ไทยยังอ่วมอรทัย! ติดเชื้อใหม่ทะลุ 2 หมื่น 2 วันติดต่อกัน ทำยอดสะสมใกล้แตะ 7 แสนแล้ว ส่วนผู้เสียชีวิตใหม่ 160 ราย รวมกันเกิน 5.5 พันราย “หมอเบิร์ท” ผงะลักลอบเข้าเมืองตัวเลขยังพุ่ง ตั้งแต่ ก.ค.ถึงปัจจุบันกว่า 4.4 หมื่น ชั้นในมีกว่าหมื่นคน เผยกรมสุขภาพจิตจัดทำ “ไดอารี่แห่งชัยชนะ” พร้อมเปิดสายด่วนให้ปรึกษา “สธ.” ผุด “ซูเปอร์ไรเดอร์” จิตอาสาส่งยาด่วน “หมอธงชัย” แจงยิบโครงการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาใกล้ถึงแสนรายแล้ว ใช้เตียงไปกว่า 70% บอกอีก 2 สัปดาห์น่าจะถึงจุคพีกสูงสุด
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 20,920 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,650 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 17,312 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,338 ราย มาจากเรือนจำ 262 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 693,305 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 17,926 ราย หายป่วยสะสม 473,732 ราย อยู่ระหว่างรักษา 213,910 ราย อาการหนัก 4,993 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,058 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 160 ราย เป็นชาย 90 ราย หญิง 70 ราย อยู่ใน กทม.มากที่สุด 78 ราย และมีหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิต 2 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,569 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 200,989,018 ราย เสียชีวิตสะสม 4,270,029 ราย
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ กทม. 4,140 ราย, สมุทรปราการ 1,326 ราย, ชลบุรี 1,311 ราย, สมุทรสาคร 1,279 ราย, นนทบุรี 754 ราย, นครราชสีมา 565 ราย, สระบุรี 494 ราย, ปทุมธานี 463 ราย, ฉะเชิงเทรา 449 ราย และพระนครศรีอยุธยา 427 ราย พบคลัสเตอร์ในต่างจังหวัด 8 แห่ง ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ 2 แห่ง คือโรงงานหล่อโลหะ อ.บางพลี พบผู้ติดเชื้อ 29 ราย และบริษัทผลิตพรม อ.พระประแดง 12 ราย, จ.ชลบุรี 2 แห่ง คือ บริษัทลวดสายไฟ อ.ศรีราชา 18 ราย และโรงงานหล่อโลหะ อ.เมืองชลบุรี 13 ราย, ที่ อ.เมืองสมุทรสาคร 2 แห่ง คือ โรงงานห้องเย็น 63 ราย และบริษัทกล่องกระดาษ 45 ราย, คลังสินค้า อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา 19 ราย และแพปลา อ.เมืองภูเก็ต 18 ราย
“ขณะนี้ยังมีผู้เดินทางผ่านช่องทางธรรมชาติผิดกฎหมายอยู่ โดยข้อมูลตั้งแต่เดือน ก.ค.63 ถึงปัจจุบันมีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย 44,168 ราย สามารถจับกุมได้ที่ชายแดนกว่า 3 หมื่นราย ในพื้นที่ชั้นในกว่าหมื่นราย ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด” พญ.อภิสมัยระบุ
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ภูเบศ แสงอร่าม ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่สอด จังหวัดตาก รายงานตัวเลขการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองตั้งแต่ ม.ค.ถึง 31 ก.ค.ว่ามี 498 ราย เป็นชาย 161 คน และหญิง 337 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทย และตรวจพบว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 30 ราย
ย้ำ ATK ห้ามขายออนไลน์
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ อธิบดีกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลการตรวจเชิงรุก เห็นชัดว่าการตรวจเชิงรุกโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับระเบียบให้ประชาชนสามารถหา Antigen Test Kit (ATK) มาตรวจด้วยตัวเอง และองค์การอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนชุดตรวจ 2 แบบ คือแบบที่ใช้ในสถานพยาบาลและแบบที่ประชาชนหามาใช้เองได้ ตอนนี้อนุญาตไปแล้ว 19 ยี่ห้อ และจะอนุมัติเพิ่มเติมอีก โดยการหาซื้อต้องซื้อในสถานพยาบาลหรือร้านขายยาเท่านั้น ยังไม่อนุญาตให้ซื้อในออนไลน์หรือร้านสะดวกซื้อ และตอนนี้กรมวิทยาศาสตร์ฯ มีนโยบายให้โรงงานและสถานบริการเข้ามาอบรมวิธีการตรวจ เพื่อสามารถตรวจบุคลากรของท่านได้ อีกทั้งจะเผยแพร่คลิปวิดีโอการตรวจที่เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดหางบประมาณอนุมัติชุดตรวจแบบห้องปฏิบัติการ 8.5 ล้านชุด ซึ่งสามารถให้ประชาชนเบิกใช้จ่ายได้ โดยหากประชาชนต้องการตรวจแบบ ATK สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานที่ให้บริการตรวจแบบ ATK ได้ที่ www.koncovid.com ส่วนการตรวจเชิงรุกใน กทม.สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เพจกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ สำหรับผู้ตรวจ ATK แล้ว ข้อมูลของ กทม.ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.พบว่ามีบางช่วงผลเป็นบวกเกิน 20% โดยนโยบายของกรมการแพทย์ทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 ต้องรับบริการทางการแพทย์อย่างรวดเร็ว และถ้าผลเป็นบวกอย่าตื่นตระหนก ขอให้ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบก่อน โดยติดต่อโรงพยาบาลที่ไปตรวจหรือสายด่วน 1330 เบอร์เดียวเท่านั้น ส่วนสายด่วน 1669 ขอสงวนไว้เป็นสายด่วนช่วยชีวิต ให้ผู้ป่วยสีแดงได้ใช้เข้าถึงข้อมูลโดยเร็ว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ข้อมูลถึงวันที่ 5 ส.ค.มีผู้ป่วยใน กทม.เข้าสู่ โฮมไอโซเลชันเกือบ 100,000 รายแล้ว และรายงานในที่ประชุม ศปก.ศบค.ถึงการจับคู่ศูนย์บริการร่วมกันดูแลผู้ป่วยในเขต กทม. ซึ่งมีมากถึง 232 จุดแล้ว ขณะที่ตัวเลขล่าสุดคอมมิวนิตีไอโซเลชันใน กทม.มี 64 แห่ง จำนวนเตียงรองรับได้อยู่ที่ 6,958 เตียง มีผู้ป่วยเข้าไปแล้ว 3,015 คน หรือ 43% และยังมีคอมมิวนิตีไอโซเลชันที่ดำเนินการโดยชุมชน ภาคประชาสังคมอีกกว่า 100 แห่งที่เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากโรงพยาบาลพี่เลี้ยงและภาคประชาสังคม ชุมชน และเอ็นจีโอ
“กรมสุขภาพจิตเปิดโครงการการดูแลสุขภาพใจ เพื่อให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปตรวจสุขภาพใจได้ เพราะบางครั้งเราเช็กแต่อาการไข้ เหนื่อยหอบ ผื่นคัน จมูกไม่ได้กลิ่น ก็ต้องหันมาตรวจสุขภาพใจด้วย โดยได้จัดทำไดอารี่แห่งชัยชนะ เป็นคู่มือการกักตัวสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ส่งถึงผู้ป่วยโฮมไอโซเลชันในเขต 11 สุราษฎร์ธานี, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, ชุมพรแล้ว ส่วนใน กทม.กำลังจัดพิมพ์เพิ่ม และเปิดสายด่วน 1323 เพื่อให้คำปรึกษาบุคคลในครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และเป็นสายด่วนให้แก่บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19” พญ.อภิสมัยระบุ
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม.ยังพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในจำนวนเพิ่มขึ้น กรมควบคุมโรคจึงได้มอบหมายให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ดำเนินการร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจภาคสนามเพื่อบริการประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค 3 แห่ง คือ สนามกีฬาธูปะเตมีย์, สนามราชมังคลากีฬาสถาน และสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีฯ สามารถตรวจคัดกรองได้ประมาณ 4,000 คนต่อวัน โดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit ซึ่งรายใดที่ผลเป็นบวกจะตรวจยืนยันผลด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ (RT-PCR) จากรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน และรถเอกซเรย์ปอดเคลื่อนที่ (เฉพาะจุดสโมสรกองทัพบก) แยกผู้ติดเชื้อตามระดับอาการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อนำเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาที่เหมาะสมตามมาตรฐาน ทั้งที่บ้าน ที่ชุมชน หรือที่โรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
สธ.เปิดตัว 'ซูเปอร์ไรเดอร์'
นพ.โอภาสกล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยต้องขึ้นทะเบียนและแยกรักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะหาย โดยกรมได้จัดหน่วยส่งยาด่วน หรือเรียกว่าซูเปอร์ไรเดอร์ ซึ่งเป็นประชาชนจิตอาสา ขณะนี้มีจำนวน 60 คน เพื่อนำชุดอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลรักษาอาการที่บ้าน ประกอบด้วย ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้, ยาฟ้าทะลายโจร, ปรอทวัดไข้, เครื่องตรวจวัดออกซิเจนปลายนิ้ว, เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ, หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ ขณะนี้ส่งมอบไปแล้วกว่า 100 ราย และยังได้จัดทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกหรือซีซีอาร์ทีม จากสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองจำนวน 12-15 ทีม ร่วมกับ กทม.และเครือข่ายอื่นๆ เข้าค้นหาผู้มีความเสี่ยงที่อยู่ในชุมชนทั้ง 6 โซน ใน 50 เขตของ กทม. ซึ่งแต่ละทีมจะทำการควบคุมโรค ตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยชุด ATK ได้วันละประมาณ 1,000 ราย ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กลุ่มเปราะบาง
ขณะที่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาว่า จากข้อมูลการ Import Case ที่สะสมจนถึงวันที่ 4 ส.ค. ผู้ติดเชื้อที่กลับไปรักษาในภูมิลำเนามีทั้งสิ้น 94,664 คน โดยจำนวนที่อยู่ในระบบยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็น 12 เขต ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยอยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 13,022 คน, เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 คน, เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 คน และเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 คน รวม 4 เขตเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับบ้าน ส่วนที่เหลือจะกระจายในภาคเหนือ 3 เขต คือ เขตสุขภาพที่ 1 เป็นภาคเหนือตอนบนกว่า 4,000 คน, เขตสุขภาพที่ 2 นับจาก จ.ตากล งมากว่า 5,000 คน และเขตสุขภาพที่ 3 บริเวณ จ.นครสวรรค์ลงมากว่า 7,000 คน ส่วนภาคกลาง เขตสุขภาพที่ 4 ประมาณ 4,700 คน และเขตสุขภาพที่ 5 ประมาณ 7,800 คน เขตสุขภาพที่ 6 ภาคตะวันออกประมาณ 6,800 คน ส่วนภาคใต้ในเขตสุขภาพที่ 11 เป็นภาคใต้ตอนบนประมาณ 1,400 คน และเขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ตอนล่างประมาณ 983 คน
“ในภาพรวมส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อที่กลับภูมิลำเนาเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลืองบางส่วนและสีแดงส่วนน้อย ซึ่งในทุกพื้นที่ก็มีเจ้าหน้าที่รอรับไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ สถานีรถบัส หรือในสถานที่ที่มีการนัดหมาย สำหรับบุคคลที่อยากจะเดินทางกลับภูมิลำเนา อยากให้มีการติดต่อประสานงานล่วงหน้าเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตัวบุคคลเอง ในการประเมินอาการโควิดว่าอยู่ในระยะกลุ่มสีใด ที่จะแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง เพื่อลดการแพร่ระบาดในระหว่างเดินทางและในพื้นที่ปลายทาง” นพ.ธงชัยระบุ
เมื่อถามถึงสถานการณ์เตียงในพื้นที่ต่างจังหวัด นพ.ธงชัยกล่าวว่า ภาพรวมของเตียงที่มีอยู่ทั้งหมดในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ยกเว้นกรุงเทพฯ มีเตียงอยู่ทั้งหมด 156,189 เตียง ปัจุบันใช้เตียงไปประมาณ 114,786 เตียง หรือประมาณ 73.49% คงเหลือเตียงว่างอยู่ประมาณ 41,185 เตียง โดยการขยายเตียงออกไปมากกว่านี้ ต้องแยกเตียงออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ขณะนี้ในเขตสุขภาพที่เริ่มมีผู้ป่วยครองเตียงสูงขึ้นอยู่ในเขตสุขภาพที่ 3 ประมาณ 70% เขตสุขภาพที่ 11 ประมาณ 62% เขตสุขภาพที่ 1 ประมาณ 52% เขตสุขภาพที่ 2 ประมาณ 64% ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีการระบาดอยู่ด้วย จึงมีจำนวนการครองเตียงอยู่ที่ 74% และสูงสุดอยู่ที่เขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 ประมาณ 80% ซึ่งก็ยังมีเตียงว่างอยู่ แต่หากเป็นเตียงสีเขียวจะหาไม่ค่อยยาก เพราะมีทั้งการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation หรือที่ชุมชนจัดไว้เป็น Community Isolation และโรงพยาบาลสนาม
อีก 2 สัปดาห์ ตจว.พีก
“ต่างจังหวัดการขยายเตียงเขียวไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนเตียงเหลืองอาจยากขึ้น แต่จะใช้วิธีการโดยใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลชุมชนที่มีทั่วประเทศกว่า 800 แห่งจัดตั้งทำเป็นโรงพยาบาลโควิดไปก่อน ส่วนที่ยากจะเป็นเตียงสีแดงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่ภาพรวมเตียงสีแดงทั้งหมดอัตราครองเตียงอยู่ที่ 75% ยังคงมีเหลืออยู่บ้างประมาณกว่า 1,000 เตียง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในเขตสุขภาพไหน เพราะบางเขตสุขภาพเหลือเตียงแดงเพียง 20-30 เตียง และคาดว่าในอีก 2 สัปดาห์น่าจะเป็นช่วงพีกของผู้ติดเชื้อที่ส่งกลับภูมิลำเนา” นพ.ธงชัยระบุ
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในจังหวัดต่างๆ นั้น เริ่มที่จังหวัดปริมณฑล จ.นนทบุรี มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อใหม่ 619 ราย เป็นเพศหญิง 338 ราย เพศชาย 281 ราย และต่างชาติ 9 ราย ส่วน จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,326 ราย และเสียชีวิต 8 ราย ขณะที่ จ.นครปฐม พบผู้ติดเชื้อใหม่ 814 ราย และเสียชีวิต 8 ราย
ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานนั้น จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มอีก 47 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 34 ราย และเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด 13 ที่ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 408 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่กระจายใน 19 อำเภอ จาก 23 อำเภอ
ที่ จ.อำนาจเจริญ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 41 ราย กระจายไปทั้ง 7 อำเภอ และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ขณะเดียวกันจังหวัดได้มีกิจกรรมมอบธงสีฟ้าและป้ายหมู่บ้าน "ตำบลเข้มแข็ง ปลอดภัยสู้ภัยโควิด–19" เพื่อแสดงพลังความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนในการต่อสู้โควิด-19 โดย ต.นาป่าแซงได้รับธงเป็นแห่งแรก
ส่วนที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่นิวไฮ 494 ราย และเสียชีวิตรายวัน 4 ราย ขณะเดียวกันศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ออกแถลงการณ์ว่ามีผู้ช่วยวิจัยและนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีติดเชื้อโควิด-19 รวม 4 ราย นอกจากนั้นจังหวัดได้เปิดโรงแรมฟอร์จูนให้เป็นสถานที่กักกันตนเทศบาลนครนครราชสีมา (SQ) และใช้สนามกีฬากลางค่ายสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 จัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งรองรับผู้ป่วยได้ 80 เตียง
ที่ จ.อุบลราชธานี พบผู้ติดเชื้อใหม่ 358 ราย โดยติดเชื้อจาก กทม.และเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ส่วนที่ จ.ศรีสะเกษ โดยเฉพาะที่บ้านไทร หมู่ที่ 8 ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง ซึ่งเกิดคลัสเตอร์ใหม่จนต้องปิด 3 หมู่บ้านนั้น ได้เปิด รพ.สนามแล้ว 2 จุด
สำหรับในพื้นที่ภาคใต้นั้น จ.นครศรีธรรมราชได้เปิด รพ.สนามแห่งที่ 2 ที่ อ.บางขัน ขณะที่ยอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มสูงถึง 351 ราย ส่วนที่ จ.ตรัง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 57 ราย กระจายใน 20 คลัสเตอร์ โดยเฉพาะคลัสเตอร์งานแต่งในพื้นที่ อ.กันตัง หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดจะแจ้งดำเนินคดี เนื่องจากฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัด
ที่ จ.ปัตตานี โควิด-19 ยังคงระบาดอย่างหนัก โดยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 228 ราย และเสียชีวิต 8 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 10,511 ราย รักษาหาย 6,967 ราย และเสียชีวิตสะสม 143 ราย ส่วนที่ จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 237 ราย เสียชีวิต 1 คน สาเหตุผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 13,374 คน เสียชีวิตสะสม 73 คน ยังรักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 3,100 คน รักษาหายแล้วกว่า 10,050 คน
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกยังพบผู้ป่วยติดเชื้อกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่จำนวนมากในหลายอำเภอ ล่าสุดต้องปิดบ้านคลองต่อ ม.10 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิเป็นการชั่วคราว เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและขยายวงกว้าง นอกจากนั้นมาจากกลุ่มสัมผัสผู้ติดเชื้อในโรงงาน กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างจังหวัด และกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในตลาด ร้านค้า และบริษัท.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |