‘ขยะอาหาร’ลดลงช่วงโควิด : ซ่อนวิกฤตเร่งแก้ไข


เพิ่มเพื่อน    

 

 

         แม้สถิติขยะอาหารลดลงทั่วโลกในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนส่วนหนึ่งพยายามลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย  รวมถึงการไม่สามารถนั่งกินอาหารตามร้านได้ตามมาตรการควบคุมโรค  บางร้านก็ปิดให้บริการ ทำให้ปริมาณอาหารเหลือทิ้งลดลง แต่ในภาพใหญ่ยังมีอาหารที่ถูกทิ้งจากผู้คน ตลาด ร้านค้าทุกวัน   ขยะอาหารจำนวนมากไม่ได้กำจัดอย่างถูกวิธี เกิดเน่าเสีย ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น

              ลดขยะอาหารการขับเคลื่อนนโยบายและการปรับตัวของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประเมินว่า ทุกๆ ปี 1 ใน3 ของอาหารทั่วโลกถูกทิ้งกลายเป็นขยะอาหาร และขยะอาหารเหล่านั้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8 เปอร์เซ็นต์ของโลก ทั้งนี้ กระบวนการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์  การเผาเชื้อเพลิง และการผลิตบรรจุภัณฑ์ ก่อนจะมาเป็นสินค้าอาหาร ล้วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เมื่อคนทิ้งอาหาร ขยะอาหารเหล่านั้นยังซ้ำเติมโลกให้ร้อนขึ้น

            จากการเสวนา”สะท้อนจากนโยบายสู่การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหาร”ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่ง UNEP ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)  และกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นวันก่อน  ย้ำถึงวิกฤตขยะอาหารและสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำได้ คือ การลดขยะอาหาร

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา

          ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวว่า ปริมาณขยะอาหารทั่วโลกเฉลี่ย 2.5 พันล้านตันต่อปี การบริโภคปัจจุบันสร้างปัญหาขยะมาก ขณะที่ไทยมีขยะ 28 ล้านตันต่อปี กว่าครึ่งเป็นขยะอาหารทั้งจากการบริโภคไม่หมดและขั้นตอนการผลิตอาหาร  หากจัดการไม่ถูกต้องก่อก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการสะสมสารอินทรีย์ เกิดมีเทนตัวการก่อก๊าซเรือนกระจกมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า  25 เท่า ขยะอาหารที่เน่าเสียคิดเป็น  8-10% ของการสร้างคาร์บอนทั้งโลก หน่วยงานต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหา นโยบายมีความสำคัญและจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ใช้เทคโนโลยีลดขยะอาหารมีความสำคัญ

        “ ไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน เป็นประเทศเกษตรกรรม ขยะอาหารสามารถนำไปบำรุงดิน จะต้องผลักดันให้เกิดประโยชน์ภาพใหญ่ในภาคเกษตรหรือภาคประมง แต่วิธีลดที่ดีสุดคือ ลดปริมาณอาหารที่ไม่จำเป็น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ ปัจจุบันมีนโยบาย BCG Model เป็นวาระแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรี จะใช้ประโยชน์จากขยะพลาสติก ขยะอาหาร และขยะวัสดุก่อสร้าง ในบ้านเรายังมีคนที่หิวโหยจะเชื่อมโยงเพื่อส่งมอบอาหารส่วนเกินอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ลดขยะอาหาร ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ที่ยุโรปและจีนเผชิญน้ำท่วมใหญ่ในรอบพันปี จะทำอย่างไรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด  กรุงเทพฯ อยู่ระหว่างขับเคลื่อนเป็นเมืองนำร่องจัดการขยะอาหาร  ยังมีหลายโมเดลจะขยายในประเทศ รวมถึงเร่งศึกษาวิจัยเทคโนโลยีนวัตกรรมจัดการขยะอาหารหรือใช้ขยะอาหารให้เกิดประโยชน์ “ ดร.วิจารย์ กล่าว  

         ดร.มุชตัก อาเหม็ด เมมอน ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคเพื่อประสิทธิภาพทรัพยากรของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก   ซึ่งทำงานร่วมกับไทยลดขยะอาหาร กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการอาหารและราคาอาหารโลกสูงขึ้น ขยะอาหารเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดขยะอาหาร ยังลดขยะพลาสติก ลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

           อย่างไรก็ดี การทำงานในช่วงโรคระบาดจะยากขึ้น ความต้องการอาหารสูงขึ้นมาก เทคโนโลยีจะสามารถช่วยทำให้อุปสงค์และอุปทานสอดคล้องกันมากขึ้น รวมถึงช่วยการจัดเก็บและขนส่งอาหารอย่างเหมาะสม ลดปริมาณขยะอาหารได้มหาศาล  รวมถึงเทคโนโลยีลดการใช้พลังงานในการประกอบอาหาร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม เวลานี้ UNEP มีโครงการร่วมกับ TEI ลดขยะอาหารในกรุงเทพฯ ส่งเสริมความรู้คัดแยกขยะ  หนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสม

             การศึกษาของ TEI พบว่า การสูญเสียอาหาร (Food Loss) มีตั้งแต่การผลิต ทั้งแปลงเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ประมง, การขนส่ง, แปรรูป, การค้าส่งและปลีก, บริการ และพฤติกรรมบริโภค

          ส่วนขยะอาหาร (Food Waste) มีหลายประเภท อาหารเหลือทิ้ง จากปริมาณมากเกินไป ทั้งแหล่งจำหน่าย จัดเลี้ยง หรือการกิน รวมถึงอาหารจานใหญ่หรือชิ้นใหญ่เกินไปแต่ละมื้อ ,อาหารถูกคัดทิ้ง เพราะขนาด สี รูปทรงไม่ตรงเกณฑ์ ถือว่า ตกเกรด หรือไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมถึงสินค้าที่บรรจุภัณฑ์ชำรุดจากการจัดวาง  และอาหารใกล้หมดอายุหรือหมดอายุแล้ว  สุดท้ายอาหารเสื่อมสภาพ เป็นอาหารที่เก็บไว้นานเกินไป เก็บในที่ไม่เหมาะสม

              โฟกัสมาที่ขยะอาหารจาก”ค้าส่ง-ปลีก” เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าส่ง และตลาด TEI ทำการสำรวจพบผู้บริโภคใช้ตลาดเป็นหลัก อาหารที่เหลือจากการจำหน่าย จัดเก็บไม่ดีกลายเป็นขยะอาหาร ขณะที่ฟากผู้บริโภค ก่อขยะอาหารจากการซื้ออาหาร การเก็บรักษาอาหาร การเตรียมอาหาร การทานอาหาร การทำบุญ โดยเฉพาะในวันพระ เกิดขยะอาหารกองโต  

 

เบญจมาศ โชติทอง

     เบญจมาศ โชติทอง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการและแผนงาน TEI ซึ่งวางแผนเกี่ยวกับกำจัดขยะอาหาร  ร่วมวิเคราะห์และข้อเสนอ 5 ประเด็นสำคัญผ่านสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ว่า ในประเทศไทยแรงขับเคลื่อนมาจากภายนอก ยังไม่ระเบิดจากข้างใน เพราะไม่มีภาพขยะอาหารล้นเมือง แต่ความจริง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลกต้องสูญเสียและเป็นขยะอาหาร ปี 2558 ยูเอ็นกำหนดเป้าหมายลดขยะอาหารในระดับค้าส่ง-ปลีกและผู้บริโภคลงครึ่งหนึ่ง ไทยเป็นสมาชิกต้องกลับมาดูที่บ้านเรา ปี 2560 ยุทธศาสตร์ชาติแผนปฏิรูประเทศ ให้จัดทำยุทธศาสตร์และตั้งเป้าละขยะอาหาร พัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการขยะ กระทั่ง ปี2564 ร่างแผน BCG แผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 

          “ ในบ้านเราข้อมูลปริมาณขยะอาหารเก่า เอามาเล่าต่อ ซึ่งข้อมูลกรมควบคุมมลพิษระบุไทยมีขยะอาหารคิดเป็น 64% ของปริมาณขยะทั้งหมด เป็นตัวเลขที่เก่ามากตั้งแต่ปี 2547  ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมและปรับปรุงข้อมูลใหม่ ส่วน กทม.ศึกษาสัดส่วนขยะในกรุงเทพฯ ระหว่างปี 2552-2563 ขยะอาหารเคยสูงสุดถึงร้อยละ 50 ของปริมาณขยะทั้งหมด

      นอกจากนี้ รายงาน UNEP ชี้ปริมาณขยะอาหารในปี 2019 มี  931 ล้านตัน มาจากครัวเรือน 61% จากภาคบริการอาหาร 26% จากการขายปลีก 13% อัตราเกิดขยะอาหารจากการบริโภคต่อคนในกลุ่มประเทศรายได้สูงกับรายได้ปานกลางใกล้เคียงกันมาก

       นักวิชาการ TEI กล่าวต่อว่า ในสังคมไทยมีคำพูด “จะคัดแยกไปทำไม เอาไปเทรวมกันอยู่ดี”  อาจเป็นข้ออ้างของคนที่ไม่คัดแยกขยะ หรือข้อจำกัดในการสื่อสารของ กทม.และ อปท. คัดแยกขยะรีไซเคิล อาจทำได้ไม่ยาก และมีแรงจูงใจด้านรายได้ แต่การคัดแยกขยะอาหารมีข้อจำกัดมากกว่า ทั้งในด้านการรบรวม การเก็บขน และนำไปใช้ประโยชน์   อปท. นโยบายชัด แต่มาตรการไม่ครอบคลุม เริ่มแยกขยะอาหารจากจุดใหญ่ ยังทำได้น้อย ไม่สามารถให้บริการจัดเก็บได้หมด หากมีการคัดแยกขยะตามบ้านเรือน 

 “ ไทยมีมาตรการส่งเสริมจัดการขยะต้นทางมากกว่า 20 ปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ  ท้องถิ่นมีกฎหมายแต่ไม่บังคับใช้ ทั้งการเก็บค่าขยะในอัตราก้าวหน้า การควบคุมกลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายอาหาร การคัดแยกขยะ   สุดท้ายไปฝากไว้ที่เด็ก ให้ปลูกจิตสำนึกกับเยาวชน กรณีต่างประเทศเห็นได้ชัดว่าการมีมาตรการบังคับส่งผลให้ขยะอาหารลดลงฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามร้านค้าทิ้งอาหารใกล้หมดอายุ เพื่อลดภาระหลุมฝังกลบใกล้เต็มและเตาเผา “ เบญจมาศ ชี้ประเด็น

         ขยะอาหารเป็นปัญหาสังคมเมืองที่มีความหลากหลาย นักวิชาการ TEI ให้ภาพเมืองมีการเคลื่อนย้ายถิ่นมาอยู่รวมกัน มีหลายกิจกรรม และประชากรหนาแน่น ทางออกเดียวใช้ไม่ได้ผล ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงการมีข้อมูลและเป้าหมายที่ชัดเจนระดับประเทศและระดับเมือง การปรับใช้เทคโนโลยีและทางเลือก การใช้มาตรการบังคับควบคู่กับมาตรการจูงใจ เริ่มจากแหล่งกำเนิดขยะอาหารใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างแนบแน่น กระตุ้นจูงใจปลุกปรับเปลี่ยนให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม อยากให้ท้องถิ่นทบทวนอำนาจหน้าที่และศักยภาพของท้องถิ่นในการดำเนินงานตลอดโซ่อุปทาน ไม่ใช่ตั้งรับจัดการและขนส่งขยะอาหารไปกำจัดอย่างเดียว การสร้างความร่วมมือของท้องถิ่น เอกชน ประชาชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นตัวช่วยสำคัญมาก  

 

      สำหรับการลดขยะอาหารในกรุงเทพฯ วิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม.  กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ปี 62 มีปริมาณขยะอาหารร้อยละ 48  แต่ปี 63 ลดเหลือร้อยละ 38  ต้นปี 64 ร้อยละ 46 ปริมาณขยะอาหารลดลง จากพฤติกรรมสั่งอาหารตามจำนวนคน อาหารที่เหลือเก็บไว้กินได้ ต่างจากนั่งทานที่ร้าน ในส่วน กทม.เน้นนโยบายจัดการขยะอาหารแต่ต้นทาง และทำงานกับตลาด ตลอดจนห้างสรรพสินค้าหลายแห่งนำขยะอาหารมาทำปุ๋ยแจกจ่ายพนักงาน  กทม. เชื่อมโยงให้เกษตรกรมารับขยะอาหาร รวมถึงสร้างความร่วมมือกับชุมชนนำขยะเศษอาหารมาทำปุ๋ยใช้ในครัวเรือน  นอกจากนี้ 400 กว่ารร.ในสังกัด กทม. มีการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ เศษอาหารในโรงเรียนนำมาทำปุ๋ยหมัก

       “ เราต้องลดปริมาณขยะตั้งแต่แหล่งกำเนิดใหญ่   ตั้งแต่ที่พักอาศัย ตลาดสด โรงเรียน  กทม.มีแนวคิดรวบรวมขยะอาหารจากชุมชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ แต่ยังมีช่องว่างเรื่องฐานข้อมูลให้กับประชาชนที่ต้องการนำขยะอาหารไปดำเนินการต่อ อีกแนวทางพิจารณาออกกฎหมายเพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง ควบคู่เดินหน้าแผนกรุงเทพมหานครปลอดภัย  2556-2575 “ วิรัตน์ กล่าว

         อนุดา ทวัฒน์สิน นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย คพ.  กล่าวว่า โควิดปริมาณขยะอาหารลดน้อยลง แต่องค์ประกอบบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะพลาสติกเพิ่มขึ้นจากฟู้ดเดลิเวอรีและช้อปปิงออนไลน์ แผนจัดการขยะปี 2559-2564 เป้าหมายกำจัดขยะอย่างถูกต้อง 75% ซึ่งตัวเลขก็ใกล้เคียง ส่วนการคัดแยกต้นทางตั้งเป้ามากกว่า 50% เรายังไกลเป้าหมาย  ซึ่งการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายมากขึ้น ปีนี้เป็นปีสุดท้ายของแผนนี้ คพ.อยู่ระหว่างยกร่างและรับฟังความคิดเห็นแผนจัดการขยะฉบับใหม่ ในแผนลงรายละเอียดเชิงลึกขยะอาหาร

              ประเด็นข้อมูลเก่า นักวิชาการ คพ.ชี้แจงว่า สำหรับการศึกษาองค์ประกอบขยะของทั้งประเทศเมื่อปี 2547 ขณะนี้กำลังปรับปรุงข้อมูล โดยจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษารอบใหม่เริ่มเมื่อปี 2563 ขั้นตอนอยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลในห้องทดลอง ปลายปีนี้จะได้ตัวเลขปริมาณขยะอาหารไทยล่าสุด  

            อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ขยะอาหารจากครัวเรือน 43% ไปถึงแหล่งกำจัดอยู่ที่ 25% มีการคำนวณคนไทยก่อขยะ  91.59 กก.ต่อคนต่อปี  เมื่อเทียบกับแผนพัฒนายั่งยืนให้ลดปริมาณขยะต่อคนต่อปี มีการประมาณการประเทศไทย 79 กก.ต่อคนต่อปี สะท้อนตัวเลขจริงมากกว่าที่คาดไว้ ส่วนค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 121 กก.ต่อคนต่อปี

  “ ตามแผนภายใน 10 ปี ประเทศไทยต้องลดลง 50% เหลือประมาณ 45 กก.ต่อคนต่อปี  คพ.กำลังจัดเก็บข้อมูลและนำมาวางแผนต่อไป นอกจากนี้ ได้ยกร่างโรดแมฟการจัดการขยะอาหารของประเทศ ปี 68 ตั้งเป้าหมายลด 25%  ปี 73 ลด 50% และเริ่มศึกษาตัวเลขปริมาณขยะอาหารเมื่อถึงปลายทาง ส่วนเทคโนโลยีปลายทางปัจจุบันเริ่มมี แต่องค์ความรู้เทคโนโลยีต้นทางยังไม่กระจายสู่ครัวเรือน ทั้งการถนอมอาหาร แปรรูป วิธีเก็บรักษาอาหารไม่ให้เสีย แม้กระทั่งอาหารส่วนเกินจะรวบรวมให้ใครผู้บริโภคสะท้อนว่ายังขาดข้อมูล และขาดแรงจูงใจ เพราะไม่มีความรู้ถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม  “  อนุดา เผยอุปสรรค

ฟาร์มปลาที่ใช้ขยะอาหารในการเพาะเลี้ยง

 

              มานะชัย โสมภีร์  เป็นหนึ่งเกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากขยะอาหาร ที่ใช้ขยะอาหารเลี้ยงปลาในฟาร์มเลี้ยงปลา จ.สุพรรณบุรี เนื้อที่ 50 ไร่  เลี้ยงปลาสวาย ปลานิล ยี่สก เบญจพรรณ พ่อค้าแพปลาน้ำจืดมารับซื้อถึงฟาร์ม โดยเจ้าของฟาร์มรายนี้ บอกว่า นำขยะอาหารจากกรุงเทพมหานครมาใช้เลี้ยงปลา เศษอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งเศษผัก  เปลือกผลไม้ ข้าวสุก  ใส่ในบ่อเลี้ยงปลา โดยไม่ต้องทำเศษอาหารให้สุก ในบ่อดินยังมีพืชผักตามธรรมชาติที่เป็นอาหารปลาด้วย  มีเกษตรกรสนใจมาดูงานเป็นระยะๆ

         “ ปลาที่ขายจะไม่มีกลิ่นต่างจากเลี้ยงด้วยมูลสัตว์ ก่อนนี้ได้ขยะอาหารจากโรงเรียน มหาวิทยาลัย 1,000 กิโลกรัม ช่วงโควิดลดเหลือ 100-150 กิโลกรัม  เดือนร้อนจากเศษอาหารไม่พอ ทำให้ต้องซื้ออาหารปลาสำเร็จรูปหรือมูลสัตว์เพิ่ม เกิดต้นทุนสูง   จากเคยขายปลาได้ 5 แสนบาทต่อ 1 บ่อ จับปลาได้ 30 ตัน ตอนนี้จับปลาได้ลดลงเหลือ 10-15 ตัน  รายได้ลดลง “ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาเล่าให้ฟัง

         ในมุมมานะชัยยังสะท้อนปัญหาการไม่คัดแยกขยะ เขาพบพลาสติกปนเปื้อนขยะอาหาร ไม่มีการแยกน้ำกับกาก   เมื่อน้ำลงบ่อปลาเยอะ เกิดคราบมัน ทำให้น้ำเสียง่าย กระทบกับการเลี้ยงปลา นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีหน้าที่แนะนำให้ความรู้ ทำฐานข้อมูลแหล่งขยะอาหารเชื่อมต่อสู่เกษตรกร และสร้างระบบรวบรวมขยะอาหารในพื้นที่  ลดการขนส่งขยะอาหาร ทั้งยังลดปริมาณขยะในท้องถิ่น   ซึ่งเขาก็จะพยายามใช้ขยะอาหารแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"