แผน Bubble & Seal กับการกอบกู้อาชีพแรงงาน


เพิ่มเพื่อน    

ในภาวะวิกฤติโควิด-19 เอกชนต้องการประคับประคองให้โรงงานทั้งหลายสามารถวิ่งสายการผลิตต่อไปได้ในบางส่วน เพราะมีคำสั่งสินค้าและบริการจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่มขึ้น
    หลายประเทศ เช่น จีน, สหรัฐฯ และยุโรปฟื้นแล้ว และเริ่มจะสั่งซื้อสินค้าและบริการจากไทยมากขึ้น
    แต่โรงงานหลายแห่งกลับกลายเป็นคลัสเตอร์การแพร่โควิด จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องนั่งลงระดมสมองว่าจะทำอย่างไร
    เศรษฐกิจไทยมีเครื่องยนต์หลักสองเครื่อง คือการท่องเที่ยวและส่งออก
    วันนี้เครื่องยนต์ท่องเที่ยวดับไป ยังไม่รู้ว่าจะฟื้นกลับมาอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อใด
    การส่งออกเป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลือ จำเป็นต้องให้โรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าได้ แม้จะไม่เต็มสูบ แต่ก็จะต้องหาทาง “อยู่ร่วมกับโควิด” ให้ได้
    หนึ่งในวิธีการคือ ทำอย่างไรจึงจะให้คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหลายได้รับการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกคนป่วยออกจากคนที่ไม่ป่วย
    เป็นที่มาของแนวทางที่น่าสนใจจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เข้าไปสุ่มตรวจคนงานในโรงงานด้วย Antigen Test Kit หรือ ATK
    โดยไม่ต้องไปแออัดตรวจระบบ RT-PCR 
    เมื่อสัปดาห์ก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จัดประชุมแนะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมทำ Bubble and Seal ร่วมกับการตรวจหาเชื้อด้วย ATK 
    ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยจำกัดวงแพร่ระบาดได้เร็ว 
    ในกระบวนการทดสอบก็พบอัตราเจอผลบวกลวง 1.54% ผลลบลวง 11% จากกลุ่มตัวอย่าง 850 คน 
    ซึ่งก็ทำให้เริ่มเห็นแนวทางที่จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกยังสามารถเดินหน้าอย่างระมัดระวังต่อไป
    สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  จัดการประชุมออนไลน์ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องการตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิดในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยวิธี ATK
    พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นำเสนอแนวทางที่น่าสนใจ
    ท่านเสนอว่า การควบคุมการระบาดภายในโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องทำมาตรการ Bubble and Seal หรือการควบคุมคนในโรงงานให้มีกิจกรรมปะปนกันเองและปะปนกับคนนอกโรงงานให้น้อยที่สุด 
    หากเกิดการติดเชื้อจะทำให้เชื้อกระจายน้อยลง และทำให้การควบคุมโรคง่ายและมีประสิทธิภาพ 
    ที่สำคัญสถานประกอบการไม่จำเป็นต้องปิด และทุกคนยังมีรายได้
    ผมสนใจวิธีการในทางปฏิบัติว่าทำได้อย่างไร เพราะหากได้ผลก็จะสามารถขยายผลและต่อยอดไปยังโรงงานอื่นๆ ทั่วประเทศได้  
    คุณหมอแนะนำให้เตรียมความพร้อมด้วยแนวทางที่คุณหมอแนะนำคือ ก่อนลงมือทำ Bubble and Seal ควรทำดังนี้ 
    1.จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามและพื้นที่พักคอยสำหรับผู้ติดเชื้อ 
    2.จัดเตรียมสถานที่พักผู้สัมผัสผู้ป่วยที่ยังตรวจไม่พบเชื้อ หรือไม่มีอาการในโรงงานหรือชุมชน
    3.จัดระบบเดินทางรับส่งคนงานจากที่พักถึงสถานประกอบการ 
    4.จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตของคนงาน 
    และ 5.จัดเตรียมความพร้อมด้านการตรวจ RT-PCR หรือ Antigen  Test Kit
    พญ.วรรณาบอกว่า หลังจากเหตุการณ์การระบาดในสมุทรสาคร  กระทรวงสาธารณสุขได้ถอดบทเรียน และได้ปรับแนวคิดให้ผู้ประกอบโรงงานอุตสาหกรรมทำ Bubble กลุ่มคนงานตั้งแต่ก่อนจะมีเชื้อเข้าไป  โดยให้แยกคนงานออกเป็นกลุ่มย่อยๆ แยกคนที่ต้องมีการติดต่อกันให้อยู่รวมกัน โดยห้ามติดต่อกันข้ามกลุ่ม 
    ดังนั้นเมื่อเชื้อเข้าไป ประกอบกับการมีความพร้อมในการสุ่มตรวจ  จะทำให้เราจำกัดวงได้ทัน และเชื้อไม่มีการแพร่กระจายไปในวงกว้าง
    หาก Bubble กลุ่มคนงานแล้วพบว่ามีผู้ติดเชื้อ ให้นำเข้าสู่ระบบการรักษาในทันที 
    และให้นำผู้ตรวจไม่พบเชื้อ ที่จัดอยู่ในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงเข้าแยกพักในโซนที่เราได้จัดสรรไว้ 
    หากฉีดวัคซีนได้ให้รีบฉีดทันที 
    นอกจากนั้นหากเราทำ Bubble and Seal ผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์  หลังโรงงานพบการติดเชื้อ ให้ตรวจหาภูมิต้านทาน หรือ Antibody อีกครั้ง 
    หากพบภูมิต้านทานเป็นบวก จะให้เขาทำงานต่อไปอีก 7 วัน 
    หลังจากนั้นสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ ส่วนภูมิคุ้มกันเป็นลบให้ฉีดวัคซีน หรือสุ่มตรวจ RT-PCR หรือ Antigen Test Kit อีกครั้ง เพื่อประเมินโอกาสแพร่เชื้อสู่ชุมชน
    ทั้งนี้ ผลสำรวจการใช้ Antigen Test Kit จากกลุ่มตัวอย่าง 850 คน  พบผลบวก 650 คน เป็นผลบวกลวง 10 คน คิดเป็น 1.54% และพบผลลบ 200 คน เป็นลบลวง 22 คน คิดเป็น 11% 
    ดังนั้น เมื่อเจอผลลบควรเช็กก่อนว่าเรามีความสัมผัสเสี่ยงกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด 
    หากมากขอให้ตรวจยืนยันด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR หรือตรวจซ้ำอีกครั้งใน 3-5 วันถัดไป
    "ถ้าในภาพรวมของโรงงานมีผู้ฉีดวัคซีน มีผู้มีภูมิต้านทานเป็นบวก และมีผู้ตรวจพบเชื้อได้ถึง 85% ถือว่ากองฟางนี้เป็นกองฟางที่เปียกมาก  ถ้ามีสะเก็ดไฟเข้ามา ไฟคงไม่อาจโหมกระพือได้ อย่างไรก็ตาม Bubble  and Seal เป็นเรื่องยาก แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและคนงาน จึงอยากขอให้ทุกคนร่วมมือกันอย่างเคร่งครัด" พญ.วรรณาสรุป
    เห็นภาพของความเป็นไปได้ในการประคับประคองให้สายการผลิตอุตสาหกรรมสามารถเดินต่อ ขณะเดียวกันก็ดูแลคนทำงานไปพร้อมๆ  กันได้
    ทุกปัญหามีทางออก ถ้าเราเชื่อในหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ไสยศาสตร์หรือความเชื่อเดิมๆ ครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"