ฉีดไฟเซอร์ด่านหน้าแล้ว 5.7 หมื่นคน ยังไม่มีอาการข้างเคียงสาหัส สธ.จับตาใกล้ชิดอีก 5 วัน เผย ส.ค.เตรียมกระจายวัคซีนมะกันไป 13 จังหวัดแดงเข้ม ส่วนเข็ม 3 ของประชาชนทั่วไปรอปีหน้า ภูมิใจไทยเซ็งดรามา ซัดการเมืองใหม่ที่แสนสกปรก
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์การฉีดวัคซีนในวันที่ 7 ส.ค.ว่า มีการฉีด 198,527 โดส ทำให้มียอดสะสม 20,478,635 โดส
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 1.5 ล้านโดสให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ว่า ได้ฉีดแล้ว 5.7 หมื่นคน ส่วนอาการหลังการฉีดนั้น จากข้อมูลศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาที่เฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ พบภาวะข้างเคียงหลังฉีด 2 อาการหลัก คือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งขณะที่วัคซีนอยู่ในการวิจัยไม่พบภาวะดังกล่าว แต่พบในตอนฉีดกลุ่มคนจำนวนมากแล้ว คล้ายกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ไม่พบผลข้างเคียงเกี่ยวกับลิ่มเลือดอุดตัน แต่มาเจอหลังฉีดในคนจำนวนเยอะๆ ดังนั้นภาวะไม่พึงประสงค์นี้จะพบก็ต่อเมื่อใช้จำนวนมาก
“จากกราฟการเปรียบเทียบเคสเป็นจำนวนอายุที่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เนื่องจากอเมริกาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ได้ตั้งแต่อายุ 12-60 ปี โดยพบว่าในเข็มที่ 1 พบเพียง 5-10 คน ซึ่งเจอในเข็มที่ 2 เยอะกว่า โดยเฉพาะในคนอายุน้อยกว่า 30 ปี พบมากสุด ซึ่งมีจำนวน 1,226 คน จากการฉีดวัคซีน mRNA ไปกว่า 300 ล้านโดส หรือประมาณ 4 คนต่อ 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการหลังรับวัคซีนไปภายใน 5 วันแรก โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก ใจสั่น แต่ไม่มีเสียชีวิต ซึ่งกรณีไทยนั้นหากฉีด 1.5 ล้านโดส ก็อาจพบภาวะข้างเคียงประมาณ 6 คน” นพ.โสภณกล่าวและว่า ข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นการเรียนรู้ประสบการณ์ภาวะไม่พึงประสงค์หลังจากรับวัคซีน mRNA จากประเทศที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากกว่าไทย แม้ว่าไทยยังไม่เจอภาวะข้างเคียง เนื่องจากฉีดวัคซีนไปเพียงกว่า 5.7 หมื่นคน แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอาการอย่างเข้มงวด
นพ.โสภณยังเผยถึงแผนการกระจายวัคซีนในเดือน ส.ค.ว่า ไฟเซอร์ล็อตถัดไปในวันที่ 9 ส.ค.จะกระจายไปใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยกระจายไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ, กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง, หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งจะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนได้ในช่วงกลางสัปดาห์ ส่วนใน 29 จังหวัดควบคุมจะไม่ได้แค่ไฟเซอร์ แต่จะได้ทั้งวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าด้วย โดยแต่ละสัปดาห์จะส่งวัคซีนไปต่างจังหวัดในจำนวน 2 ล้านโดส รวม 4 สัปดาห์ 10 ล้านโดส ดังนั้นรวมวัคซีนที่ส่งไปยังต่างจังหวัดกว่า 80% โดยครึ่งหนึ่งจะถูกส่งไปใน 29 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการระบาดและตั้งเป้าฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 ให้ได้ 70% และประมาณต้นปีหน้าจะฉีดให้คนที่ยังไม่ได้วัคซีนเลยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และฉีดเข็มบูสเตอร์ให้ประชาชนทั่วไป
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ภูมิคุ้มกันหมู่ที่ต้องการเพื่อหยุดยั้งการระบาดของเชื้อโควิด-19 นั้น ไทยต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 85% จึงจะหยุดยั้งการระบาดของสายพันธุ์เดลตาได้ และ หากทั่วโลกต้องการวัคซีนเพิ่มกันหมดทุกประเทศ ปริมาณวัคซีนขณะนี้จะยิ่งไม่เพียงพอมากขึ้น และในบางประเทศจะเริ่มใช้เข็ม 3 อีก จะทำให้ยิ่งขาดแคลนวัคซีนเพิ่มขึ้น
ที่ จ.ขอนแก่น โลกโซเชียลมีเดียและเพจต่างๆ ทั่วทั้งจังหวัดได้เผยแพร่แถลงการณ์จากองค์กรแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น ในการขอรับวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าของ รพ. หลังพบว่าได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์จากสำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น เพียง 700 คน จากที่มีอยู่ 1,400 คน โดย นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้รับทราบถึงแถลงการณ์แล้ว ซึ่ง รพ.ขอนแก่นจะเริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้ด่านหน้าวันที่ 9 ส.ค.ตามที่ สสจ.จัดสรรให้รอบแรก 700 คน โดยจังหวัดได้รับการจัดสรรวัคซีนรอบแรก 9,480 โดส จากที่นำเสนอขอรับ 17,035 คน โดย รพ.ขอนแก่นขอรับ 1,400 คน รพ.ศรีนครินทร์ 5,200 คน ดังนั้นในรอบแรกที่จังหวัดได้รับมานั้น คณะทำงานได้เร่งจัดสรรตามสัดส่วนโดยแบ่งเฉลี่ยกันตามที่ได้รับมาแต่ละรอบ ซึ่ง รพ.ขอนแก่นได้รับการจัดสรร 700 คน เท่ากับ 50%
ขณะเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียได้นำภาพซึ่งระบุว่ามาจากงานภารกิจของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 7 ส.ค.เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่โรงพยาบาลท่าตะโก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ มาโพสต์พร้อมระบุข้อความว่ารองนายกฯ เคลมว่าวัคซีนไฟเซอร์เป็นผลงานของตนเองนั้น ว่าเป็นการแสดงข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงและทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด และจากการตรวจสอบก็ไม่พบข้อความที่ส่งต่อทางโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด
“การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลบนข้อมูลและเป็นความจริง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนทำได้อยู่แล้ว แต่ขอความร่วมมืออย่าสร้างและส่งต่อข้อมูลที่ก่อความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นที่จะกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ต้องปฏิบัติงานอย่างหนัก”
นายวัชรพงศ์ คูวิจิตสุวรรณ เลขานุการ รมว.สธ.ระบุว่า อยู่ด้วยตลอดทั้งงาน ขอพูดด้วยความสัตย์จริงว่าไม่มีป้ายนี้ และขอถามคนในงานว่ามีใครเห็นป้ายนี้บ้าง ป้ายที่เห็นมีเพียงไม่กี่ป้าย อาทิ ป้ายโรงพยาบาล ป้ายห้องประชุม และป้ายบนเวที ซึ่งเขียนว่า “นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนครสวรรค์ วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2564” อันนี้คือป้ายเดียว
นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงดรามาป้าย รมต.มอบไฟเซอร์ว่า "ไม่มีอะไรมากกว่าการเล่นการเมืองสกปรกของพวกขี้แพ้ซ้ำซาก ที่จับเอาทุกประเด็นมาโจมตีรัฐบาลโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง นี่คือการเมืองน้ำเน่าสกปรก เช่นการที่คนของฝ่ายปลุกปั่นไปเคลมว่าตัวเองมีส่วนนำไฟเซอร์จากสหรัฐเข้ามา พอสหรัฐแถลงว่าไม่จริง พวกเขาก็เงียบ ยิ้มแหะๆ แล้วก็จากไป ต่อมาพวกเขาบอกว่าจะหาไฟเซอร์เข้ามาในเดือน ก.ค. พูดจนหุ้นในกลุ่มพุ่งเอาๆ แต่เมื่อทำไม่ได้ พวกเขาก็เงียบ ยิ้มแหะๆ แล้วก็จากไป จากนั้นเมื่อตำรวจที่มีหน้าที่รับผู้ป่วยได้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 พวกเขาตั้งหน้าตั้งตาด่า แต่เมื่ออาสาในกลุ่มพวกเขาได้รับ พวกเขาก็เงียบ ยิ้มแหะๆ แล้วก็จากไป มีกี่เรื่องแล้ว ที่คนกลุ่มนี้เอาแต่วิจารณ์โดยไม่สนใจข้อเท็จจริง เป็นการทำงานการเมืองที่แสนสกปรก และไร้ค่าสิ้นดี การเมืองใหม่ที่แสนสกปรก".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |