เกิดมาหูหนวก แต่'หนูอยากได้ยินเสียงแม่'ชีวิตเด็กพิการที่มีทางเลือก


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

 

        เด็กหญิงธัญวลัย การินธิ หรือน้องไอเดีย เด็กหูหนวกผู้เข้ารับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมเมื่ออายุ 2 ปี 10 เดือน กลับมาได้ยินและพูดได้  แต่ล่าสุดเธอเข้ากรุงเทพฯ มารับการผ่าตัดประสาทหูเทียมอีกครั้งในหูข้างซ้ายเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา เพราะหูข้างขวาที่ผ่าตัดไปเมื่อ 7 ปีก่อน มีอาการอักเสบเรื้อรัง  จำเป็นต้องผ่าตัดเอาเครื่องออก และประสาทหูเทียมเครื่องที่มีอยู่ใช้ไม่ได้อีก  เวลานี้เธอได้กลับบ้านที่ จ.เชียงใหม่แล้ว โดยมีมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ให้ความช่วยเหลือ 

       การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมครั้งนี้  แม้จะไม่สามารถทำให้ไอเดียได้ยินชัดเจนเหมือนเดิม  แต่ทำให้เธอกลับมาได้ยินเสียงแม่อีกครั้ง ได้บอกรักแม่ผู้ให้กำเนิดเหมือนเด็กทั่วไป

น้องไอเดียกับคุณแม่สายรุ้ง

 

         สายรุ้ง บุญทาวงค์ษา  กล่าวกับไทยโพสต์ว่า จะทำทุกวิถีทางให้ลูกพูดได้ ซึ่งตอนนี้น้องไอเดียกลับมามีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น ก่อนหน้านี้ ลูกมีภาวะเครียด เพราะเคยได้ยินหลังการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมครั้งแรก  เมื่อเข้าสู่โลกเงียบอีกครั้ง ไม่ได้ยินอะไรอีก ลูกบอกว่า อยากได้ยินเสียงแม่อีกครั้ง”  เวลานั้นตนต้องการเพียงให้ลูกได้ยิน ร่าเริงเหมือนเคยเป็น ถ้ามีวิธีใดที่จะเป็นความหวังในการรักษาภาวะสูญเสียการได้ยินของไอเดียได้ แม้จะยาก ก็จะไม่ย่อท้อ

                “ การได้ยินของลูกมีความสำคัญ สามารถเปลี่ยนชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แม่ขอเพียงแค่ให้น้องได้ยินเสียงเล็กน้อยก็ยังดี ไม่ตกอยู่ในโลกแห่งความเงียบตลอดชีวิต ได้พูดคุยสื่อสาร ป้องกันตัวเองจากภัยและอันตราย  ได้เรียนหนังสือ มีอนาคตอย่างที่ไอเดียตั้งใจ   “ สายรุ้ง กล่าว

                เวลานี้ ไอเดียและครอบครัวกลับมาฝึกทักษะการสื่อความหมายในชีวิตประจำวันอย่างจริงจังอีกครั้ง  ซึ่งแม่ได้ให้ความสำคัญและใส่ใจกับการฝึกพูดให้กับลูกสาวคนนี้  ฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยิน  โชคดีที่เธอเคยพูดได้แล้ว ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ตัวไอเดียเองให้ความร่วมมือฝึกฝนเป็นอย่างดี จะช่วยให้เธอสามารถใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น และมีความมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ปัจจุบันเธอเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนสายอักษร จ.เชียงใหม่ ร่วมกับเด็กทั่วไป ช่วงโควิดเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ไอเดียต้องใช้ความพยายามมากกว่าเพื่อนร่วมชั้น เพราะการได้ยินยังไม่เต็มร้อย  

ไอเดียผ่าตัดประสาทหูเทียมอีกครั้งในหูข้างซ้าย

 

               วันแม่ที่กำลังใกล้เข้ามา ลูกๆ ครอบครัวอื่นต่างเตรียมของขวัญสุดพิเศษซื้อไปเซอร์ไพรส์คุณแม่กัน  แต่สำหรับสายรุ้งไม่มีของขวัญใดมีค่าเท่าเสียงลูกเรียกแม่อย่างมีความหมาย  และลูกได้ยินเสียงของเธอ เป็นความรักจากการได้ยิน

           ไทยโพสต์ ชวนไอเดียบอกรักแม่อย่างซึ้งๆ แต่เสียงปลายสายที่ได้ยินกลับเป็นประโยคน่ารักๆ “ จะขอกินนมแม่บ่อยๆ”  บ่งบอกถึงสายสัมพันธ์แนบแน่นของแม่ลูกคู่นี้   

             สำหรับเด็กหญิงธัญวลัย หรือไอเดีย วัย 9 ปี 9 เดือน เข้าร่วมโครงการ”หนูอยากได้ยินเสียงแม่” ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก  ในพระบรมราชินูปถัมภ์  ซึ่งช่วยให้เด็กหูหนวกได้ยินเสียงแม่แล้วกว่า 120 คน  โดยการผ่าตัดอยู่ภายใต้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี กรมการแพทย์

                ส่วนพี่น้องแฝด เด็กชายนภนต์ หรือ“บีทัล” และเด็กชายนดลต์ ”บีเทิล” ที่ได้รับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมทั้งสองคนพร้อมกัน   ถือเป็นครั้งแรกในไทย และเป็นของขวัญที่ตีมูลค่าไม่ได้ของครอบครัว

           กิตติพนธ์ มีสกุล พ่อน้องแฝด บอกว่า ลูกแฝดเกิดมาสูญเสียการได้ยินระดับรุนแรง   เข้าออกโรพยาบาลหลายแห่ง จนลูกๆอายุ 1 ปี ได้รู้จักและเปิดใจกับโครงการ”หนูอยากได้ยินเสียงแม่”  ได้รับรู้ว่ามีเทคโนโลยีช่วยให้ลูกกลับมาได้ยิน  และได้รับการช่วยเหลือผ่าตัดประสาทหูเทียมเมื่อ 1 ขวบ 7 เดือน หลังผ่า 2 เดือน การทรงตัวดีขึ้น และฝึกการพูดที่ราชานุกูล และ รพ.ราชวิถี 

            “ ผมอยากให้ลูกเรียนโรงเรียนปกติ อยากให้ลูกพูดได้  แม้ใช้คำได้น้อยกว่าเด็กทั่วไป ไม่เป็นไร  เมื่อผ่านการประเมินได้เรียนโรงเรียนปกติ   เรียนเทอมเดียวเจอโควิด ปัจจุบันพักการเรียนอนุบาล 1 เพราะห่วงโรคระบาด แต่เปลี่ยนมาเรียนกับนักสหวิชาชีพโดยตรงแทน “ พ่อน้องแฝดเล่าด้วยรอยยิ้มวันนี้ลูกได้ยินเสียงพ่อแม่ มีพัฒนาการเรียนรู้มากขึ้นตามลำดับ เป็นแรงใจให้ต่อสู้เพื่อลูกต่อ  วันแม่ทั้งทีจะชวนลูกๆ กอดและบอกรักแม่ แสดงความรักด้วย

  น้องเลโก้ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมกลับมาได้ยินอีกครั้ง 

              จากรายงานสถานการณ์คนพิการในประเทศไทยของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ข้อมูลวันที่ 30 มิ.ย.2564) ผู้พิการทางความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายจำนวนกว่า 3.9 แสนคน มากเป็นอันดับ 2 รองจากพิการทางความเคลื่อนไหวหรือร่างกาย ในจำนวนนี้อยู่ในวัยเด็กและวัยศึกษา มากกว่า 1.1 หมื่นคน   

         นพ.ดาวิน เยาวพลกุล  แพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถีกล่าวว่า เสียงเป็นประสบการณ์เรียนรู้ของมนุษย์ หากไม่ได้ยินเสียงจะมีปัญหาทางการสื่อสาร แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารกันง่ายขึ้นผ่านโพสต์ ไลน์  แชท  แต่ก็ไม่ลึกซึ้งเท่าการพูดคุยกัน เพราะไม่สามารถสื่อสารอารมณ์หรือความรู้สึกมากกว่าข้อความได้ เสียงยังทำให้เด็กมีชีวิตรอด เสียงแตรรถ สัญญาณเตือนภัย การสูญเสียการได้ยินมีหลายระดับ แต่เป็นมากสุด คือ ระดับหูหนวก มีสถิติทั่วโลกเด็กแรกเกิด 1,000 ราย มี  1 ราย ที่มีปัญหาการได้ยิน

         “ หูเป็นอวัยวะรับเสียง  โดยมีศูนย์ควบคุมการได้ยินในสมองเชื่อมต่อด้านสติปัญญาและพัฒนาการ เด็กหูหนวกจะขาดความมั่นใจในการมีชีวิตอยู่  รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้ ขาดโอกาสประกอบอาชีพในอนาคตเหมือนเด็กทั่วไป เด็กหูพิการแต่กำเนิด ถ้าไม่ทำอะไรเลย  จะหูหนวกเป็นใบ้ เข้าโรงเรียนเด็กหูหนวก ใช้ภาษามือสื่อสาร  อีกทางแก้ไขให้ให้เด็กสามารถพูดสื่อสารได้ ปัจจุบันมี 2 วิธี ใช้เครื่องช่วยฟังหู 2 ข้าง ถ้าเป็นรุนแรงใช้การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม  เรียนโรงเรียนปกติ  ทำได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี  เคสอายุน้อยสุด 8 เดือน แต่สำคัญต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวทุ่มเทดูแลด้วยความเข้าใจ  “ นพ.ดาวิน บอก

             แพทย์ชำนาญการพิเศษฝากถึงทุกครอบครัวภาวะสูญเสียการได้ยินแก้ไขได้ ถ้าสงสัย ไม่ต้องรอ  จะช้าเกินไป เด็กที่มีปัญหาการได้ยิน ส่งผลมีปัญหาด้านเรียนรู้ พัฒนาการอื่นๆ  และสติปัญญา ยิ่งตรวจพบแต่แรกเริ่ม ได้รับการฟื้นฟูเหมาะสม ลูกๆ จะกลับมาได้ยิน  ซึ่ง 3 ปีแรกเป็นช่วงอายุที่เหมาะสม ดีต่อพัฒนาการทางภาษาที่สุด เด็กดาวน์ซินโดรมที่หูหนวกมาผ่าตัดก็ช่วยลดความพิการ  ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าสามารถผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม 2 ข้างพร้อมกัน 

  ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง

 

                ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง ประธานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ  กล่าวว่า นับตั้งแต่น้องฟ้าใสเด็กคนแรกที่ผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมเป็นคนแรกของมูลนิธิในโครงการ”หนูอยากได้ยินเสียงแม่” เมื่อ 17 ปีที่แล้ว  ปัจจุบันช่วยเหลือเด็กหูหนวกทั่วประเทศแล้วมากกว่า 120 ราย

       “  ถ้ารู้ว่าลูกหูหนวกอย่ารอช้า วันเวลาของเด็กวันเดียวก็มีค่า รู้ปัญหาเร็ว เด็กหูหนวกก็พูดได้ “

     ดร.มลิวัลย์บอกเจ้าหน้าที่มูลนิธิพร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่ผู้ปกครอง ช่วยเหลือ ประสานงานกับโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์ประเมินความพร้อม สู่การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม  หลังผ่ามีขั้นตอนติดตามประเมินผล  อย่างไรก็ตาม มูลนิธิได้ตั้งศูนย์สาธิตและพัฒนาเด็กที่ใช้ประสาทหูเทียม  เมื่อได้ยินแล้วมาฝึกพูดกัน ออกเสียงคำที่มีความหมาย   พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถพาเด็กมาเข้ารับบริการศูนย์นี้หลังผ่าตัด  มีครูสอนรายบุคคล นัดหมายล่วงหน้า ไม่มีค่าใช้จ่าย ในช่วงสถานการณ์โควิดปรับเปลี่ยนเป็นสอนออนไลน์ตามมาตรการป้องกันโรค  

คุณแม่กับน้องเลโก้ร่วมโครงการ"หนูอยากได้ยินเสียงแม่" 

 

          นอกจากนี้ มูลนิธิพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ทุกคนเข้าถึงการช่วยเหลือทั้งเพจหนูอยากได้ยินเสียงแม่  เพจDeafthaifoundation   และไลน์ @ihearmom   หรือโทร.0811043030 ส่วนพ่อแม่ในต่างจังหวัดยังสามารถประสานงานศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด  เพื่อขอความช่วยเหลือในการฝึกพูดฝึกฟัง และการใช้เครื่องช่วยฟังสำหรับเด็กหูหนวกที่มีบัตรผู้พิการ

          “ เดือนสิงหาคมนี้เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติมีเด็กจะเข้ารับการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม 3 ราย เด็กจะได้ยินเสียง ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น  และปีนี้ครบ 70ปี มูลนิธิฯ มีเป้าหมายจะระดมทุนช่วยเด็กหูหนวก 70 คน ใส่ประสาทหูเทียม  แม้ไทยเจอวิกฤต แต่มีผู้บริจาคให้กับมูลนิธิฯ ร่วมมือกับมอบโลกใหม่แห่งสรรพเสียงให้เด็กๆ  “  ดร.มลิวัลย์ เผยความมุ่งมั่นจะพิชิตเป้าหมายเพื่อให้เด็กๆ อีก 70 ชีวิต ได้ยินเสียงและบอกรักแม่ได้ทุกวันไม่เฉพาะเดือนสิงหาคม

         ครอบครัวที่มีลูกหูหนวก อายุไม่เกิน 3 ปี ที่มีความพร้อมจะทุ่มเทช่วยให้ลูกสื่อสารได้ สามารถลงทะเบียนรับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ การส่งเสริมความรู้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินและทางเลือกในการสื่อสารของลูกหลานได้ผ่านโครงการ”หนูอยากได้ยินเสียงแม่”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"