สงครามโควิด-19 ของไทยเรากำลังเข้าสู่ “ฉากใหม่” แล้ว ไม่ว่าจะพิจารณาจากจำนวนคนติดเชื้อหรือผู้เสียชีวิตที่ไต่ขึ้นตลอดเวลา
และมีคำพยากรณ์จากคุณหมอในกระทรวงสาธารณสุขว่า จำนวนที่ว่านี้จะวิ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดหรือ “พีก” ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า
เพราะศัตรูร้ายกาจของเรามีความสามารถในการกลายพันธุ์ได้อย่างคล่องแคล่ว
ทำให้วัคซีนที่เรากำลังเร่งฉีดขณะนี้อาจจะมีประสิทธิผลต่ำกว่าที่ควร
ทุกแผนที่วางเอาไว้อาจจะต้องมาปรับให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทุกขณะ
ตัวเลขประจำวันที่ผมจับตาหลายชุด มีทั้งตัวเลขติดเชื้อใหม่, ตัวเลขคนหายป่วยกลับบ้าน, จำนวนผู้เสียชีวิต
และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ จำนวนผู้ป่วย “อาการหนัก” และที่ต้องใช้ “เครื่องช่วยหายใจ”
ล่าสุดก็ต้องเจาะไปดูจำนวนคนป่วยที่อยู่ในประเภท “ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย” หรือ probable cases ที่ต้องนำมาพิเคราะห์ร่วมกับจำนวนตัวเลขคนป่วยยืนยันหรือ confirmed cases
ตัวเลขทุกตัวที่ผมเฝ้าระวังล้วนแต่ขยับขึ้นทั้งนั้น
ตัวเลขหนึ่งที่เพิ่มขึ้นและเป็น “ข่าวดี” บ้าง ก็คือจำนวน “ผู้หายป่วยกลับบ้าน”
ที่ช่วงหลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต
จนเกิดคำถามว่าเป็นเพราะอะไร? หายป่วยจริงหรือไม่?
ได้รับคำอธิบายจากทางการที่สะท้อนว่าเรากำลังต้อง “ปรับยุทธศาสตร์” การ “บริหารเตียง” หรือ Bed Management ให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่เปลี่ยนไปทุกวัน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงว่า เหตุที่ยอดคนหายป่วยกลับบ้านสูงขึ้นในระยะหลัง จนล่าสุดแซงยอดผู้ติดเชื้อใหม่ เพราะผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการและให้กลับบ้านหลังผ่านไป 7-10 วัน โดยย้ำว่าการกลับไปแล้วต้องไปแยกกักตัวรักษาแบบ Home Isolation ซึ่งยังมีแพทย์ติดตามอาการผ่านระบบเทเลเมดิซีน และมีอาหารส่งให้ 3 มื้อเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยออกไปนอกบ้าน
“เราต้องทำอย่างนี้ เราพยายามจะรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งจะมีปริมาณเชื้อมากกว่าคนที่อยู่ในโรงพยาบาลมาแล้ว 7-10 วัน อันนี้ตรงไปตรงมาว่า เรารับคนที่ติดเชื้อใหม่ซึ่งแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าคนที่ติดเชื้อไปแล้ว 10 วัน” นพ.สมศักดิ์กล่าว
นพ.สมศักดิ์บอกว่า การรับมือโควิดเราต้องปรับตามสถานการณ์ เพื่อดูว่าจะทำอย่างไรให้ดูแลรักษาพยาบาลประชาชนให้ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งถ้าเป็นรายใหม่ไม่เข้าโรงพยาบาลจะแพร่เชื้อมากกว่าคนที่ติดเชื้อไปแล้ว 10 วันแน่ๆ และอย่างที่ย้ำว่าแม้จะผ่านไป 10 วัน แต่ก็ยังมีมาตรฐานในการดูแล จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจ
นั่นแปลว่า ผู้ป่วยต้องรับรู้แล้วว่าต่อแต่นี้ไปจำนวนวัน “ครองเตียง” จะสั้นลง เพื่อเปิดทางให้ผู้ป่วยรายใหม่ที่อาจจะมีเชื้อในตัวมากกว่านั้นได้เข้ามาใช้เตียงเร็วขึ้น
เหตุผลหลักก็คือว่า เราไม่รู้ว่าเจ้าสายพันธุ์ Delta นี้จะอาละวาดหนักหน่วงรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกอย่างไร
เอกสารภายในของ CDC (หน่วยควบคุมโรคของสหรัฐฯ) ยอมรับว่าเจ้า Delta ทำให้ “สงครามต้องเปลี่ยนไป”
เพราะเชื้อเดลตาแพร่ได้เร็วและสาหัสขึ้นกว่าเดิม
เชื้อเดลตาที่ว่านี้มี spike protein ที่แตกต่างจากเดิมมาก
วัคซีนที่ใช้อยู่อาจช่วยป้องกันการตายและอาการหนัก แต่ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ
ประเมินว่าผู้ป่วยติดเชื้อเดลตา 1 คนอาจแพร่กระจายให้คนอื่นได้มากกว่า 5 คน
ร้ายแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา หรือไข้ทรพิษ
และแพร่ได้เร็วพอๆ กับโรคอีสุกอีใสทีเดียว
นั่นแปลว่าต้องทำให้ต้องมีระดับภูมิคุ้มกันหมู่หรือ herd immunity ยิ่งสูงกว่าที่เคยคำนวณกันไว้จึงจะระงับการระบาดได้
อีกทั้งยังพบว่าแม้ฉีดวัคซีน mRNA ก็ลดการแพร่เชื้อลงได้เพียงสองในสามหรือน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ
อีกทั้งงานวิจัยยังพบว่าเจ้า Delta นี้อาจมีเชื้อในผู้ป่วยมากกว่าสายพันธุ์ Alpha ถึง 10 เท่า ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่า มีอัตราตายสูงกว่าเดิมเกินสองเท่า เข้าห้องไอซียูมากกว่าเกินสามเท่าโดยเฉพาะถ้าไม่ฉีดวัคซีน
เท่ากับเรากำลังวิ่งตามศัตรู
ยุทธศาสตร์ที่จะเอาชนะได้ต้องยอมรับเผชิญความจริง และเลือกแนวรบสำคัญๆ ที่จะปักหลักสู้
ไม่เหวี่ยงแห ไม่สู้สะเปะสะปะ และระดมทรัพยากรจากเอกชนและความร่วมมือของประชาชนอย่างเต็มกำลัง จึงจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อันมืดมนขณะนี้ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |