ล่าชื่อห้ามส่งออกวัคซีน ฟ้องศบค.กีดกันนำเข้า


เพิ่มเพื่อน    

ไทยฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 20 ล้านโดส บูสเตอร์เข็ม 3 แล้วกว่า 2 แสนราย ส่วนไฟเซอร์กระจายไปแล้วทุกจังหวัด 50-60% ทบ.ชี้แจงทหารยศสิบเอกโพสต์ภาพบัตรคิวฉีด Pfizer เป็นบุคลากรด่านหน้าในโรงพยาบาลค่ายศรีสองรัก มณฑลทหารบกที่ 28 จังหวัดเลย แพทย์ชนบทเอาด้วยห้ามส่งออกวัคซีน
    เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า การฉีดวัคซีนวันที่ 8 ส.ค. มีการฉีด 191,145 โดส ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสม 20,669,780 โดส 
    เมื่อถามถึงการฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส หรือเข็ม 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และการทยอยจัดส่งวัคซีนไฟเซอร์ไปยังต่างจังหวัด แต่มีเสียงสะท้อนว่าจัดส่งไปน้อยกว่าที่แจ้งความประสงค์มา ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ตอบว่า วัคซีนเข็ม 3 เข็มกระตุ้นภูมิสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จะมีการเสนอรายละเอียดให้ทราบเป็นประจำทุกวันเพื่อที่จะให้ได้เห็นข้อมูล ซึ่งตัวเลขล่าสุดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 เป็นต้นมาที่ได้ฉีดเข็มหนึ่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จนถึงกระตุ้นเข็ม 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 182,082 ราย ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ ที่ฉีดเมื่อวันที่ 8 ส.ค. ตอนนี้บวกไปแล้ว 23,481 ราย ดังนั้นตัวเลขรวมของไฟเซอร์ 39,483 ราย ในส่วนการจัดสรรกระจายวัคซีนไฟเซอร์ ขอเรียนให้ทราบว่ามีการสำรวจความต้องการของบุคลากร ตอนนี้กรมควบคุมโรคจัดส่งให้ในเบื้องต้น 50-60% ของความต้องการที่สำรวจไว้ก่อน และหลังจากนั้นจะมีการสำรวจศักยภาพการฉีดแต่ละจุด แล้วจะจัดสรรให้เพิ่มเติมอย่างแน่นอน  
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า วันที่ 5-6 ส.ค.นี้ ทางกรมควบคุมโรคได้จัดสรรวัคซีนล็อตแรกลงไปยังหน่วยฉีดเรียบร้อย ซึ่งขอเน้นย้ำว่าทุกจังหวัด ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่จะฉีดได้ แต่จะมีการกำหนดหน่วยฉีดโดยสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กำกับ เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์นั้นจะมีรายละเอียดเรื่องการขนส่งการเก็บอุณหภูมิที่ถูกต้อง ดังนั้น ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7-9 ส.ค. มีการเริ่มฉีดในหลายหน่วยบริการและในส่วนของการกำกับติดตามนั้น นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ย้ำว่าทุกๆ หน่วยฉีดขอให้ สสจ.กำกับติดตามด้วย และในส่วนของความโปร่งใสนั้น สังคมกำลังต้องการเห็นจึงขอให้ สสจ.และทุกจุดฉีดรายงานเข้ามาด้วย  
    สำหรับวัคซีนไฟเซอร์นี้ยังรวมถึงกลุ่มนักเรียนที่จะต้องเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศที่ได้รายงานไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงขอเน้นย้ำว่า ขอให้ติดต่อลงทะเบียนด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด รับอีเมลยืนยันในการลงทะเบียน และมีการนัดหมายผ่านทาง sms ไปยังเบอร์โทรศัพท์เพื่อนัดเข้าฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขขอเน้นย้ำว่าข้อมูลการดูแลผู้ป่วยทั้งการเข้าระบบรักษาที่บ้านและศูนย์พักคอย การดำเนินการทั้งภาครัฐเอกชนประชาสังคมจะมีการรวบรวมเข้าเป็นระบบฐานเดียวกัน โดย สปสช.ในเร็วๆ นี้ จึงขอให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ติดตามและลงข้อมูลด้วยเพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ 
    พันเอกหญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ชี้แจงกรณีสื่อออนไลน์นำภาพจากเฟซบุ๊กทหารยศสิบเอก โพสต์ภาพบัตรคิวฉีดวัคซีนไฟเซอร์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.เลย ซึ่งภาพถูกแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย พร้อมตั้งคำถามว่าเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้าหรือไม่ ถึงได้รับวัคซีนนั้น ว่า กองทัพบกขอเรียนว่าบุคคลดังกล่าว เป็นนายทหารชั้นประทวน ตำแหน่งนายสิบพยาบาล หมวดทหารเสนารักษ์ ปฏิบัติงานอยู่ที่โรงพยาบาลค่ายศรีสองรัก มณฑลทหารบกที่ 28 จังหวัดเลย และเป็นกำลังพลสายแพทย์ด่านหน้า ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดฯ โรงพยาบาลสนามจังหวัดเลย (แห่งที่ 3) ที่ตั้งอยู่ในค่ายศรีสองรัก ซึ่งมณฑลทหารบกที่ 28 ได้สนับสนุนพื้นที่ในค่ายทหารจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามของจังหวัดเลย โดยใช้อาคารของศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร 2 อาคาร รองรับผู้ป่วยโควิดได้ 380 เตียง  เปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564  
    ปัจจุบันมีผู้ป่วยโควิด (สีเขียว) เข้ารับการรักษา 50 คน และเป็นไปตามนโยบายของกองทัพบกที่ให้หน่วยทหารสนับสนุนอาคารสถานที่และบุคลากรในการดูแลประชาชนในสถานการณ์โควิด หรือการตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามสนับสนุนแต่ละจังหวัดอย่างเต็มศักยภาพ ปัจจุบันการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ของจังหวัดเลยนั้น ทางสาธารณสุขจังหวัดได้ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์ และกำลังพลดังกล่าวเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลสนามของจังหวัดเลย อยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ทางกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเลยเป็นผู้กำหนด ทางหน่วยทหารจึงได้ส่งรายชื่อกำลังพลขอรับวัคซีนและได้รับการฉีดวัคซีนเมื่อ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา สำหรับการโพสต์ที่อาจสร้างความสับสนให้กับสังคม ทางกำลังพลได้ขออภัยมายังทุกท่านด้วย  
    ขณะที่ชมรมแพทย์ชนบท เชิญชวนร่วมลงชื่อในการรณรงค์ที่ ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างขึ้น เพื่อให้วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยได้ใช้ในประเทศมากกว่าส่งออก นับตั้งแต่ 14 ก.ค. ที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบในหลักการจะใช้อำนาจออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคงวัคซีนแห่งชาติ 2561 เพื่อกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยไปนอกราชอาณาจักรชั่วคราว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ดำเนินการใดๆ 
    ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ให้เหตุผลที่ขอให้ช่วยกันรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 ลดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตจาก Siam Bioscience!! ดังนี้
    "วิธีที่ตรงไปตรงมามากที่สุดที่ประเทศควรทำในขณะนี้คือ การลดหรืองดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตที่ Siam Bioscience เป็นการชั่วคราว ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ในการดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว     ขณะนี้ Siam Bioscience มีกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส หากใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ทำให้ประเทศมีวัคซีน 20-30 ล้านโดสในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ได้ เราก็มีโอกาสที่จะควบคุมการระบาดและลดความสูญเสียได้ดีขึ้นมาก 
    การดำเนินการเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคบ้างในการที่จะได้รับวัคซีนจาก AstraZenaca ลดลง แต่ประเทศเหล่านี้ไม่ได้พึ่งพาวัคซีนนี้เป็นหลักอย่างประเทศไทย การลดลงของวัคซีนชนิดเดียวในวัคซีนหลายๆ ชนิดมีผลกระทบน้อยกว่าประเทศไทยที่เมื่อวัคซีนหลักไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เราก็มีวัคซีนอื่นที่จะมาช่วยได้น้อยมาก เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ผมคิดว่าแม้จะมองในระดับภูมิภาคเรื่องนี้ก็ยังจำเป็นต้องทำอยู่ดี"
    ด้าน พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ที่ปรึกษากลุ่มไทยไม่ทน สามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย เข้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา, รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข นายอนุทิน​ ชาญ​วี​รกูล​, ปลัดกระทรวง​สาธารณ​สุข ​ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต และผู้อำนวยการองค์การ​เภสัช​กรรม นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ต่อศาลปกครองกลาง ว่าทั้ง 4 คนได้ร่วมกันออกประกาศ ศบค. เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ฉบับลงวันที่ 8 มิ.ย.2564 ประกาศ ศบค.ดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่ละเลย ล่าช้า กีดกันการนำเข้าวัคซีน โดยให้กระทำได้เฉพาะหน่วยงานรัฐเท่านั้น
    นอกจากนี้ วันนี้ยังร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคำร้องของโจทก์เป็นกรณีฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยเปิดโอกาสให้งานรัฐหรือเอกชนต่างๆ สามารถนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพที่ผ่านมาตรฐานองค์การอาหารและยาในไทยและนานาชาติแล้วได้อย่างเสรีทันที
    นอกจากนี้ พญ.กมลพรรณยังยื่นหนังสือถึงนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่นายอนุทิน, นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม, นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม, นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และนายจุรินทร์​  ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 โดยสร้างเงื่อนไขและการบริหารจัดการเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาโควิดไม่เสร็จสิ้นโดยเร็ว และใช้งบประมาณไม่คุ้มค่าอีกด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"