6ส.ค.64-นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ(ทษช.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang หัวข้อ เพราะนายกฯ คนนี้ไม่น่าไว้วางใจ แล้วงบ 1.63 หมื่นล้าน ควรไปไว้ที่ไหน ? มีเนื้อหาดังนี้
.
เห็นการโต้แย้งในเรื่องการโยกงบประมาณ 1.63 หมื่นล้านบาทที่คณะกรรมาธิการตัดลดได้ไปไว้ที่งบกลาง
ผมก็ทวีตข้อความไปว่า “ผมเป็นกรรมาธิการงบประมาณมาหลายครั้ง แต่ไหนแต่ไรมา (ไม่นับช่วงที่พิจารณาใน สนช.) กรรมาธิการจะไม่โยกงบที่ตัดได้ไปไว้ที่งบกลางอย่างที่ทำกันคราวนี้ ที่แปลกเป็นพิเศษ คือมีฝ่ายค้านร่วมสนับสนุนด้วย”
หลังจากนั้นผมก็ตอบคำถามและแลกเปลี่ยนความเห็นไปอีกบ้าง
ก็คิดว่าได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ไปตามสมควรแล้ว
เผอิญมีการวิจารณ์หรือโต้แย้งความเห็นของผมที่ยกมาข้างต้น แต่ไม่ได้โต้แย้งในหลักการหรือเหตุผล มีแต่บอกว่าผมไม่เคยทำงานตามรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่รู้จักมาตรา 144 ในรัฐธรรมนูญปัจุบัน
เลยคิดว่าต้องแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกหน่อย
ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่คือกรรมาธิการตัดงบจากหน่วยงานต่างๆ ได้ 1.63 หมื่นล้านบาท แล้วจะจัดสรรวงเงินนี้อย่างไร ให้ตรงประเด็นที่สุดก็คือควรโยกไปไว้ที่งบกลางหรือไม่เพราะเหตุใด
ปกติที่คณะกรรมาธิการตัดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ก็เพราะเห็นว่าไม่มีความจำเป็นหรือจำเป็นน้อย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับอีกหลายหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ แต่กลับไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ คณะกรรมาธิการจึงรู้ดีว่ามีหน่วยงานไหนที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในเรื่องอะไรที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณให้
แต่การโยกงบประมาณที่ตัดได้ไปไว้ที่งบกลาง กลายเป็นมอบอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดกลับไปที่นายกรัฐมนตรี บรรดาข้อมูลที่คณะกรรมาธิการได้มาตลอดการทำหน้าที่ จึงไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรในการจัดสรรงบประมาณ
แต่ไหนแต่ไรมา เป็นที่รู้กันดีว่างบกลางเป็นงบประมาณที่ตรวจสอบยาก การตั้งงบกลางมากหรือน้อยจึงต้องดูความจำเป็นและประสิทธิภาพในการใช้ประกอบด้วย
พลเอกประยุทธ์ นิยมใช้งบกลางมาตั้งแต่เป็นนายกฯ สมัย คสช.แล้ว ทั้งโอนงบจากหน่วยงานต่างมาไว้ที่งบกลาง งบเหลือจ่ายแทนที่จะโอนเข้าคลังก็โอนมาที่งบกลาง และการใช้งบกลางในช่วงนั้นก็ทำแบบตามอำเภอใจ เพราะไม่มีใครตรวจสอบได้ จนเคยตัว
ต่อมารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ยังได้แก้ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ เพื่อเพิ่มอำนาจแก่ตนเองเป็นว่า “...ในกรณีที่มีความจําเป็นผู้อํานวยการโดยอนุมัตินายกรัฐมนตรีจะโอนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการใดรายการหนึ่งไปเพิ่มรายการอื่น ๆ ในงบกลางด้วยกันก็ได้”
การใช้งบกลางของพลเอกประยุทธ์ ตลอดมาถึงปัจจุบันเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีอะไรเป็นมรรคเป็นผล จำนวนมากไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
ดังนั้นจึงไม่ควรโยกงบประมาณที่คณะกรรมาธิการตัดได้ไปไว้ที่งบกลาง เพราะนายกฯ อาจจะเอาไปใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์อีกเช่นเคย แม้จะมีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าให้ใช้งบกลางจำนวนนี้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นายกฯ ก็มีอำนาจตามกฎหมายที่จะโยกไปใช้อย่างอื่นได้อยู่ดี
พูดอีกแบบก็คือ เพราะนายกฯคนนี้ไม่น่าไว้วางใจ
ถามว่าแล้วจะโยกงบนี้ไปไว้ที่ไหน ?
กรรมาธิการและ ส.ส.ไม่สามารถเสนอแปรญัตติเพิ่มเติมงบประมาณให้แก่หน่วยงานต่างๆ ได้ กติกาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 นี้ใช้มาหลายสิบปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเขียนขึ้นใหม่
แต่คณะกรรมาธิการก็สามารถนำเอาคำของบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่ขอกันมาเป็นแสนล้านมาพิจารณาคัดเลือกรายการที่เห็นว่าจำเป็นและเป็นประโยชน์ได้
การดำเนินการแบบนี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 144 แต่อย่างใด
เรื่องแบบนี้ ถึงแม้ไม่เคยเป็น ส.ส.หรือกรรมาธิการภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 แต่ก็พอจะหาความรู้และทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ส่วนจะเห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |