ก่อนหน้าที่มหกรรมโอลิมปิก ครั้งที่ 32 จะเปิดฉากเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในโตเกียวเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ “โตเกียวเกมส์ 2020” กลายเป็นโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในประวัตศาสตร์ที่ไม่มีคนดูในสนาม
แม้จะไม่มีแฟนกีฬาแต่ไม่ได้ทำให้สีสันของโตเกียวเกมส์ลดลงไปมากนัก เพราะอย่างน้อยก็ยังมีเสียงเชียร์จากบรรดาเพื่อนนักกีฬาและผู้เกี่ยวข้องที่มีไอดีคาร์ดซึ่งเข้ามาอยู่ในบริเวณบับเบิ้ล
ก่อนหน้านั้นคณะกรรมการจัดการแข่งขันก็เตรียมนำเสียงเชียร์ของแฟนกีฬาจากโอลิมปิกครั้งก่อนมาเปิดในแต่ละสนาม เพื่อเป็นส่วนช่วยกระตุ้นนักกีฬาไม่ให้รู้สึกว่าโดดเดี่ยวจนเกินไป
โรเจอร์ เคิร์ตซ์ โค้ชจิตวิทยาทางการกีฬาบอกว่าต้องทั้งเห็นและได้ยินถึงจะมีผลกับนักกีฬา โดยบอกว่าเสียงจำลองที่อัดมานั้นไม่สามารถสร้างพลังให้กับนักกีฬาเหมือนกับเสียงคนจริงๆที่อยู่ในสเตเดียม
“ในสนามกีฬาที่มีฝูงชน พวกเขาต่างส่งเสียงเชียร์นักกีฬาที่เขาชื่นชอบ ซึ่งนั่นจะช่วยดึงพลังงานพิเศษ และช่วยให้นักกีฬาสามารถสร้างผลงานที่ดีออกมาได้จากพลังงานบวกเหล่านั้น”
ในทางตรงข้าม บรรดานักกีฬาที่เป็นมือรองก็จะได้รับผลประโยชน์ที่มากกว่าจากการที่สนามปราศจากคนดู
“ยกตัวอย่างเทนนิสหญิงที่เราจะเห็นมือหนึ่งและมือสองอย่าง แอชลี บาร์ตี และ นาโอมิ โอซากะ ต่างตกรอบกันตั้งแต่ช่วงต้นๆ” เคิร์คซ์กล่าว “นั่นเพราะไม่มีคนดูมาสร้างความกดดันให้กับคู่ต่อสู้ของบาร์ตีและโอซากะ เช่นเดียวกับที่ทั้งคู่ก็จะไม่ได้รับพลังงานพิเศษจากคนดูอย่างที่พวกเธอเคยได้รับในยามปกติ”
อย่างไรก็ตาม โอลิมปิกเกมส์แบบไร้คนดูครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่หาได้ยากมากสำหรับบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างๆในการศึกษาผลกระทบจากบรรดาคนดูและเสียงจากแฟนๆในสนามจะมีผลกระทบกับบรรดานักกีฬามากแค่ไหน
“เทนนิส”พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักเทควันโดหญิงทีมชาติไทย เจ้าของแชมป์เทควันโดโลกคนที่ 4 ของไทยผู้สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองแรกให้กับทัพนักกีฬาไทยในโตเกียวเกมส์ 2020 บอกว่าสำหรับเธอแล้วเสียงเชียร์สำคัญมาก
“ความคิดของนิส การมีเสียงเชียร์ดีกว่า” เจ้าของเหรียญทอง เทควันโดหญิงรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม ในโตเกียวเกมส์ 2020 และเหรียญทองแดงโอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ที่บราซิลกล่าว
“เพราะการแข่งขันกีฬา กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถึงแม้จะมีกองเชียร์ไม่มาก แต่เสียงเชียร์ที่ภาษาแตกต่างจากคนอื่น เราจะสามารถได้ยินชัดเจน ซึ่งกำลังใจเพียงเท่านั้นจะสามารถสร้างพลังในการเล่นอย่างมาก”
จอมเตะสาววัย 23 ปีจากสุราษฎร์ธานียังกล่าวต่ออีกว่า “ถึงแม้เสียงเชียร์คู่แข่งจะมีเยอะก็ตาม แต่สิ่งที่ได้ยินกลับเป็นเสียงกองเชียร์ไทย ซึ่งไม่รู้ว่านักกีฬาคนอื่นเป็นแบบนิสไหม แต่ถึงอย่างไร แข่งแบบมีคนดูดีกว่าไม่มีคนดู”
เช่นเดียวกับ “จูเนียร์” รามณรงค์ เสวกวิหารี นักเทควันโดชายทีมชาติไทย ในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 58 กิโลกรัม ซึ่งยุติเส้นทางการแข่งขันโตเกียวเกมส์ของเขาไว้ที่รอบ Repechages หรือรอบแก้ตัวเพื่อเข้าไปลุ้นเหรียญทองแดงก็ยอมรับว่าเสียงเชียร์ของแฟนๆจะช่วยสร้างพลังแฝง
“ผมชอบแบบมีเสียงเชียร์มากกว่าครับ” จูเนียร์กล่าว “การแข่งขันแบบเงียบๆ บรรยากาศมันดูจะไม่คึกคัก การได้ยินเสียงเชียร์มันจะทำให้เรามีพลังสู้ ถึงแม้ฝีมือจะเป็นรอง แต่เสียงเชียร์อาจช่วยให้เอาชนะคู่แข่งได้”
ทางด้าน “บีช” จุฑาธิป มณีพันธุ์ นักกีฬาจักรยานทีมชาติไทยที่ยอมรับว่ายังแกร่งไม่พอหลังลงแข่งขันจักรยานประเภทถนนหญิงที่โดนกลุ่มใหญ่ทิ้งห่างเกิน 12 นาทีในช่วงกิโลเมตรที่ 80 จนต้องออกจากการแข่งขันตามกติกาบอกว่า เสียงเชียร์มีก็ดี ไม่มีก็ได้
น่องเหล็กสาววัย 33 ปีจากร้อยเอ็ดบอกว่า “มีเสียงเชียร์ก็กระตุ้นดีกว่าค่ะ แต่การไม่มีเสียงเชียร์ก็ไม่ได้กระทบกระเทือนกับการเล่นสักเท่าไหร่ เพราะเราก็ต้องควรมีสมาธิกับเกมการแข่งขันในเวลานั้นๆมากกว่า”
ปิดท้ายกับนักกีฬาระดับโลกอย่าง โนวัก ยอโควิช นักเทนนิสหมายเลขหนึ่งของโลกที่ก่อนการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2 สัปดาห์ได้รับเสียงเชียร์อย่าล้นหลามตอนที่เขาคว้าแชมป์วิมเบิลดับ แกรนด์สแลมบนคอร์ตหญ้า
“ผมได้รับพลังงานมากมายจากแฟนๆในสนาม ไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบก็ตาม” ยอโควิชให้สัมภาษณ์ตอนที่เดินทางมาโตเกียวเพื่อเป็นตัวแทนเซอร์เบียเพื่อล่าเหรียญทองในเทนนิสชาย “นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ยอมยังคงเล่นอยู่”
ไม่รู้ว่าจะเป็นผลจากการไม่มีคนดูในสนามหรือเปล่า แต่ที่สุดแล้ว ยอโควิช แพ้ อเล็กซานเดอร์ ซเวเรฟ นักเทนนิสจากเยอรมนีในรอบรองชนะเลิศ พลาดโอกาสที่จะทำโกลเดนสแลม ด้วยการกวาดทั้ง 4 แกรนด์สแลมและเหรียญทองโอลิมปิกในปีเดียวกันไปเรียบร้อยแล้ว
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |