ไทยติดเชื้อใหม่ 19,603 ราย ดับ 149 ราย มีทารกวัย 4 เดือนเสียชีวิตที่สมุทรปราการ พบเด็กติดโควิดแล้วกว่า 3 หมื่นราย เผยผู้ป่วยสีเขียวแสนรายรักษาที่บ้าน ขณะที่ตัวเลขหายป่วยกลับบ้านสูงขึ้น ทำให้เตียงสีแดง กทม.ว่าง 5 พันเตียง กรมอนามัยห่วงโควิดลามครอบครัว เผยผลโพลไม่ประเมินความเสี่ยงคนในบ้านสูงถึง 83.4% ขอเข้มมาตรการ-เว้นระยะห่าง อภ.ปรับแผนจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ ยัน ส.ค-ก.ย.ได้ 120 ล้านเม็ด
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19,603 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,278 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,119 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 3,159 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 313 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 776,108 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 19,819 ราย หายป่วยสะสม 555,334 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 214,421 ราย อาการหนัก 5,218 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,084 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 149 ราย เป็นชาย 84 ราย หญิง 65 ราย พบใน กทม.มากสุด 54 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 20 ราย มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 26 ราย อยู่ที่ กทม. 24 ราย ชลบุรี 2 ราย โดยผู้เสียชีวิตวันนี้อยู่ในกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี และมีโรคเรื้อรังรวมกันถึง 84% มีทารกอายุ 4 เดือน 1 ราย เป็นชาวเมียนมา ที่ จ.สมุทรปราการ รวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 6,353 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กได้หารือถึงกรณีเด็กเสียชีวิต เนื่องจากวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา มีทารกอายุ 14 วัน เป็นชาวเมียนมา เสียชีวิตที่ จ.เพชรบูรณ์ และมีข้อมูลเข้ามาว่าที่ผ่านมามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 ประมาณกว่า 3 หมื่นราย เสียชีวิตถึง 9 ราย โดย 8 ใน 9 มีโรคประจำตัว กรมควบคุมโรคจึงเน้นย้ำกรณีที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่บ้าน ขอให้แยกห้องนอนผู้สูงอายุ หากบ้านมีพื้นที่จำกัดให้ใช้ฉากกั้นและให้ผู้สูงอายุอยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี รวมถึงให้หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลระหว่างวันที่ 18 ก.ค.-7 ส.ค. พบผู้เสียชีวิต 2,417 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 838 ราย เป็นผู้รับวัคซีนไปแล้ว 1 เข็ม โดยระยะติดเชื้อน้อยกว่า 2 สัปดาห์ 149 ราย เป็นผู้ได้รับวัคซีนเกิน 2 สัปดาห์ และมีการติดเชื้อ 82 ราย เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 13 ราย คิดเป็นตัวเลข 0.5% กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นย้ำการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ เพราะการเสียชีวิตในกลุ่มที่รับวัคซีน 2 เข็มมีเพียง 0.5%
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,114 ราย สมุทรปราการ 1,388 ราย สมุทรสาคร 1,378 ราย ชลบุรี 1,318 ราย นนทบุรี 803 ราย ปทุมธานี 708 ราย อุบลราชธานี 615 ราย นครปฐม 557 ราย สระบุรี 504 ราย นครราชสีมา 440 ราย พบคลัสเตอร์ใหม่ในต่างจังหวัด 7 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า อ.เมืองปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อ 9 ราย บริษัทโลหะแผ่น อ.หนองแค จ.สระบุรี 28 ราย บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา 12 ราย โรงงานแปรรูปไก่ อ.เมืองราชบุรี 46 ราย ตลาดโบว์ลิง อ.เมืองจันทบุรี 16 ราย โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร อ.เมืองกาญจนบุรี 31 ราย โรงงานน้ำแข็ง อ.ละแม จ.ชุมพร 30 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า กรณีผู้ป่วยติดต่อมายังสายด่วน 1330 และมีการติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ 80-70% เป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว และหากไปดูอัตราครองเตียงระหว่างเดือน ก.ค.กับสัปดาห์แรกของเดือน ส.ค. พบว่ากราฟการรอเตียงของผู้ป่วยสีเขียวในเดือน ก.ค.ตั้งชันขึ้น แต่สัปดาห์แรกของเดือน ส.ค.กราฟการรอเตียงของผู้ป่วยสีเขียวปักหัวลง เนื่องจากมีผู้ป่วยได้รับการจัดสรรให้รักษาตัวที่บ้านหรือศูนย์พักคอยจำนวนมากขึ้น โดยตอนนี้ใน กทม.มีหน่วยปฐมภูมิที่ดูแลผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านทั้งสิ้น 246 หน่วย มีผู้เข้าระบบรักษาตัวที่บ้านประมาณกว่าแสนราย
กทม.เตียงสีแดงว่าง 5 พัน
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักคอยในชุมชน 67 แห่งแล้ว มีเตียง 8,886 เตียง หากรวมกับเอกชนแล้วมีเกิน 84 แห่ง โดยมีถึง 7 แห่งที่สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้ ขณะที่ช่วงที่ผ่านมามีเตียงผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้น จากกรณีผู้ป่วยได้รับอนุญาตให้กลับบ้านวันละประมาณ 1.4 หมื่นเตียง เฉพาะ กทม.มีเตียงสีแดงว่างถึง 5 พันเตียง และยังจะมีการปรับศักยภาพโรงพยาบาลสนามให้สามารถดูแลผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่มขึ้นได้กว่า 2 พันเตียง รวมถึงฮอสพิเทลที่จะปรับให้ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองเกือบ 4 พันเตียง
ที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้รับทราบความคืบหน้าความร่วมมือของเทคฟอร์ไทยแลนด์ ที่ได้รวบรวมสถานที่จุดตรวจโควิด-19 ที่เปิดให้บริการใน Koncovid.com ซึ่งแสดงที่ปักหมุดตรวจให้ทุกคนสามารถตรวจหาได้ และยังมีการเพิ่มปักหมุดศูนย์พักคอยหรือศูนย์แยกกักในชุมชนให้แล้ว ดังนั้น ทุกคนสามารถค้นหาได้โดยการใส่รหัสไปรษณีย์ของพื้นที่ที่ต้องการค้นหา สามารถค้นหาศูนย์พักคอยได้ทันที ทั้งนี้ สธ.ยังแจ้งด้วยว่า ศูนย์พักคอยที่มีความพร้อมแต่ยังไม่มีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงสามารถแจ้งเข้ามาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ช่วยจัดหาโรงพยาบาลพี่เลี้ยงให้ดูแลได้ นอกจากนี้ โทรศัพท์ทุกเขตในกรุงเทพมหานคร 50 หมายเลข หมายเลขละ 20 คู่สายนั้น ตอนนี้ประชาชนใช้บริการเกินวันละ 5,000 ครั้ง จึงจะมีการจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อให้บริการสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ขณะนี้ใน กทม.มีคนเข้าระบบรักษาตัวที่บ้านกว่า 100,000 คนแล้ว
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงการตั้งระบบรักษาตัวที่บ้านในกลุ่มพิเศษ อาทิ กลุ่มผู้ป่วยจิตเวชที่อาจมีประวัติใช้สารเสพติด หรือกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งกรมสุขภาพจิตและสถาบันราชานุกูลจะเข้ามาเป็นโรงพยาบาลพี่เลี้ยง เพื่อให้การดูแลได้อย่างครบถ้วนสำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีความต้องการพิเศษนี้ด้วย
ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวด้วยว่า การทำงานของทีม CCRT ของแพทย์ชนบทที่เดินเท้าเข้าชุมชน ช่วยประชาชนทุกซอกทุกซอย ช่วยทั้งผู้ป่วยติดเตียง คนท้อง คนน้ำหนักเยอะ ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประชาชน ซึ่งทีม CCRT จะรับสมัครอาสาสมัครเพิ่มเติม โดยจะมีนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมทีมในสัปดาห์นี้อีก 200 คน ซึ่งต้องขอขอบคุณและทีมอาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับการจัดสรรวัคซีนด้วย
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่พบมีการติดเชื้อกันเองภายในครอบครัวร้อยละ 20 มีการติดเชื้อกันภายในชุมชนร้อยละ 20 และจากข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตติดเชื้อในครอบครัวร้อยละ 18 ติดจากเพื่อนบ้านในชุมชนร้อยละ 23 และติดจากการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงร้อยละ 51
อีกทั้งจากผลสำรวจอนามัยโพล ประเด็นการประเมินความเสี่ยงและพฤติกรรมการป้องกันโรคของครอบครัว ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2564 พบว่าคนในครอบครัวไม่มีการประเมินความเสี่ยงของสมาชิกในบ้าน เช่น ไม่มีการสังเกตอาการเบื้องต้น ตรวจวัดอุณหภูมิ หรือไม่ใช้แอปพลิเคชันไทยเซฟไทย เป็นต้น สูงถึงร้อยละ 83.4 สำหรับในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พบว่าประชาชนไม่มีการประเมินความเสี่ยงของคนในบ้าน ร้อยละ 67.5 ส่วนพฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ในบ้านที่ประชาชนเห็นด้วยและสามารถทำได้มากที่สุดคือ การแยกกันกินเมื่ออยู่ในบ้าน ร้อยละ 53.1 รองลงมาคือ การเว้นระยะห่าง ร้อยละ 50.1 และการสวมหน้ากากในบ้านตลอดเวลา ร้อยละ 49.9 ตามลำดับ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงนี้ กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือให้ทุกคนในครอบครัวปฏิบัติตามมาตรการของ สธ.อย่างเคร่งครัด แต่หากไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำกิจกรรมใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ดูทีวีร่วมกัน พูดคุยกัน เมื่ออยู่ในห้องปรับอากาศร่วมกัน หรือเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงในบ้าน ต้องให้คนในครอบครัวสวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ให้งดการกินอาหารร่วมกัน รวมถึงแยกของใช้ส่วนตัว ลดหรือเลี่ยงการออกไปในสถานที่เสี่ยงนอกบ้าน
จัดหายาฟาวิฯ 120 ล้านเม็ด
นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ.ได้ทำการปรับแผนการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อจ่ายยาให้ผู้ป่วยเร็วขึ้นอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยจะมีการเพิ่มการสำรองทั้งจากยาที่ อภ.ผลิตเองและจัดหาจากต่างประเทศ โดย ส.ค.-ก.ย. รวม 2 เดือน จำนวน 120 ล้านเม็ด และ ต.ค.-ธ.ค.เพิ่มอีกเดือนละ 100 ล้านเม็ด รวมจำนวน 300 ล้านเม็ด นอกจากนี้ในเดือนนี้ได้จัดหายาแรมเดซิเวียเป็น 2 แสนขวด
ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 1,388 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 1,232 ราย และเสียชีวิต 17 ราย โดยที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการปิดให้บริการ 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-12 ส.ค.เพื่อพ่นยาฆ่าเชื้อ ส่วนเทศบาลนครสมุทรปราการมีเจ้าหน้าที่ติดเชื้อ ทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจจำนวนกว่า 20 คนต้องถูกกักตัว 14 วัน
ที่ จ.บุรีรัมย์ มีติดเชื้อใหม่จำนวน 292 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 6,864 ราย เสียชีวิตสะสม 12 ราย รักษาหายแล้ว 937 ราย ยังรักษาอยู่ 5,915 ราย กระจายตามโรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่จังหวัด
ที่ จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กล่าวว่า พบผู้ป่วยใหม่นิวไฮต่อเนื่องจำนวน 562 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม 10,915 ราย รักษาหายแล้ว 4,630 ราย ยังรักษาอยู่ 6,199 ราย เสียชีวิตรวม 86 ราย โดยพบ 5 คลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง ส่วนคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ 2 แห่ง ใน ต.ท่าเยี่ยม กับ ต.กระโทก ในพื้นที่ อ.โชคชัย ขอให้ประชาชนสบายใจได้เพราะจังหวัดดูแลควบคุมป้องกันอย่างเข้มงวด และผู้ประกอบการทั้ง 2 แห่งให้ความร่วมมือกับจังหวัดเป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นโมเดลหรือตัวอย่างที่ดีกับโรงงานอื่นในการควบคุมการระบาดภายในสถานประกอบการ อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของระบาดวิทยาตัวเลขผู้ป่วยยังน่าจะอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงกลางเดือนส.ค. หลังจากนั้นปลายเดือนตัวเลขผู้ป่วยน่าจะลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีข่าวดีว่าเด็กทารกเพศชาย วัย 1 เดือน พร้อมคุณแม่ ซึ่งทั้งสองคนติดโควิดและเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา แพทย์ได้รักษาทั้งคู่หายเป็นปกติแล้ว โดยเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยฮุก 31 นครราชสีมา ได้รับตัวทั้งสองคนกลับไปกักตัวดูอาการต่อที่บ้านพักในพื้นที่บ้านงิ้ว ตำบลคูขาด อำเภอคง
ที่ จ.สงขลา พบผู้ป่วยใหม่ 160 ราย เสียชีวิต 1 ราย
ที่ จ.ปัตตานี สถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 225 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 4 ราย ปัจจุบันมียอดผู้ป่วยสะสม 11,516 ราย รักษาหาย 7,571 ราย และเสียชีวิตสะสม 161 ราย ในจำนวนนี้พบว่าอำเภอเมืองปัตตานีมียอดติดเชื้อสะสมมากที่สุดกว่าอำเภออื่นๆ จำนวน 4,153 ราย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |