เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เกี่ยวกับการประกาศลดวงเงินคุ้มครองเงินฝาก เหลือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 สถาบันการเงิน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 ส.ค.นี้
ประเด็นนี้ถูกพูดถึง และนำไปเชื่อมโยงในประเด็นการเมืองมากมาย โดยเฉพาะหลายคนยังไม่เข้าใจดีพอ และนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล
แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งหมดเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด
เพราะเรื่องการลดการคุ้มครองเงินฝากนั้น อยู่ในแผนการตามกฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งกำหนดมานานแล้ว ตั้งแต่ยุครัฐบาลขิงแก่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการร่างกฎหมายพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 13 กุมภาพันธ์ 2551 มีผลบังคับใช้ 180 วัน ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งมีการจัดตั้ง ‘สถาบันคุ้มครองเงินฝาก' จะทำหน้าที่คุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงิน โดยใช้เงินกองทุนคุ้มครองผู้ฝาก ที่สถาบันการเงินส่งเงินสมทบเป็นประจำ 0.01% ของยอดเงินฝาก แทนที่เวลาธนาคารล้มจะให้รัฐบาลนำเงินภาษีประชาชนมาอุ้มเหมือนในอดีต
โดยในกฎหมาย กำหนดให้คุ้มครองเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ตามจำนวนเงินฝากที่ปรากฏในบัญชีของผู้ฝากทุกบัญชีรวมกัน หากมีหนี้สินค้างชำระให้หักเงินออกมาก่อน แล้วจ่ายคืนส่วนที่เหลือ (มาตรา 53) โดยคิดเป็น 1 ผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน รวมทุกบัญชี แต่ไม่นับรวมสถาบันการเงินอื่น
แต่การจะลดวงเงินคุ้มครองตามกฎหมายทันที อาจจะกระทบกระเทือนในแง่จิตวิทยา รัฐบาลจึงให้เวลาประชาชนในการปรับตัว เลยมีบทเฉพาะกาล ปีแรกให้คุ้มครองเงินฝากเต็มตามจำนวนเงินที่ปรากฏในบัญชี, ปีที่สอง (2552) ไม่เกิน 100 ล้านบาท, ปีที่สาม (2553) ไม่เกิน 50 ล้านบาท และปีที่สี่ (2554) ไม่เกิน 10 ล้านบาท
จนมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไป พ.ศ.2559 กำหนดให้ปีที่หนึ่ง ปีที่สอง (2559, 2560) ไม่เกิน 15 ล้านบาท, ปีที่สาม (2561) ไม่เกิน 10 ล้านบาท และปีที่สี่ (2562) จำนวน 5 ล้านบาท และจะเหลือคุ้มครอง 1 ล้านบาท ตั้งแต่ปีก่อน (2563) แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกรวมถึงไทย ต้องรักษาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินต่อระบบสถาบันการเงิน และเลื่อนมาเป็นวันที่ 11 ส.ค.2564 ตามที่มีประกาศ
ถามว่า การปรับลดวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทนั้น จะส่งผลกระทบต่อผู้ฝากเงินหรือไม่นั้น
หากประเมินในทางสถิติ ก็ต้องบอกว่า มีผลกระทบน้อยมาก เพราะมีการสำรวจแล้วมีผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 98.03 ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนอีกร้อยละ 1.97 ที่มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ก็น่าจะดูแลตัวเองได้ และที่สำคัญในตอนนี้ ระบบสถาบันการเงินของไทยก็ค่อนข้างเข้มแข็ง และมีความระวังตัวสูงมากหลังจากผ่านวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 มา ดังนั้นเรื่องที่จะเห็นแบงก์ล่ม คงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรระบุว่า แม้จะลดวงเงินฝากคุ้มครองมาที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน หากมองในมิติเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ความคุ้มครองจะครอบคลุมประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 5 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์รวมทั้งหมด เนื่องจากประกอบด้วยบัญชีบุคคลรายย่อยที่มีฐานะ บัญชีเงินฝากกลุ่มสถาบัน หรือธุรกิจ ที่มีมูลค่าเงินฝากต่อบัญชีจำนวนมากกว่า 1 ล้านบาทในสัดส่วนอีก 4 ใน 5 ที่เหลือ ซึ่งมองว่ากลุ่มผู้ฝากเหล่านี้มีความรู้เพียงพอที่จะดูแลความมั่งคั่งของตนให้ปลอดภัยได้ รับความเสี่ยงจากการออม/ลงทุนได้มากกว่า รวมถึงใช้บัญชีเงินฝากเพื่อเป็นทางผ่านของธุรกรรมการเงินเพื่อธุรกิจมากกว่าการออมเพื่อได้รับความคุ้มครองเงินต้นและดอกเบี้ย
ขณะที่การลดวงเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองยุคโควิด...ผลกระทบต่อการย้ายเงินฝากน่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีสถานะสภาพคล่องและเงินทุนที่แข็งแกร่ง จึงทำให้ยังเป็นตัวเลือกที่ดีในการฝากเงินและสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากว่าจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |