การฉีดวัคซีนได้เร็วเท่ากับป้องกันอันตรายจากโควิด-19 และโควิดระยะยาว หรือที่เรียกว่า “ลองโควิด”
เคยมีการนำเสนอรายงานผลการศึกษา Long Covid หรืออาการระยะยาวของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ไปบ้างแล้ว ผลการศึกษาล่าสุดจากทางสหราชอาณาจักรเปิดเผยให้ทราบว่า “ลองโควิด” น่ากลัวกว่าที่คิดไว้มาก
คำจำกัดความของ “ลองโควิด” ที่นิยามไว้โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ หรือ CDC หมายถึง “สภาวะและอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากได้รับเชื้อแล้วเป็นเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไป”
วารสาร The LANCET ตีพิมพ์ผลการศึกษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ชื่อ Long Covid in adults discharged from UK hospitals after Covid-19 : A prospective, multicentre cohort study using the ISARIC WHO Clinical Characterisation Protocol
มีผู้หายป่วยจากโควิด-19 จำนวน 327 คน ให้ความร่วมมือ ระยะเวลาเฉลี่ยของผู้ที่รายงานข้อมูลต่อผู้ทำการศึกษาอยู่ที่ 222 วัน สัดส่วน 81 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวตะวันตกผิวขาว ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์เคยสูบบุหรี่มาก่อน มีอาการร่วมของโรคหอบหืดราว 20 เปอร์เซ็นต์ โรคเบาหวาน 19 เปอร์เซ็นต์ ใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างการรักษา 28 เปอร์เซ็นต์
ขออนุญาตคัดบางส่วนมานำเสนอ โดยเฉพาะผลของการศึกษา ดังนี้
สัดส่วน 54.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมไม่รู้สึกว่าพวกเขาหายป่วยอย่างเด็ดขาดจากโควิด-19 แม้จนกระทั่งสิ้นสุดการศึกษาแล้วก็ตาม เบื้องต้นไม่พบความเชื่อมโยงชัดเจนของปัจจัยด้านเพศ อายุ เชื้อชาติ และโรคหรือสภาวะเจ็บป่วยร่วม อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้ที่ป่วยโควิด-19 ด้วยอาการที่รุนแรงมีแนวโน้มจะหายป่วยอย่างเด็ดขาดได้น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
อาการใหม่หรืออาการที่เกิดต่อเนื่องเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมการศึกษาถึง 93.3 เปอร์เซ็นต์ อาการที่พบมากสุดคือ อ่อนเพลีย 82.8 เปอร์เซ็นต์ หายใจติดขัด 53.5 เปอร์เซ็นต์ และมีปัญหาในการนอนหลับ 46.2 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ผลการศึกษาได้พบกลุ่มอาการร่วมกันใน 2 กลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มที่มีอาการอ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และการสูญเสียความสามารถของระบบประสาทรับสัมผัส 2.กลุ่มอาการสูญเสียความสามารถในการรับรสชาติ-กลิ่นอาหาร ความอยากอาหาร น้ำหนักลด และปัญหาปัสสาวะติดขัด
สำหรับกลุ่มแรกนั้นมักมีกลุ่มอาการย่อยที่เด่นชัดอีกอย่างคือความสามารถในการเคลื่อนไหวลดลง อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปัญหาในการทรงตัว รวมถึงแขนขาอ่อนแรง
ผลการศึกษาพบว่า 46.8 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมมีสภาวะหายใจลำบากมากกว่าก่อนเป็นโรคโควิด-19 โดยรวมแล้วอาการหายใจลำบาก ไม่มีความเชื่อมโยงกับอายุหรือจำนวนของโรคร่วม แต่พบสูงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้หญิง (54.1 เปอร์เซ็นต์ ในเพศหญิง และ 41.7 เปอร์เซ็นต์ ในเพศชาย) นอกจากนี้พบว่าผู้ที่ไม่เคยมีสภาวะหายใจลำบากก่อนป่วยด้วยโควิด-19 ต้องประสบกับสภาวะนี้หลังออกจากโรงพยาบาลในระดับ 2 (จากทั้งหมด 5 ระดับ) ในสัดส่วน 34 เปอร์เซ็นต์ และขึ้นไปถึงระดับ 3-5 สัดส่วน 25.6 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาโควิด-19 ด้วยอาการหนัก เมื่อรักษาจนออกจากโรงพยาบาลแล้วก็พบอาการหายใจลำบากมากขึ้นในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่น
สำหรับอาการอ่อนเพลียนั้น โดยรวมแล้วระดับความอ่อนเพลียจะมากหรือน้อยไม่ได้เชื่อมโยงกับปัจจัยด้านอายุและความรุนแรงของโรคระหว่างที่รับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้เข้าร่วมที่เป็นผู้หญิงมีระดับความอ่อนเพลียสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย (จาก 10 ระดับ เพศหญิงอยู่ที่ระดับ 6 โดยเฉลี่ย ส่วนเพศชายอยู่ที่ระดับ 4)
เป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเพศหญิง เพราะยังพบว่าผู้หญิงมีอาการสูญเสียสมรรถภาพบางด้านเกิดขึ้นใหม่หรือสูญเสียเพิ่มขึ้นในสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย (29.6 เปอร์เซ็นต์ ในเพศหญิง และ 20.3 เปอร์เซ็นต์ในเพศชาย) การสูญเสียสมรรถภาพอันดับ 1 คือการเดินและการเคลื่อนไหวร่างกาย ตามมาด้วยการสูญเสียสมรรถภาพหรือความสามารถในการจดจำและการมีสมาธิจดจ่อ
ผลการศึกษายังพบว่า ผู้หญิงสูญเสียสมรรถภาพหรือความสามารถในการมองเห็น การเดิน และการจดจำอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าผู้ชาย (ตั้งแต่อาการเกิดใหม่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงขึ้นกว่าเดิม) นอกจากนี้ยังพบความเชื่อมโยงของผู้หญิงกับปัญหาในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ชาย ทั้งกิจกรรมทั่วไป อาการเจ็บปวดหรือความไม่สะดวกสบาย ความวิตกกังวล และความหดหู่ซึมเศร้า
เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ชายอายุน้อยกว่า 50 ปี, ผู้ชายอายุระหว่าง 50-69 ปี, ผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป, ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 50 ปี, ผู้หญิงอายุระหว่าง 50-69 ปี และผู้หญิงอายุ 70 ปีขึ้นไป พบว่ากลุ่มผู้หญิงอายุน้อยกว่า 50 ปี ตอบว่ารู้สึกหายป่วยได้อย่างเด็ดขาดน้อยกว่ากลุ่มอื่นเฉลี่ยถึง 5 เท่า พอๆ กับกลุ่มที่ได้รับการใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างการรักษาที่ตอบว่าหายป่วยอย่างเด็ดขาดน้อยกว่ากลุ่มอื่นระหว่าง 3-6 เท่า
มากไปกว่านั้น ผู้หญิงกลุ่มอายุน้อยกว่า 50 ปีมีแนวโน้มที่จะประสบกับอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียมากกว่าผู้ชายในกลุ่มเดียวกัน, มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการหายใจลำบากมากกว่า 7 เท่า, มีแนวโน้มที่จะมีการสูญเสียสมรรถภาพบางอย่างมากกว่า 2 เท่า และมีสภาวะของสุขภาพที่แย่กว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนผู้เข้าร่วมการศึกษาที่มีโรคอื่นร่วมด้วย 1 โรคหรือมากกว่า ก็มีแนวโน้มที่จะพบอาการอ่อนเพลีย, สูญเสียสมรรถภาพบางอย่าง และมีสภาวะของสุขภาพที่แย่ลงมากกว่าผู้ที่ไม่มีโรคร่วม
การอภิปรายผลในตอนท้ายระบุว่า การที่พบผู้หญิงอายุน้อยซึ่งเข้ารับการรักษาโควิด-19 โดยมีอาการรุนแรงนั้น ถือเป็นตัวทำนายสำคัญว่าจะเกิดอาการระยะยาวหลังออกจากโรงพยาบาล หรือ “ลองโควิด” แต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปัจจัยใดทำให้ผลออกมาเป็นเช่นนี้ ต้องมีการศึกษาที่เจาะจงและเข้มข้นมากขึ้นต่อไป
ผู้ทำการศึกษาแนะนำให้มีการจัดระบบประสานงานการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ที่ประสบกับภาวะ “ลองโควิด” ให้มีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นผู้ที่มีอาการร่วมหลายอย่างอาจต้องเสียเวลาไปพบผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน
ขณะที่วารสาร British Medical Journal หรือ BMJ ตีพิมพ์บทความ Long covid – mechanisms, risk factors, and management เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม และแก้ไขล่าสุดวันที่ 3 สิงหาคม เป็นผลการศึกษาที่ได้จากการคัดเอกสาร จำนวน 61,881 ชิ้น จนเหลือ 227 ชิ้น ทีมงานหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วเขียนเป็นรายงาน ต่อท้ายด้วย 218 หลักฐานอ้างอิง
ขอยกเฉพาะรายละเอียดของอาการ “ลองโควิด” มานำเสนอดังนี้
• อ่อนเพลีย (Fatigue)
อาการอ่อนเพลียเป็นมากกว่าลักษณะการเหนื่อยล้าธรรมดา เป็นอาการเหนื่อยและอ่อนแรงต่อเนื่องจนกำลังวังชา แรงกระตุ้น และความจดจ่อของสมาธิลดลงอย่างเห็นได้ชัด ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและรักษาอยู่ที่บ้านเกิดอาการอ่อนเพลียหลังตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้ว 92.9 เปอร์เซ็นต์ และ 93.5 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ โดยเฉลี่ยมีอาการอยู่ 79 วัน และสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ยังมีอาการอ่อนเพลียต่อเนื่องถึง 12 เดือน
• หายใจลำบาก (Dyspnea)
อาการหายใจลำบาก หายใจติดขัด เป็นอีกหนึ่งอาการของ “ลองโควิด” ที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป เป็นความผิดปกติของการซึมซาบผ่านของคาร์บอนมอนอกไซด์, ความจุของปอด, ปริมาตรของอากาศที่เป่าออกอย่างเร็วแรงในวินาทีที่ 1, ปริมาตรของอากาศที่เป่าออกจนหมดหลังจากหายใจเข้าอย่างเต็มที่ และการทำงานของหลอดลมเล็ก เกิดกับผู้ป่วยโควิด-19 ในวันที่ออกจากโรงพยาบาล หรือประมาณ 1 เดือนหลังป่วยด้วยโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าการทำงานของปอดของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นตัว การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า 43.4 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยยังคงหายใจลำบากแม้หลังรับเชื้อโควิด-19 ผ่านไปแล้ว 60 วัน
• ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular abnormalities)
ความผิดปกติของหัวใจและระดับโทรโปรนินหัวใจที่เพิ่มขึ้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิด-19 รุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ และความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดอาจจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้งยิ่งขึ้นสำหรับผู้ที่ประสบกับภาวะ “ลองโควิด”
การศึกษาชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ความผิดปกติของหัวใจ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และการเพิ่มระดับของโปรโปรนินเกิดขึ้นกับผู้ที่หายป่วยจากโควิด-19 จำนวนหลายคนแม้ผ่านไป 71 วันหลังตรวจพบเชื้อ มีหลายกรณีที่แสดงให้เห็นว่าอาการเจ็บหน้าอกอาจเป็นเพราะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พบบ่อยแม้ล่วงเลยไปถึงวันที่ 60 หลังตรวจพบเชื้อ คิดเป็น 21.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอก
นอกจากนี้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น คนอายุน้อย หรือนักกีฬา ก็ยังพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบอีกเป็นเวลานานหลังฟื้นจากโควิด-19 แล้ว และในบางการศึกษาพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ผู้หายป่วยจากโควิด-19 จะมีลักษณะของกลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่าร่างกาย
• การรับรู้และสุขภาพจิต (Cognition and mental health)
ผู้ที่หายป่วยจากโควิดยอมรับว่ามีอาการสมองล้า (Brain fog) อาการมากน้อยแตกต่างกันไป ก่อนมีการระบาดของโควิด-19 นั้น การศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยไอซียู 1,040 รายที่ภาวะหายใจล้มเหลว หรือช็อก หรือทั้ง 2 อย่าง พบว่า 71 เปอร์เซ็นต์มีอาการเพ้อคลั่ง ซึ่งดำรงอยู่ต่อไปอีกประมาณ 4 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าไอซียูและใช้เครื่องช่วยหายใจนั้น ความบกพร่องในการรับรู้และอาการเพ้อคลั่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาในระดับที่น่ากังวลเช่นกัน
การอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองและอาการปวดศีรษะนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้ที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรง และประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่รอดชีวิตจากโควิด-19 จะมีอาการปวดศีรษะต่อไปอีกเฉลี่ย 5 สัปดาห์
โรคโควิด-19 ยังมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นโรคระบบทางประสาท เช่น โรคภูมิคุ้มกันแปรปรวน กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (GBS) และโรคความเสื่อมของระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์
การระบาดของโควิด-19 อาจส่งผลทางลบต่อสุขภาพจิตใจของผู้ป่วยในระยะยาว อาทิ อาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (PTSD), ภาวะซึมเศร้า, ความวิตกกังวล และอาการย้ำคิดย้ำทำ
อีกอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปหลังหายจากโควิด-19 คือภาวะการนอนไม่หลับ การศึกษาจำนวนมากพบว่าคุณภาพในการนอนหลับที่ต่ำเกิดขึ้นได้บ่อยในผู้ที่ฟื้นจากการเจ็บป่วยรุนแรง อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามตามมาเหมือนกันว่าการนอนหลับยากนี้เกิดจากการติดโควิด-19 หรือผลทางลบโดยรวมจากการระบาด หรือทั้ง 2 สิ่งรวมกัน
• อาการอื่นๆ โดยทั่วไป
การศึกษาชิ้นหนึ่งได้ประเมินการทำงานของไตของผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าไตทำงานลดลง 35 เปอร์เซ็นต์ แม้หลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว 6 เดือน การศึกษาอีกชิ้นพบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีอาการไม่รุนแรง เมื่อทำการประเมิน 141 วันหลังการติดเชื้อ พบว่าตับอ่อนมีปัญหาเล็กน้อย ปัญหานี้เชื่อมโยงกับอาการท้องเสีย เป็นไข้ ปวดศีรษะ และหายใจติดขัด
ผลการชันสูตรศพและกรณีศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อม้าม รวมถึงต่อมน้ำเหลืองเสื่อม, การลดจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาว ลิมไฟไซต์ชนิด T และ B และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิด “ลองโควิด”
แม้ว่าปัจจัยบางอย่างอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการป่วยโควิด-19 และ “ลองโควิด” ด้วยอาการรุนแรง แต่ก็พบเช่นกันว่าบางปัจจัยที่เชื่อมโยงกับความรุนแรงในการติดเชื้อโควิด-19 กลับไม่เพิ่มความเสี่ยงใน “ลองโควิด”
เพศชายและผู้สูงอายุมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงในการป่วยโควิด-19 ด้วยอาการรุนแรง แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติ สหราชอาณาจักร (ONS) รายงานว่า อาการ “ลองโควิด” เกิดกับเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (23.6 เปอร์เซ็นต์ และ 20.7 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ) โดยกลุ่มอายุที่ได้รับผลกระทบสูงสุดคือ 35-49 ปี (26.8 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยอายุ 50-59 ปี (26.1 เปอร์เซ็นต์) และอายุ 70 ปีขึ้นไป (18 เปอร์เซ็นต์)
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการศึกษาเรื่องปัจจัยเสี่ยงของ “ลองโควิด” จนถึงตอนนี้ยังมีไม่มากพอ การระมัดระวังและป้องกันตนตามมาตรการต่างๆ ที่รัฐกำหนดจึงเท่ากับป้องกันทั้งโควิด-19 และ “ลองโควิด” ไปด้วยในตัว
รวมทั้งฉีดวัคซีนทันทีเมื่อโอกาสมาถึง โดยไม่เกี่ยงยี่ห้อ.
***************
อ้างอิง
- thelancet.com/journals/lanepe/article/PIIS2666-7762(21)00163-0/fulltext
- bmj.com/content/374/bmj.n1648
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |