เครดิตภาพ https://library.uarts.edu/
การระบาดโรคโควิด-19 ทำให้กิจกรรมประชุม สัมมนา งานอีเวนต์ต่างๆ มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เปลี่ยนการจัดงานเป็นรูปแบบออนไลน์ และแบบผสมผสาน ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการจัดงานให้มีความสร้างสรรค์มากขึ้น
อีเวนท์ออนไลน์หลักๆ จะมีภาพและเสียง ไม่ได้มีสถานที่หรือบรรยากาศมาช่วยเพิ่มสีสัน สร้างความประทับใจให้กับคนร่วมงาน ทำให้เสียงดนตรีประกอบมีความสำคัญมาก ช่วยกำหนดคอนเซ็ปต์ อารมณ์ และโทนของงาน เสียงดนตรี บทเพลง ช่วยสื่อสารความรู้สึก สร้างบรรยากาศให้ผู้ร่วมประชุม เกิดความสนใจ
แต่ปัญหาสำคัญตอนนี้ของผู้จัดงานประชุม สัมมนา หรือแม้กระทั่งผู้พัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ต้องระมัดระวังในการนำดนตรีหรือบทเพลงมาใช้เป็นปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์เพลง ส่วนใหญ่นิยมเลือกใช้บทเพลงที่มีเผยแพร่ให้ดาวน์โหลดใช้งานได้ฟรีในโลกออนไลน์ เพื่อตัดปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ และประหยัดค่าใช้จ่าย
ดร.ปวัฒน์ชัย สุวรรณตังคะ
ปัญหาดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้ ดร.ปวัฒน์ชัย สุวรรณตังคะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาดุริยางคศาสตร์สากล (เปียโน) คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เกิดไอเดียสร้างสรรค์บทเพลงร่วมสมัยที่มีแสดงถึงความเป็นไทย เครื่องดนตรีไทย เพื่อสร้างฐานข้อมูลเพลงที่เป็นห้องสมุดดนตรี เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ใช้ โดยไม่มีข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์
ศิลปินอาจารย์ผู้นี้เขียนโครงการ”สร้างสรรค์ผลงานดนตรี บทเพลงร่วมสมัยเพื่อสร้างฐานข้อมูลเพลง” นำเสนอสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และผ่านเกณฑ์ได้รับการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปี 2564 โดยจะสามารถดาวน์โหลดบทเพลงได้ทางเว็ปไซต์ www.ocac.go.th ช่วงปลายเดือน ส.ค. นี้
ดร.ปวัฒน์ชัย สุวรรณตังคะ เจ้าของโครงการฯ กล่าว ในระยะแรกของโปรเจ็คนี้จะประพันธ์เพลง ดนตรี จำนวน 15 บทเพลง ความยาวบทเพลงละ 1-2 นาที เพี่อสื่อสารในหลากหลายอารมณ์ ความรู้สึก ชุดเพลงแรกเป็นดนตรีที่สร้างความรู้สึก ยินดี ผ่อนคลาย และอบอุ่น ชุดเพลงดนตรีที่สร้างความตื่นเต้น เร้าใจ ระทึกขวัญ ชุดเพลงดนตรีที่สร้างความสุข สนุกสนาน รื่นเริง
“ บทเพลงร่วมสมัยทั้ง 15 บทเพลง จะนำเสนอความงดงามในเชิงศิลปะที่มีเอกลักษณ์ ถ่ายทอดผ่านเสียงดนตรีและบทเพลง ที่เป็นงานสร้างสรรค์ของศิลปินไทย เพื่อเปิดโอกาสการรับรู้ของสังคมไทยและสนับสนุนศิลปินให้มีงานที่แพร่หลาย” ดร.ปวัฒน์ชัย กล่าว
สำหรับชุดเพลงทั้งหมดนี้ ศิลปินอาจารย์บอกว่า จะรวบรวมพัฒนาเป็นฐานข้อมูล หรือดาต้าเบส ที่เป็นห้องสมุดเสียงดนตรีบทเพลงของไทย เผยแพร่ให้นักพัฒนา นักสร้างสรรค์ต่างๆ ตลอดจนนักดิจิทัลคอนเทนต์ ทำแอนิเมชัน เกม สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้ โมบายคอนเทนต์ และนักออกแบบเว็บนำดนตรีมาใช้เพื่อสร้างผลงานอันน่าประทับใจ
วรรณศักดิ์ ศิริหล้า
นอกจากโครงการสร้างสรรค์ผลงานดนตรี สศร. ได้จัดสรรเงินอุดหนุนการพัฒนาและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยปีนี้ให้แก่ศิลปินและบุคคลวงการศิลปะร่วมสมัย ซึ่งวางแผนขับเคลื่อนกิจกรรมศิลปะร่วมสมัยผ่านรูปแบบออนไลน์ในช่วงระบาดโรคโควิด-19 ระหว่างเดือน ส.ค. นี้ อีก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการ Feel the space โดยนายวรรณศักดิ์ ศิริหล้า และนายมานพ มีจำรัส ศิลปาธร สาขาศิลปะการแสดง สร้างสรรค์ผลงานที่เป็นการเปิดมิติใหม่ของการผสมผสานอย่างสร้างสรรค์ในการทำงานของศาสตร์ต่างๆทั้งการแสดง ดนตรี และวรรณกรรม มี รูปแบบการแสดงเป็นการแสดงเดี่ยว จากหนังสือ ราโชมอน : เรื่องสั้น “ศพในดงพงไผ่และกลุ่มต้นซีดาร์(ฉบับคำให้การ)”ของ ริอุโนะสุเกะ อากูตาคาวา เผยแพร่ผ่านช่องทาง Facebook : สถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
โครงการละครเวทีออนไลน์ ของนายดำเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์ ศิลปินศิลปาธร สาขาการแสดง เรื่อง “สมหมายกับสายสมรและคำวิงวอนต่อโควิดสิบเก้า” ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานละครออนไลน์ที่สะท้อนปัญหาชีวิตและสังคมในช่วงวิกฤตการณ์ การระบาดของโรคโควิด- 1 9 โดยมุ่งหวัง สร้างจิตสำนึกต่อความสำคัญในการพึ่งพาตนเอง ตลอดจนตระหนักถึงสังคมส่วนรวม ในวันที่ 30 ส.ค. เวลา 12.00 น. ใน Facebook ของ Co With Us นอก -ใน การเดินทางระหว่างเรา, New Theatre Society , มูลนิธิละครไทย
โครงการศิลปินซ่อมสร้างสังคม 21 ปีสินสมุทรร้องทุกข์ โดยนายชลประคัลภ์ จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินศิลปาธร ซึ่งใช้โอกาสจากสถานการณ์โควิด ซ่อมสร้างสังคม เชื่อมโยงรอยต่อของยุคสมัยและช่องว่างระหว่างวัย จัดทำในรูปแบบละครเวทีดิจิทัลให้ชม ก่อนนำผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการมีชีวิตสำหรับโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ละครร่วมสมัยขนาดเล็ก ณ ชุมชนและบ้านเรียนละครมรดกใหม่ ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 15 ก.ย. นี้
โครงการวาด ฝันปันสุข ศิลปะร่วมสมัยเพื่อคนพิการ โดย ผศ.วิทยา พลวิฑูรย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ระหว่างวันที่ 19 – 20 ส.ค. และ 23 ส.ค. ซึ่งนักเรียนพิการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จะสร้างผลงานศิลปะร่วมกับศิลปินร่วมสมัยล้านนา โดยการปฏิบัติการ Art Workshop ทำต้นแบบโปสการ์ด และภาพผลงานศิลปะ จำนวน 24 ผลงาน และจะนำเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านสื่อดิจิทัลต่างๆ ของทางโรงเรียน เพื่อให้เกิดสุนทรียภาพและความสุขขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจของผู้พิการ