จริงๆ พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มมีการปรับเปลี่ยนมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จะเริ่มระบาดตั้งแต่ต้นปี 2563 สะท้อนจากผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มหันไปใช้วิธีการ “ออนไลน์” มากขึ้น ทั้งการซื้อสินค้า การทำธุรกรรม ไปจนถึงการรับสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยเพราะความสะดวกสบายและรวดเร็วเป็นสำคัญ อีกทั้งความเร่งรีบในชีวิตประจำวันอาจทำให้การไปซื้อสินค้า หรือทำธุรกรรมที่จุดบริการไม่สะดวกมากนัก วิธีการ “ออนไลน์” จึงตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
ต่อเนื่องมาถึงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสจากรัฐบาล รวมถึงแนวทาง “การเว้นระยะห่าง” ที่เริ่มพูดถึงและใช้กันในชีวิตประจำวันตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่วิธีการ “ออนไลน์” กลายมาเป็นประเด็นที่ตอบสนองวิถีชีวิตแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า New Normal ได้อย่างดียิ่งขึ้นไปอีก
ปัจจุบันแทบจะทุกสินค้า และเกือบจะทุกบริการ ผู้ประกอบการ เจ้าของผลิตภัณฑ์ เจ้าของแบรนด์สินค้ามักจะมีช่องทางออนไลน์ไว้สำหรับคอยบริการลูกค้า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และด้วยปัจจัยจำกัดหลายๆ ด้านในปัจจุบัน ยิ่งตอกย้ำให้วิธีการ “ออนไลน์” กลายมาเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกิจไปในที่สุด
แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกล่าสุด ที่ต้องยอมรับว่าหนักหน่วงในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยอดผู้เสียชีวิตรายวัน ไปจนถึงสถานการณ์ด้านสาธารณสุขต่างๆ ที่กดดันอย่างหนัก หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ แม้ว่าจะมีการปรับตัวโดยหันเข้าหาวิธีการ “ออนไลน์” แต่ก็ต้องมาเจอข้อจำกัดเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบกับ “การขนส่งสินค้า” ที่เกิดจากการซื้อขายแบบ “ออนไลน์” นั่นเอง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาพรวมธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ในปี 2564 แม้ว่าน่าจะเติบโตได้ประมาณ 19% หรือมีมูลค่าราว 71,800 ล้านบาท แต่เป็นการเติบโตที่ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวอย่างน่าตะลึงที่ 31.3% อันเป็นผลกระทบมาจากโควิด-19 รวมถึงผลของราคาค่าขนส่งที่ถูกลง ซึ่งหากพิจารณาถึงต้นทุนในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโควิด-19 คาดว่าน่าจะเพิ่มสูงขึ้น
ในขณะที่ผู้ประกอบการเองอาจไม่สามารถปรับราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้น การเติบโตของรายได้ในภาพรวมที่อัตรา 2 หลัก อาจจะไม่สะท้อนถึงผลประกอบการที่ดีขึ้นของผู้ประกอบการทุกราย และด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่คลี่คลาย ความเสี่ยงในการบริหารจัดการต้นทุนน่าจะยังมีอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ผลประกอบการสุทธิของผู้ประกอบการบางรายอาจจะประสบภาวะขาดทุน หรือผู้ประกอบการบางรายที่ยังมีกำไรก็มีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง จากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นนั่นเอง
“จากสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้น จนทำให้ปัจจุบันมีพนักงานขนส่งสินค้าออนไลน์หลายบริษัท หลายพื้นที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงการขยายมาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกอย่างน้อย 14 วันในเดือน ส.ค. นี้ อาจส่งผลให้ศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญในบางพื้นที่ รวมถึงสาขารับ-ส่งสินค้าบางแห่ง อาจได้รับผลกระทบทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทางนานขึ้นกว่าช่วงปกติ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ได้รับผลกระทบและทำให้การจัดส่งสินค้าติดขัดชั่วคราว อีกทั้งการแข่งขันของธุรกิจที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในด้านราคาขนส่ง ก็อาจทำให้ภาพรวมธุรกิจในปีนี้แม้คาดว่ารายได้จะยังเติบโต แต่ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำธุรกิจ
ซึ่ง “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินว่า การจัดส่งสินค้าออนไลน์ในกลุ่มอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด อาหารแห้ง ผัก หรือผลไม้ น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เน่าเสียง่าย อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภคน่าจะยังคงมีการวางแผนใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในช่วงนี้ แต่เมื่อขนส่งไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้ สินค้าเกิดการเน่าเสีย ก็จะทำให้ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างมาก จนผู้ประกอบการบางรายบางพื้นที่ต้องงดรับการจัดส่งสินค้าในกลุ่มนี้เป็นการชั่วคราว
ส่วนสินค้าที่ไม่ใช่อาหารหรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน ยอดขายได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หดตัว ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น แต่สถานการณ์ของการขนส่งสินค้าที่กำลังเกิดขึ้นอาจกระทบกับการจัดส่งสินค้ากลุ่มนี้ในระดับที่น้อยกว่านั่นเอง!
ครองขวัญ รอดหมวน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |