สำหรับสถานการณ์ที่ร้อนแรงพอๆ กับตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่ทะลุ 2 หมื่นคนไปเรียบร้อยแล้วนั้น ก็คือสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรและแนวร่วมต่างๆ ซึ่งตั้งแต่ช่วง มิ.ย.-ก.ค.มีการชุมนุมที่เข้มข้นท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงพอๆ กัน ลากยาวมาจนกระทั่งเดือนใหม่ ที่เปิดรับวันที่ 1 ส.ค.ด้วยการจัดคาร์ม็อบ (Car Mob) โดยแม่งานหลักคือนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ซึ่งได้ร่วมกับกลุ่มแนวร่วมต่างๆ อาทิ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, เครือข่ายไล่ประยุทธ์ รวมถึงแนวร่วมอีกกว่า 30 จังหวัด จัดกิจกรรมคู่ขนานในต่างจังหวัดเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
การชุมนุมใหญ่ในแต่ละครั้งที่ผ่านมา มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ได้ยกระดับการสลายการชุมนุม เริ่มตั้งแต่การเจรจา เรื่อยไปจนถึงการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง การจัดกิจกรรมชุมนุมในแต่ละครั้งจะเห็นว่ามีจำนวนผู้เข้าร่วมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการพยายามดูแลความเรียบร้อยของเจ้าหน้าทีที่เข้มข้นขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างคาร์ม็อบครั้งที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์หลังการประกาศยุติการชุมนุม และยังปรากฏภาพตำรวจนำปืนจ่อศีรษะผู้ขี่จักรยานยนต์ นำมาซึ่งการตั้งคำถามของสังคม โดย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ได้ยืนยันว่าแค่เตือน และไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ
โดยหลังจบกิจกรรมมีการจับกุมสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าไปยัง บก.ตชด.ภาค 1 ทำให้วันต่อมาเกิดม็อบย่อมๆ ขึ้น เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และเพื่อนๆ ที่ถูกจับกุม จนวันที่ 3 ส.ค. ศาลได้อนุญาตปล่อยชั่วคราวไผ่ ดาวดิน และพวก โดยมีเงื่อนไขห้ามก่อความวุ่นวายหรือกระทำกิจกรรมในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ฯลฯ แต่ดูเหมือนว่าเงื่อนไขการประกันตัวต่างๆ ของทั้งไผ่ ดาวดิน และแกนนำที่เคยถูกจับกุมซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้า จะไม่ได้ส่งผลอะไรเลยกับพวกเขา เพราะในวันถัดมากลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้จัดชุมนุมครบรอบ 1 ปี “ม็อบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” ซึ่งก็มีนายอานนท์ นำภา และแกนนำคนอื่นๆ เข้าร่วมปราศรัยด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการชุมนุมครั้งนี้ เป็นเสมือนการประกาศโหมโรงวันแห่งการต่อสู้ด้วย
“การต่อสู้ปีนี้จะสู้อย่างเป็นระบบมากขึ้น นอกจากกดดันบนถนน จะเสนอกฎหมายเข้าสภายกเลิกมาตรา 112 โยนไม้ต่อให้ ส.ส. ถ้าไม่ทำอะไรจะเห็นดีกัน เวลาเลือกตั้ง จากนี้อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด คุณไม่มีทางห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้นได้ จะใช้ความรุนแรงแค่ไหนก็ฆ่าเราได้ไม่หมด การต่อสู้จากนี้จะมีความหมายมาก ไม่ใช่อีเวนต์ ทุกการชุมนุมจะเป็นการเอาชีวิตเข้าแลก บ้านเมืองนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว อะไรที่ไม่เคยเห็นจะเกิดขึ้นจะได้เห็น วันที่ 7 ส.ค.จะเป็นเครื่องพิสูจน์ เจ้าหน้าที่อย่ามาราดน้ำมันเข้ากองเพลิง ปีหน้าจะไม่จัดม็อบแฮร์รี่ จะเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่แทน” นายอานนท์ปลุกระดมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่เพนกวินได้ระบุเมื่อวันร่วมชุมนุมคาร์ม็อบ 1 ส.ค. ว่า “เดือนนี้เป็นเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะน่วมแน่นอน เพราะประชาชนต่างคนต่างเกลียด พล.อ.ประยุทธ์ทั่วหน้า ใครที่คิดว่าตัวเองเดือดร้อนก็มาร่วมกับเรา เดือนแห่งความเริ่มต้นของความฉิบหายของประยุทธ์เริ่มต้นขึ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์มีเวลา 7 วันในการพิจารณาตัวเอง ก่อนที่จะมีการชุมนุมอีกครั้งวันที่ 7 ส.ค.นี้ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่พิจารณาตัวเอง ประชาชนจะช่วยพิจารณาให้ ถ้ายังไม่ออกการขับไล่จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ”
นั่นหมายความว่า ม็อบใหญ่ที่จะต้องจับตาให้ดีคือ ม็อบ 7 ส.ค.ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่มีกำหนดเส้นทางการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังพระบรมมหาราชวัง โดยการถือเอาวันที่ 7 ส.ค.เป็นวันยกระดับการชุมนุม เนื่องจากเป็นวันที่มีความหมายทางการเมือง ในเรื่องการต่อสู้ทางความคิดทางสังคมและการเมืองในอดีต โดยเป็นวันครบรอบ 56 ปี “วันเสียงปืนแตก” เป็นครั้งแรกที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์เข้าต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลด้วยอาวุธ ถือเป็นวันเริ่มต้นสงครามประชาชน!
อย่างไรก็ตาม การนำขบวนชุมนุมไปยังพื้นที่พระบรมมหาราชวังครั้งนี้ถือว่าไม่ใช่ครั้งแรก เพราะหากจำได้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.63 กลุ่มราษฎรได้จัดกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” โดยมีจุดหมายคือสำนักพระราชวัง ณ พระบรมมหาราชวัง เพื่อนำจดหมายจากประชาชนไปส่งให้ใกล้บริเวณพระบรมมหาราชวังได้มากที่สุด รวมถึงอ่านแถลงการณ์ใจความถึงสถาบันเบื้องสูง ซึ่งในครั้งนั้นมีเหตุชุลมุน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุม ทำให้เกิดความไม่พอใจกัน และครั้งนั้นผู้ชุมนุมสามารถเข้าใกล้พระบรมมหาราชวังได้มากที่สุดที่บริเวณหน้าศาลฎีกา ก่อนที่จะมีการอ่านแถลงการณ์และยุติการชุมนุมไป โดยครั้งนั้นมีการดูแลรักษาความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ โดยมีกฎหมายห้ามเข้าใกล้เขตพระราชฐานในรัศมี 150 เมตร ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
ขณะที่การเตรียมรับมือม็อบ 7 ส.ค.ในครั้งนี้ พล.ต.ต.ปิยะได้ออกมาระบุแล้วว่า “ตำรวจจะดูแลความสงบเรียบร้อยในภาพรวม และป้องกันไม่ให้สถานที่สำคัญซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนได้รับความเสียหาย ต้องจัดเตรียมกำลังให้พร้อม ส่วนสถานที่ราชการอื่นๆ จะมีเจ้าของสถานที่ดูแลอยู่แล้วส่วนหนึ่ง กรณีที่เสี่ยงให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือบานปลาย เจ้าหน้าที่จะหลีกเลี่ยงแล้วติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง” อีกทั้งกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่มีสถานการณ์รุนแรง โดยการนัดชุมนุมดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 (ฉบับที่ 9), พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจรทางบก, พ.ร.บ.การใช้เครื่องเสียง และประมวลกฎหมายอาญา โดย บช.น.จะมีการจัดตั้งจุดตรวจและจุดสกัดในพื้นที่โดยรอบ และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและแนวร่วมต่างๆ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ จะมีความเข้มข้นและยกระดับการชุมนุมไปในทิศทางใด รวมถึงการประกาศกร้าวเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรต่อไป คงต้องจับตาดูกันให้ดี!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |