เมื่อเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่การแพร่ระบาดของโควิดจะถึงจุดสูงสุด (peak) เราก็ย่อมไม่รู้ว่าเราจะถึงจุดต่ำสุด (bottom) ของเศรษฐกิจเราเมื่อใด
เลิกพูดเรื่องฟื้นแบบ V หรือ U หรือ W
เพราะไม่มีใครรู้ว่าการระบาดรอบนี้จะยาวนานเพียงใด และไวรัสตัวนี้จะกลายพันธุ์อีกต่อไปอย่างไร
แม้จะมีคำตอบยืนพื้นว่าทุกอย่างอยู่ที่วัคซีน
แต่ก็ยังมีคำถามต่อว่า วัคซีนจะพัฒนาให้มีประสิทธิผลสู้กับการพลิกแพลงของเจ้าไวรัสได้หรือไม่อย่างไร
จึงไม่น่าแปลกใจที่สำนักวิเคราะห์ต่างๆ จะยังไม่สามารถบอกได้ว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะบวกหรือลบด้วยซ้ำไป
ไม่ต้องถามว่าจะบวกเท่าไหร่หรือลบเท่าไหร่
ไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นกันที่คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะลงมติแบบเสียงแตก 4-2 ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% หรือจะให้ลดลงไปอยู่ที่ 0.25%
เพราะถ้าไม่รู้ว่าอาการของโรคจะหนักแค่ไหน ก็ไม่มีทางหาคำตอบได้ว่านโยบายดอกเบี้ยควรจะเป็นอย่างไร
เพราะแม้หาก กนง.จะถามคณะนายแพทย์ที่เฝ้าระวังการแพร่ระบาดว่ามองภาพข้างหน้าอย่างไร คำตอบก็คงจะเป็นลักษณะที่ว่า “ยังต้องเฝ้าดูกันต่อไป”
เพราะโควิด-19 เป็นเรื่องใหม่มาก
สู้กันไปศึกษากันไป เรียนรู้กันไปและปรับตัวกันไป
ที่รู้อย่างเดียวก็คือ ตัวเลขคาดการณ์ว่าด้วยการเติบโตของจีดีพีปีนี้จะต้องทบทวนใหม่แน่ๆ
เพราะมันจะต่ำกว่าที่คาด
จึงทำให้ กนง.ปรับการพยากรณ์ตัวเลขเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ของประเทศเหลือโต 0.7% จากเดิม 1.8% และปีหน้าคาดว่าจะขยายตัว 3.7%
เหตุเพราะการแพร่ระบาดในไตรมาสสองและสามนั้นรุนแรงกว่าที่ประมาณการเอาไว้ก่อนหน้านี้
และแม้จะมีตัวเลขประมาณการชุดใหม่ ก็ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าทุกอย่างยังปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
กนง.บอกได้แต่เพียงว่า ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง
การช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ
กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า มาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
แต่กรรมการ 2 ท่านเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า
เหตุที่ กนง.ปรับตัวเลขคาดการณ์ลง ก็เพราะเชื่อว่าการบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบมากในปีนี้
และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า
อีกทั้งตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น
โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ
แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก.กู้เงินล่าสุด และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี แม้ภาคการผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากการระบาดในโรงงานและการขาดแคลนวัตถุดิบชั่วคราว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงของเดิม
การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่ง กนง.จะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ที่น่าสนใจคือ สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้ เพราะความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาด
อย่างไรก็ตาม มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคตามปัจจัยในประเทศ
กนง.เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
กนง.เห็นว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจ โดยดูแลตลาดแรงงานและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นในจุดที่เปราะบางอย่างเพียงพอและทันเหตุการณ์ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง
คำถามใหญ่คือ เมื่อมีสภาพคล่องในระบบการเงิน ไฉนจึงไม่สามารถให้ธุรกิจที่กำลังย่ำแย่กู้ยืม?
ข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายการเงินคือ ควรเร่งปรับปรุงการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินให้มีประสิทธิผลมากขึ้น
โดยเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้
อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู, มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
คำถามใหญ่คือ ความช่วยเหลือทั้งหมดนี้จะเข้าถึงคนที่กำลังจะ “จมน้ำ” ได้ทันเวลาหรือไม่
หลายๆ ฝ่ายกำลังตะโกนส่งเสียงดังๆ ว่า...ช้าเกินไปแล้ว ไม่ทันแล้ว ล้มหายตายจากกันไปมากแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |