชัดเจนว่าบุคลากรด่านหน้าเท่านั้นไม่เกี่ยวกับผู้ออกนโยบายที่จะได้รับการจำกัดความรับผิดนี้
"สิ่งที่ประชาชนต้องการไม่ใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการออกกฎหมายและระเบียบเพื่อชดเชยเยียวยาประชาชนที่ตาย หรือเพื่อเลี้ยงดูฟูมฟักเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เขาต้องการ แต่รัฐบาลนี้ไม่ทำ กลับไปกลัวการที่ประชาชนจะฟ้องร้องความรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ซึ่งนี่จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายอีกเส้นที่จะเผาไหม้รัฐบาลประยุทธ์เอง” นายวิโรจน์กล่าว
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จากการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ละเมิดเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ศาลแพ่งได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว
ประเด็นนี้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ในกรณีนี้เมื่อ ศบค.เห็นว่าเมื่อในทางปฏิบัติยังไม่มีการบังคับใช้ข้อกำหนดดังกล่าวในกรณีใดๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่เองก็สามารถนำมาตรการทางกฎหมายอื่นมาบังคับใช้ตามที่ศาลกล่าวถึง นายกรัฐมนตรี จึงมีการออกข้อกำหนดให้ยกเลิกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.เป็นต้นไป และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |