ส.อ.ท. โอดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ลดต่ำสุดในรอบ 14 เดือน


เพิ่มเพื่อน    


10 ส.ค. 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค.2564 อยู่ที่ระดับ 78.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 80.7 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 เนื่องจากจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายและกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด ห้ามออกนอกเคหะสถานช่วงเวลา 21.00-04.00 น. ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-2 ส.ค.2564 การจำกัดการเดินทางภายในประเทศ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้พนักงานทำงานที่บ้านมากที่สุด

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้ และยังส่งผลให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) และประชาชนมีรายได้ลดลง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งทำให้กำลังการผลิตลดลง 5-10% เนื่องจากแรงงานต้องกักตัวทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งโรงงานบางแห่งต้องปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาด บางอุตสาหกรรมจึงอาจเหลือกำลังการผลิตไม่ถึง 50% ขณะที่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยังได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่น้อย

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 89.3 ปรับตัวลดลงจากเดิมคาดไว้อยู่ที่ระดับ 90.8 ในเดือนมิ.ย.2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลายโดยเฉพาะการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่สามารถควบคุมได้จะกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมองว่าหากภาครัฐใช้มาตรการล็อกดาวน์หลายเดือนจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่แน่นอน เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลายประเทศอาจส่งผลต่อกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้เร่งตรวจเชิงรุกในกลุ่มพื้นที่สีแดงเข้ม เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกจากกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ ควบคู่กับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และขอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้งรักษาศักยภาพในการผลิตและภาคส่งออกของประเทศ

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังเตรียมหารือร่วมกันภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เพื่อจัดทำหนังสือเสนอขอเข้าพบต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะส่งหนังสือได้ภายใน 1-2 วันนี้ โดยต้องการให้ภาครัฐบาลเร่งแก้ไขดำเนินการใน 3 เรื่องหลักในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19

สำหรับข้อเสนอประกอบด้วย 1. การจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งรัฐควรเปิดให้มีการนำเข้าวัคซีนทางเลือกให้เพิ่มขึ้นเนื่องจากขณะนี้การติดเชื้อในโรงงานเริ่มมีจำนวนมากขึ้นต่อเนื่องซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา 2.  ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับเอกชนในเรื่องของการจัดหาวัคซีนและอุปกรณ์ป้องกันการดูแลการแพร่เชื้อโดยเฉพาะ Antigen Test Kit (ATK) ซึ่งเป็นภาระรายจ่ายของภาคเอกชนมากขึ้นในขณะนี้ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางขอความช่วยเหลือ และ 3.ขอให้รัฐพิจารณาอนุมัติให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพในการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์เนื่องจากขณะนี้เอกชนมีศักยภาพผลิตแต่ต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก่อน

“เปิดให้เอกชนผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้ไหมถ้าเขาทำได้หากอย.อนุมัติเพราะถ้าไทยขาดยานี้อีกจะกลายเป็นเรื่องใหญ่มากเราไม่อยากให้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันจะมีการเสนอแนวทางมาตรการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)เข้าไปด้วย “นายสุพันธุ์ กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"