14มิย.ถกเล็กพรรคการเมือง


เพิ่มเพื่อน    

 

    “ประยุทธ์” ยังกั๊กหารือพรรคการเมือง บอกใครทำก็ได้ แต่สุดท้าย คสช.เป็นผู้ตัดสินทุกอย่าง “วิษณุ” แจงประชุม 14 มิ.ย.แค่วงเล็ก “กกต.” เล่นแง่บอกหากไม่ปลดล็อกก็ทำอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะการกำหนดเขตเลือกตั้ง เตรียมชงสารพันปัญหาและทางแก้เข้าที่ประชุม “สนธิรัตน์” ยันยังเป็นวุ้นพรรคหนุนลุงตู่
    เมื่อวันอังคาร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ     (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ตอบข้อถามถึงการหารือกับพรรคการเมืองในเดือน มิ.ย. ว่าจะมีการนำทีมเพื่อไปหารือด้วยตัวเองหรือไม่ ว่าเดี๋ยวหารือกัน ใครทำก็ได้ ตนเองทำก็ได้ หรือจะรองนายกฯ ทำก็ได้ ถือเป็นเรื่องของขั้นตอน ก็ขอรับฟังก่อนได้หรือไม่ แล้วค่อยนำเรื่องมาให้ตนเอง และ คสช.ได้ตัดสินใจพิจารณาในเรื่องของการปลดล็อกและวิธีการต่างๆ ก็จะทำให้ทุกอย่างแหละ 
“ขอร้องว่าอย่ากดดันกันมากๆ เลย ขอตอบแค่นี้พอ  เดี๋ยวจะต้องไปทำงานต่อ ก็ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพและปลอดภัย” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการนัดหารือนอกรอบระหว่างรัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในวันที่ 14 มิ.ย. ว่ายังไม่ได้ข้อสรุป เพราะต้องเจอหลายฝ่าย ขณะนี้ทราบว่า กกต.สะดวกวันที่ 14 มิ.ย. แต่ต้องถามฝ่ายอื่นด้วย ทั้งนี้จะพูดคุยกันในระดับเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา คสช. และ กกต. รวมถึงอาจมีหน่วยงานอื่นด้วย แต่เป็นวงเล็ก ยังไม่มีพรรคการเมือง ส่วนจะนัดหารือกับนักการเมืองวันใดนั้น อยู่ที่ คสช.
    เมื่อถามว่า การหารือกับพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์กลับจากประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า พูดกันว่าเป็นเดือน มิ.ย. แต่ไม่แน่ใจ ก็ทำอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แนะนำ คือให้คุยกับ กกต.ให้ได้ข้อสรุปแล้วค่อยมาแจ้งให้ฝ่ายการเมืองทราบในเวลาประชุมร่วมกัน ส่วนกรณีพรรคการเมืองที่ไม่เข้าร่วมจะมีปัญหาหรือไม่นั้น ไม่รู้ว่าอย่างไร แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เชิญใคร
    ส่วนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ทราบเพียงเบื้องต้น แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด เนื่องจากไม่ได้รับแจ้งวาระการประชุม ส่วน กรธ.จะส่งใครไปร่วมประชุม ต้องหารือใน กรธ.ก่อน สำหรับขั้นตอนของการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น ต้องให้ กกต.ชี้แจง เพราะเป็นผู้ชำนาญการที่จะมีรายละเอียดและไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อาทิ การแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมถึงขั้นตอนที่พรรคการเมืองต้องจัดตั้งสาขา และกำหนดให้ทำเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีโหวต เพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
    เมื่อถามว่า กกต.เคยชี้แจงเกี่ยวกับเวลาทำงาน ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต้องใช้เวลา 60 วัน นับจากวันที่กฎหมายว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ตรงนี้จะมีผลกระทบต่อการเตรียมเลือกตั้งของพรรคหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า กกต.สามารถร่นเวลาดังกล่าวได้ และใช้ช่วงที่รอการบังคับใช้ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 90 วัน เตรียมความพร้อมไว้ได้ ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้งเบื้องต้น ซึ่งเข้าใจว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งรอบใหม่จะไม่ทำให้เขตเลือกตั้งที่เคยบังคับใช้เปลี่ยนแปลงมากนัก และหากสอบถาม กกต.เชิงลึก เขาอาจบอกข้อมูลและการเตรียมงานได้ โดยอาจใช้เวลาไม่มาก
“มีชัย”ข้องใจบี้เลือกตั้งเร็ว
    เมื่อถามถึงกรณีพรรคการเมืองต้องการให้ คสช.ปลดล็อกคำสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมือง เพื่อจะได้หาสมาชิกและทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบไพรมารีโหวต นายมีชัยกล่าวว่า ประเด็นให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ พรรคการเมืองสามารถทำได้ ผ่านการส่งเอกสารและใช้ระบบเทคโนโลยีสื่อสารไปยังประชาชนได้
    “ที่คนเขาออกมาว่าต้องเร่งเลือกตั้งให้เร็วๆ ผมไม่ทราบว่าเขาคิดถึงคนที่จะส่งสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่  เพราะยังมีขั้นตอนและการปฏิบัติที่ต้องใช้เวลาตามกฎหมายกำหนดไว้ แม้บทเฉพาะกาลของร่างกฎหมาย ส.ส.ที่กำหนดให้ทำไพรมารีโหวต แต่เขาผ่อนปรนให้ไพรมารีโหวตคราวแรกสามารถทำได้ทีเดียวในจังหวัดที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องทำเป็นรายเขตก็ได้ ดังนั้นอาจไม่ต้องรอให้แบ่งเขตเลือกตั้งแล้วเสร็จก็ได้” นายมีชัยกล่าว
    ขณะที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า เป็นการหารือระดับสำนักงาน ซึ่ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต.กับรองเลขาฯ ด้านต่างๆ จะไปร่วมหารือ ส่วนประเด็นที่จะไปหารือเลขาฯ กกต. คงเตรียมประเด็นที่เป็นอุปสรรคปัญหาต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง เช่น เรื่องการหาสมาชิก การที่พรรคไม่สามารถจัดประชุมได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ กกต.เคยเสนอความเห็นไปแล้ว และยังคงยืนยันว่าควรแก้ไขเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติได้ ที่สุดแล้วหลังการหารือจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไรไม่สามารถตอบได้ รวมถึงจะนำไปสู่การไม่ทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกหรือไม่ ไม่ทราบ กกต.จะเสนอแค่ปัญหาและแนวทางแก้ไขเท่านั้น
     “ทำหรือไม่ไพรมารีโหวตเป็นดุลยพินิจของรัฐบาลที่จะพิจารณา ส่วนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง จากที่ได้ให้สำนักงานศึกษาข้อกฎหมายเพื่อแบ่งเขตเลือกตั้งก่อนกฎหมายมีผลบังคับนั้น เห็นว่ากฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ ดังนั้น การให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อให้ กกต.แบ่งเขตได้ก่อนอาจเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้าที่เลขาธิการ กกต.เคยเสนอมาแล้ว แต่ทั้งนี้ แม้ กกต.จะแบ่งเขตได้ก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งจำเป็นต้องปลดล็อกจาก คสช.ก่อน ไม่เช่นนั้นพรรคการเมืองก็ไม่สามารถมาประชุมได้ ก่อนหน้านี้ คสช.เคยระบุแล้วว่าอาจปลดล็อกให้พรรคการเมืองกระทำการบางเรื่อง” นายศุภชัยระบุ
    นายศุภชัยกล่าวอีกว่า คณะที่จะไปหารือได้เตรียมเรื่องปฏิทินการเลือกตั้งตามโรดแมปรัฐบาล ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐบาล หากซักถามเพื่อวางกรอบเวลาดำเนินการต่างๆ ก็สามารถตอบได้ แต่คงเปิดเผยไม่ได้ จะกลายเป็นบีบบังคับรัฐบาลให้ปฏิบัติตาม ซึ่งถือว่าไม่เหมาะสม ส่วนการใช้งบประมาณ 5,800 ล้านบาทในการจัดเลือกตั้ง ซึ่งมากกว่าเดิมที่เคยใช้กว่า 3,000 ล้านบาทนั้น เพราะมีหลายปัจจัยเพิ่มขึ้น เช่น เรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด ซึ่งมีค่าใช้ค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าผู้ช่วยของแต่ละคน การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง แม้จะมีบัตรใบเดียว แต่แต่ละเขตไม่เหมือนกัน การจัดพิมพ์ป้ายหาเสียงให้ผู้สมัคร ค่าจ้างแหล่งข่าว เงินสินบนรางวัล การคุ้มครองพยาน ซึ่งการใช้จ่ายทุกอย่างมีรายละเอียดชี้แจงได้ โดยจะขอเป็นงบกลาง ไม่ได้ขอเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562
กม.ลูกส่งถึงมือ"บิ๊กตู่"แล้ว
    นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ พล.อ.ประยุทธ์แล้วเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. หลังจากได้รับคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจากศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของนายกฯ ที่ต้องส่งร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามโรดแมปในปี 2562 ส่วนกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่ระหว่างรอรัฐบาลส่งร่างกฎหมายมาให้ สนช.พิจารณา เข้าใจว่าขณะนี้อาจมีปัญหาในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ซึ่ง สนช.ยังระบุไม่ได้ว่าจะใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน ต้องรอให้เห็นเนื้อหาก่อน อย่างไรก็ตาม อยากพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.
    นายพรเพชรยังกล่าวถึงการประชุม สนช.เพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติในวันที่ 14 มิ.ย.ว่า สนช. จะตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ดูแล้วคงให้ความเห็นชอบ แต่อาจมีการแนบข้อสังเกตประกอบไปด้วย โดยคนที่มาชี้แจงต่อ สนช.คงเป็นรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
    วันเดียวกัน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพูดคุยกับอดีตนักการเมืองท้องถิ่นและอดีต ส.ส.ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ว่าไม่ได้พูดคุยอะไรกัน เพียงแค่ทักทายกันเฉยๆ
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การที่เข้าไปพูดคุยกับนายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคไทยรักไทยนั้น เพราะรู้จักกันมาก่อน ส่วนที่นายอนุชาบอกจะมีข่าวใหญ่นั้น ขอให้ไปถามเขาเอง ไม่เกี่ยวกับตนเอง และพรรคพลังประชารัฐยังไม่มี ยังไม่เริ่ม
    “ส่วนความคืบหน้าการพูดคุยกับอดีตนักการเมืองนั้น ยังไม่มี ยังเป็นวุ้นอยู่เลย จะเป็นตัวเมื่อใดนั้นอยู่ที่คนทำ ไม่ใช่ผม ใครปั้น ใครทำก็คนนั้น” นายสนธิรัตน์ระบุ
    เมื่อถามว่า มีการจับตาการพูดคุยกับอดีตนักการเมือง เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายสนธิรัตน์กล่าวว่า จับตาใคร ไม่เห็นจะมีอะไร ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ก็พบนักการเมืองท้องถิ่นเป็นปกติ พอไม่มาจะหาว่าไม่มีใครมาต้อนรับนายกฯ
    ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีการคืนตำแหน่งให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 4 คนว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการคืนตำแหน่ง แต่ประชาชนคงอยากตั้งคำถามถึงหลักการเกณฑ์การพิจารณาในการคืนตำแหน่งดังกล่าว เป็นการหวังผลทางการเมือง หรือมีนัยทางการเมืองอย่างไรหรือไม่ เพราะสังคมยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าที่คืนตำแหน่งให้เพราะเหตุอะไร แล้วคนอื่นๆ ที่เหลือจะได้คืนหรือไม่ มีเงื่อนไขใดในการพิจารณาคืนก่อนคืนหลัง เพราะหากจะคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหาอย่างถูกต้องโปร่งใส คณะกรรมการที่สอบก็ต้องแถลงต่อสังคมให้ชัดด้วยว่าที่สอบไม่ผิดแล้วนั้นไม่ผิดอย่างไร เพราะตอนใช้คำสั่งมาตรา 44 สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ก็ถือว่าไม่ชัดเจนมาแล้ว 
“จู่ๆ บทจะคืนก็คืนตำแหน่งให้ ก็ยังไม่มีการแจ้งให้สังคมรับรู้อย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรงไปตรงมา หรือจะเป็นไปตามกระแสข่าวที่มีการปล่อยกันออกมาอย่างเป็นระบบหรือไม่ว่าถ้าผู้บริหารท้องถิ่นรายใด ในพื้นที่ใด ยอมสนับสนุนพรรคในเครือข่ายของ คสช.ก็จะได้คืนตำแหน่งกลับคืนมาหมดทุกแห่ง หรือถ้ามีคดีค้างคาในป.ป.ช.หรือ ป.ป.ท.ก็จะหลุดหมดทุกคดีหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามกระแสข่าวนี้ จะเป็นไปตามยุทธวิธีล่าเมืองขึ้น เพื่อหาฐานเครือข่ายสนับสนุนพรรคของ คสช.ในอนาคตหรือไม่ ประชาชนรอฟังคำตอบ” นายอนุสรณ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"