เมื่อวัคซีนเป็น “อาวุธ” ที่สำคัญที่สุดในการทำสงครามกับไวรัสโควิด-19 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้อง “จัดทัพ” การทำศึกครั้งนี้ใหม่
นั่นคือ จะต้องมี War Cabinet หรือ “ครม.ในภาวะสงคราม” ที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของการบริหารเรื่องใหญ่ๆ ทั้งหมดใหม่
ครม.ฉุกเฉินในภาวะสงครามนี้จะต้องมีทีมงานพิเศษ หรือ Special Task Force ที่ทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหลายทั้งปวงเพื่อจัดหาวัคซีนให้มากที่สุด เร็วที่สุด และมีประสิทธิภาพสูงสุด
สถาบันวิจัย TDRI เสนอให้มี Vaccine Dream Team เป็นการเฉพาะเพื่อจะได้ทำหน้าที่เรื่องวัคซีนอย่างเดียว
เป็นทีมเฉพาะกิจภายใต้แนวการบริหาร War Cabinet ในอันที่จะใช้ทุกกลยุทธ์ในการจัดหาวัคซีนจากทุกแหล่งทั่วโลก เพื่อให้ได้จำนวนและคุณภาพดีพอที่จะฉีดให้ประชาชนมี “ภูมิคุ้มกันหมู่” อย่างเร็วที่สุด
นั่นหมายถึงการที่ War Cabinet จะต้องบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาลใหม่หมด
ต้องโยกงบประมาณมาสู่กิจกรรมที่สำคัญเพื่อเอาชนะสงคราม งบประมาณใดที่ไม่มีความเร่งด่วนหรือไม่ตอบโจทย์การทำศึกสงครามครั้งนี้ก็ต้องตัดทอนและโยกมาสู่งบที่มีลำดับความสำคัญ ด้วยการประเมินบนพื้นฐานของหลักวิทยาศาสตร์และความจริงที่กำลังเผชิญอยู่
ต้องรื้อกำแพงระหว่างกระทรวงทบวงกรม
ต้องรื้อระบบและยกเลิกกฎเกณฑ์กติการาชการทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นอุปสรรคต่อการ “ทำสงคราม” ครั้งนี้
ต้องลงโทษคนที่ทำตามกฎแห่งการทำสงครามนี้อย่างจริงจัง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวผ่านการบันทึกเทปสัมภาษณ์พิเศษของสำนักโฆษกที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงความพยายามในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม
ท่านบอกว่า ได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศและภาคธุรกิจไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิตว่าสามารถเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ ให้ถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลอีกทางนอกจากทางรัฐและกระทรวงสาธารณสุขจัดหา
นายกฯ บอกว่า ถ้าวัคซีนที่พยายามหามาใหม่มีคุณภาพดี เข้ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ก็พร้อมปลดล็อกให้นำเข้าได้ แต่ต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพและนำเข้าได้จริง
มีข่าวด้วยว่า นายกฯ ได้ให้รองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ หารือร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนที่มีศักยภาพเพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมร่วมกับรัฐบาล
หนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลว่า เดิมทีรูปแบบการบริหารจัดการซื้อและนำเข้าวัคซีนของประเทศไทยนั้นต้องผ่าน 5 หน่วยงานหลัก คือ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
แต่รูปแบบการจัดซื้อในครั้งนี้รัฐบาลจะดำเนินงานภายใต้โมเดลใหม่ คือ รัฐร่วมกับภาคเอกชนรายใหญ่ ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ 6 ในการจัดซื้อวัคซีนของประเทศ
“รัฐบาลมีแนวคิดในการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีนมาเป็นระยะ มีการคุยกันมานานแล้วตั้งแต่เดือนเมษายน และได้มีคำสั่งออกมาเป็นมติ ครม.ตั้งแต่เมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งให้ผ่อนคลายเรื่อง EUA Licensing สำหรับการนำเข้าวัคซีน และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรมไปดำเนินการ แต่ดูเหมือนแนวทางดังกล่าวจะล่าช้าเกินไปและไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีเลยสั่งการด้วยตัวเอง” แหล่งข่าวบอกกับประชาชาติธุรกิจ
ย้อนกลับไปดูประกาศ ศบค.ที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 เรื่อง “แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19”
เป็นคำสั่งระบุให้ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมควบคุมโรค, องค์การเภสัชกรรม, สถาบันวัคซีนฯ, สภากาชาดไทย และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หรือหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขแก่ประชาชน ร่วมมือกันในการดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเร่งด่วน
แต่หากยังไม่สามารถดึงเอกชนเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้ได้ก็จะยังไม่สามารถจะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่แท้จริงได้
เพราะแม้ฝ่ายนิติบัญญัติก็ยังเห็นว่าจำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเสริมกำลังรบด้านนี้
คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรบอกนักข่าวว่าได้โทรศัพท์หาคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ว่ามีพรรคพวกที่อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาส่งข้อมูลแนะนำให้ติดต่อขอวัคซีนจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเขามีวัคซีนเหลืออยู่ 50 ล้านโดส
คุณดอนบอกคุณชวนว่าทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ แต่ว่ายังไม่เกิดผลจริงจัง
หากมี War Cabinet คำตอบอย่างนี้คงจะให้ผ่านไปเฉยๆ ไม่ได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |