“สุชาติ” ปลื้มตัวเลขเยียวยา ม.33 แจงโอนเงินกว่า 2.2 ล้านรายแล้ว เผยยังให้สิทธิ์พวกตกหล่นรีบแจ้งสิทธิ์ คาดได้รับต้น ก.ย. “ธนกร” โอ่สารพัดมาตรการรัฐเห็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 5 หมื่นล้าน แพลมคนละครึ่งตุลาคมใช้เดลิเวอรีได้ “เอกชน” โคราชฮึ่ม ชง 4 ข้อให้ 18 นักการเมืองช่วยลูกหลานย่าโม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 10 จังหวัด 9 กิจการ ว่าผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รายงานว่ามีการโอนเงินแล้ว 2,227,900 ราย เป็นเงิน 5,569,750,000 บาท ซึ่งไม่มีอะไรติดขัด มีเพียงผู้ประกันตนประมาณ 200,000 ราย ที่ไม่ได้ผูกพร้อมเพย์กับบัตรประชาชน ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการให้ผู้พร้อมเพย์กับบัตรประชาชนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 ส.ค. เพื่อโอนเงินในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ส่วน 3 จังหวัดเพิ่มเติม ได้แก่ ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา และพระนครศรีอยุธยา จะโอนเงินในวันที่ 9 ส.ค.นี้ และอีก 16 จังหวัดที่เหลือคาดว่าจะได้รับเงินชดเชยได้ไม่เกิน 24 ส.ค. โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th/eform_news/
“ได้รายงานภาพรวมการจ่ายเงินเยียวยามาตรา 33 ใน 10 จังหวัด ให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และท่านพอใจในภาพรวมที่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนได้ในระดับหนึ่ง ตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสุชาติกล่าว และว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 10 ส.ค.นี้ กระทรวงจะเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณากรอบวงเงินชดเชยเพิ่มเติมในกลุ่มมาตรา 30 และมาตรา 40 ใน 29 จังหวัดที่อยู่ในกลุ่มประกาศให้ล็อกดาวน์ เพื่อให้กลุ่มอาชีพอิสระได้รับเงินเยียวยาความเดือดร้อนคนละ 5,000 บาทไปดำรงชีพต่อไปได้ ซึ่งหาก ครม.อนุมัติแล้ว น่าจะโอนเงินเยียวยาได้ในวันที่ 24 ส.ค.นี้ ส่วนนายจ้างจะได้รับเงินชดเชยตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.เป็นต้นไป ในขณะที่ผู้ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนขอรับความช่วยเหลือใน 2 มาตราดังกล่าว กระทรวงเปิดโอกาสให้มาขึ้นทะเบียนโดยเร็ว ซึ่งกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนภายหลังคาดว่าจะได้รับเงินเยียวยาภายในต้นเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า ล่าสุด สปส.รายงานได้โอนเงินเยียวยาใน 10 จังหวัดเข้าบัญชีแล้ว 2,434,182 คน เบิกจ่ายเป็นเงินรวม 6,085.45 ล้านบาท ส่วนมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ นั้น ยังมีการใช้สิทธิ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดซึ่งมีผู้ใช้สิทธิ์สะสมรวม 37.66 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมรวม 58,495.4 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิ์ 23.22 ล้านคน ยอดใช้จ่าย 52,466.8 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิ์ 63,093 คน ยอดใช้จ่าย 977.5 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิ์ 13.45 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 4,760.2 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิ์ 931,228 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 290.9 ล้านบาท
“โครงการคนละครึ่ง ตอนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบริการแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมระบบเสร็จสิ้นและพร้อมใช้งานได้ในเดือน ต.ค.นี้ เพื่อรองรับการใช้จ่าย หลังกระทรวงการคลังโอนเงินคนละครึ่งรอบ 2 อีก 1,500 บาท ที่ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นปี 2564” นายธนกรกล่าว
วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ เมื่อองค์กรภาคเอกชน 5 สถาบันจังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดนครราชสีมา, เครือข่าย Biz Club นครราชสีมา และชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดออกแถลงการณ์ผ่านสื่อโซเชียล เรียกร้องให้นักการเมืองโคราชเร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนชาวโคราช
นายศักดิ์ชายระบุว่า เราอยากเรียกร้องไปยังผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางในโคราช อันได้แก่ 2 รัฐมนตรี, 2 ส.ว. และ 14 ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของพวกเราชาวโคราช ได้ออกมารวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ออกมาช่วยคิด ช่วยทำ ร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการที่จะบรรเทาวิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปให้เร็วที่สุด
“ท่านรัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.ที่เป็นคนโคราชทุกท่านครับ ช่วงนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงให้เห็นถึงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ชัด ให้คนโคราชได้เห็นว่าทุกท่านได้ร่วมมือกันเพื่อช่วยชาวโคราช ออกมาเถอะครับ เพราะทุกวินาทีที่ท่านล่าช้าคือการทำงานหนักขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์ คือตัวเลขความตายที่สูงขึ้น”
สำหรับข้อเรียกร้องนั้น ประกอบด้วย 1.ขอให้เร่งจัดหาวัคซีนทั้งวัคซีนของทางภาครัฐ และวัคซีนทางเลือก นำมาฉีดให้กับประชาชนในจังหวัดให้ครอบคลุมได้มากกว่า 70% โดยเร็วที่สุด 2.ขอให้ใช้ศักยภาพในทุกทางจัดหาชุดตรวจโควิด Antigen Test Kits (ATK) เพื่อทำการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงและประชาชนทั่วไปให้ทั่วถึงรวดเร็วที่สุด 3.ช่วยหาแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ Micro SME และ SME โดยเน้นไปที่สถาบันการเงินของรัฐ และ 4.ขอขยายเวลาการลงทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 40 ออกไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน และเพิ่มวงเงินเยียวยา เพื่อให้กลุ่มอาชีพอิสระที่มีอายุตั้งแต่ 15-65 ปี ได้เข้าถึง
ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่คนโคราชต้องการด่วนที่สุดในเวลานี้คือวัคซีน จึงขอเรียกร้องให้รัฐมนตรี, ส.ส. และ ส.ว. ตัวแทนของคนโคราช ออกมาผลักดันตามบทบาทหน้าที่ของท่าน คือเป็นกระบอกเสียงแทนประชาชนในจังหวัด และหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน ภายในเดือน ก.ย.นี้คนโคราชควรได้รับวัคซีน 70% ของประชากรทั้งหมด
น.ส.สุรีวัลย์ จันทร์ประทักษ์ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เห็นด้วยใน 4 ข้อเรียกร้อง เพราะในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังจะตาย ซึ่งไม่รู้ว่าจะตายเพราะติดโควิดหรือจะตายเพราะอดตาย หรือจะตายเพราะต้องฆ่าตัวตายจากปัญหาทุกอย่างที่มันรุมเร้าแล้วไม่มีทางออก
น.ส.สมลักษณ์ ศรีสุวรรณ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายธุรกิจบิสคลับ กล่าวว่า พวกเราต้องการชุดตรวจโควิด ATK ซึ่งพวกเราเชื่อว่าผู้แทนราษฎรทุกท่านจะช่วยดำเนินการส่งให้ประชาชนทุกบ้านเหมือนตอนส่งเอกสารมาเชิญชวนให้ประชาชนมาเลือกตั้งท่านด้วย
นายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร กล่าวว่า ขอให้นักการเมืองโคราชทั้ง 18 คนออกมาช่วยกันบ้าง ลองสู้ ลองคิด ช่วยชาวโคราช ก่อนที่จะไม่มีลมหายใจตายกันหมด
นอกจากนี้ องค์กรภาคเอกชน 5 สถาบันยังได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เพื่อให้ช่วยดำเนินการเร่งผลักดันข้อเรียกร้องทั้งหมดให้ประสบผลสำเร็จด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |