'บิ๊กแสนสิริ' ชี้วิกฤติโควิดกระทบคนไทยจนลง 1.5 ล้านคนแนะรัฐเร่งแก้ปัญหา ยกเป็นวาระแห่งชาติ


เพิ่มเพื่อน    

10 ส.ค. 64-นายเศรษฐา  ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เป็นอุบัติการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ทาง โดยเฉพาะการพังทลายของระบบเศรษฐกิจการค้าที่ยังหาจุดจบไม่ได้ และดูเหมือนทุกคนจะโดนผลกระทบเหมือนๆ กัน ซึ่งหากวิเคราะห์ จากตัวเลขสถิติต่างๆ ให้ดี สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือช่องว่างทางด้าน “ความมั่งคั่ง” ระหว่าง “คนมี” กับ “คนไม่มี” กำลังขยายตัวกว้างขึ้นอย่างน่ากลัวและจะเป็นการปรับฐานสมดุลย์ทางด้านความมั่งคั่งที่ทำให้โอกาสเกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจเป็นไปได้ยากมาก

อย่างไรก็ดี ทุกประเทศมีวิธีแก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน ผ่านนโยบายอัดเงินเข้าระบบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย การแจกเงิน การลดภาษี ผ่อนปรนหนี้ ฯลฯ แต่มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบที่ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ หรือช่วยลดช่องว่างทางด้านความมั่งคั่งลงได้ ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีการออก American Rescue Plan Act ซึ่งนับเป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดยักษ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมทั้งการออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจที่เรียกว่า CARES Act มากว่า 2.2 ล้านล้านเหรียญเมื่อปีที่แล้ว ผลที่ตามมาและเกิดขึ้น คือกลายเป็นการช่วยทวีคูณความมั่งคั่งให้คนรวย 1% ที่อยู่ด้านบนของปิรามิดประชากรเป็นมูลค่าถึงกว่า 4.8 ล้านล้านเหรียญเลยทีเดียว ในขณะที่คน 80% ที่อยู่ด้านล่างฐานปิรามิดต้องแบ่งความมั่งคั่งมูลค่าแค่ 12,000 ล้านเหรียญเท่านั้น

สำหรับในประเทศไทย วิกฤติโควิดในไทยครั้งนี้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจ-สังคม ในสัดส่วนที่ “ห่าง” ออกจากกันเยอะขึ้น ดังนั้น ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคม ที่เกิดขึ้นหลังโควิด จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้ความเท่าเทียมยิ่งถูกลิดรอน คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลง อย่างไรก็ดี วิกฤติโควิดฟื้นได้ หากมีวัคซีนที่ดีทั่วถึงโดยเร็วที่สุด คนป่วยได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียมและรวดเร็วเพื่อลดการเสียชีวิต ขณะที่การพยุงเศรษฐกิจในขณะนี้ ภาครัฐควรมีการจัดกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิดและขาดรายได้ ควบคู่ไปกับการพักชำระหนี้

ส่วนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าวัคซีน ที่ต้องมีเพียงพอ จัดหาอย่างรวดเร็ว และการกระจายอย่างเสมอภาค รัฐบาลควรเตรียมวัคซีนช็อตที่ 3 เพื่อสร้างภูมิจากการรุกหนักของโควิดในรอบนี้ นอกจากนี้ต้องไม่ลืมมองข้ามช็อตไปถึงวัคซีนปีหน้าและปีถัดๆ ไปที่ต้องเตรียมตัวเอาไว้ด้วย  เพราะโควิดจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดวัคซีนทุกปี ประเทศไทยมีบทเรียนในปีนี้แล้ว ในปีหน้าต้องประเมินปริมาณวัคซีนให้ดี ควรต้องสั่งเผื่อล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เท่าของจำนวนประชากร สำหรับตัวเลข 2 แสนล้านสำหรับค่าวัคซีนถึงแม้จะดูจำนวนมาก แต่อยากให้ภาครัฐลงทุนกับสวัสดิภาพและความมั่นใจของประชาชนในระยะยาว

ขณะที่ภาพเศรษฐกิจไทย ธนาคารโลกได้วิเคราะห์ไว้ว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้คนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน ซึ่งภาครัฐควรถือโอกาสยกการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้ แนวทางทำอย่างไรให้ประเทศไทยฟื้นตัวเร็ว ไม่ว่จะเป็นควรเตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพราะแผนลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่กระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างและการจ้างงานปริมาณมหาศาลตามมา ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐต้องหาเงินมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และธุรกิจท่องเที่ยว ผ่านการกู้เพิ่มและเก็บภาษีมรดกคนรวย

ยกตัวอย่าง ยุโรปและสหรัฐอเมริกาออกแผนงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว โดย ประธานาธิบดี สหรัฐฯ โจ ไบเดน เปิดตัวแผนลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสหรัฐฯ มูลค่ารวม 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่างบที่ใช้ช่วงวิกฤติเมื่อสิบกว่าปีก่อนถึง 4 เท่า ขณะที่ทางรัฐสภายุโรปก็เพิ่งอนุมัติงบประมาณ 3 หมื่นล้านยูโร ในการสนับสนุนโครงการด้านการขนส่ง ดิจิทัล และพลังงานจนถึงปี 2570

ในประเทศไทยหากต้องลงทุนเพิ่มก็ต้องมีเงินทุน แหล่งเงินอย่างแรกที่รัฐบาลต้องพิจารณาก็คือ “การกู้” ที่ได้รับความเห็นชอบให้กู้เงินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว ควรต้องเดินหน้าเร่งกู้เงินเพื่อเตรียมใช้ในการลงทุน เพราะไทยต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่เร่งกู้เพื่อฟื้นฟูประเทศเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องขอขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 60% เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่มีการปรับอัตราสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้นแล้ว จากการที่ทุกประเทศต้องการเงินกู้เพื่ออัดฉีดเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมในประเทศของตัวเองเช่นกัน หากไทยไม่เร่งกู้ เงินในระบบจะถูกดูดไปหมดก่อน คล้ายกับกรณีวัคซีนที่จะหาทีหลังก็หาไม่ได้แล้ว

นอกจากนี้ ควรมีการปรับโครงสร้างการเก็บภาษี เพราะเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ ที่จะถูกนำมา ใช้ในการชำระหนี้และดำเนินการบริหารโครงการต่างๆ ของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการเสนอแนะให้ปรับภาษีความมั่งคั่ง ที่ควรมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ที่มั่งคั่งกว่าในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดภาวะการเงินที่สมดุลของประเทศ  รวมถึงการพยุงราคาสินค้าและประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย รัฐบาลต้องช่วยรับภาระในการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับไปสร้างผลิตผลทางการเกษตร แทนที่จะรอเงินช่วยเหลืออย่างเดียวและประชาชนจะได้พอเลี้ยงตัวผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปได้

นายเศรษฐา  ยังกล่าวอีกว่า ควรเร่งแก้ปัญหาการบินไทยและพยุงสายการบินอื่นๆ ด้วย เพราะจีดีพีของไทยพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสูงมาก ดังนั้น ต้องเร่งแก้ปัญหาการบินไทยให้จบ และต้องใช้โอกาสนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ปรับองค์กรให้จบ และโปร่งใส เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ไทยจะได้มีสายการบินหลักที่มีประสิทธิภาพที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้

ขณะเดียวกันควรมีมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การลงทุนจากต่างชาติอั้นมาพอสมควรจากสถานการณ์ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ปริมาณการลงทุนจะดีดตัวขึ้นแน่นอน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนนี้ไทยเริ่มโดนสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซียทิ้งห่างไปเยอะ มาตรการดึงดูดการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือสิทธิประโยชน์ที่ต้องตอบโจทย์บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องรีบจัดการและประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่ระบบการเมืองในสายตาประชาชน ไม่ว่าจะมีการปรับแก้ไขรายมาตราหรือจะแก้ทั้งฉบับก็ต้องหาทางออกให้ได้ เพราะเศรษฐกิจและการเมืองแยกกันไม่ขาด ถ้าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาแต่องค์ประกอบทางการเมืองยังเป็นชนวนของความขัดแย้งอยู่ ประชาชนก็จะไม่มีความมั่นใจ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะชะลอไปด้วย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"