ชาวชุมชนคลองเตยเดินทางมาตรวจโควิดที่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา
กรุงเทพฯ / แพทย์ชนบทลุยตรวจโควิดชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ เป็นวันที่ 2 รวม 21 จุดตรวจ ผู้รับการตรวจ23,300 คน ส่วนที่ชุมชนคลองเตยสถานการณ์การติดเชื้อโควิดยังรุนแรง ‘ครูประทีป’ เผย แม้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 50,000 คน แต่ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูง มีผู้ติดเชื้อที่ศูนย์พักคอยวัดสะพาน 4,000 คน กักตัวในบ้านอีก 500 หลัง ‘หมอสันต์’ เสนอผู้ว่า กทม.เปิดโรงเรียนเป็นศูนย์พักคอย เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนและครอบครัว
ระหว่างวันที่ 4-10 สิงหาคมนี้ ชมรมแพทย์ชนบทนำทีมโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมฯ ได้ระดมบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ในต่างจังหวัด เข้ามาตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม เป็นครั้งที่ 3
โดยจะมีทีมตรวจหาเชื้อทั้งหมดกว่า 40 ทีมๆ ละ 8-10 คน รวมทั้งหมดประมาณ 400 คน กระจายลงจุดตรวจตามชุมชนและสถานที่ต่างๆ ตั้งเป้าตรวจวันละ 30 จุดๆ 1,000 คน หรือวันละ 30,000 คน รวม 7 วันจะสามารถตรวจได้ทั้งหมดประมาณ 210,000 คน และการตรวจ Walk in จากทีมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอีกประมาณ 35,000 คน รวมผู้ได้รับการตรวจทั้งหมดประมาณ 250,000 คน
ประเดิมตรวจโควิดวันแรกกว่า 20 จุด
โดยเมื่อวานนี้ (4 สิงหาคม) เป็นวันแรก ทีมแพทย์ชนบทได้กระจายลงตรวจตามจุดและชุมชนต่างๆ รวมกว่า 20 จุด เช่น วัดไผ่เงิน เขตบางคอแหลม วัดจันทร์ประดิษฐาราม เขตภาษีเจริญ บ้านมั่นคงวิมานทอง เขตบางบอน วัดวงษ์ลาภาราม เขตหนองแขม มัสยิดอัดตั๊กวา เขตมีนบุรี สุเหร่าแบนใหญ่ เขตหนองจอก โรงเรียนพิบูลย์อุปถัมภ์ เขตห้วยขวาง วัดคันลัด จ.สมุทรปราการ ฯลฯ
แต่ละจุดมีประชาชนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงมารอรับการตรวจตั้งแต่เช้า โดยมีอาสาสมัครในชุมชน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต จิตอาสาจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ฯลฯ ร่วมอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เช่น การลงทะเบียนตรวจ การจัดคิว การเว้นระยะห่าง จัดจุดพักคอยเพื่อรอฟังผลการตรวจ
เก็บสารคัดหลั่งในโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อ จะรู้ผลแต่ละรายไม่เกิน 30 นาที
การตรวจของทีมแพทย์ชนบทจะเริ่มด้วยการทำการ swab โดยใช้ก้านสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากโพรงจมูกของผู้ตรวจเพื่อหาเชื้อด้วย rapid test หรือชุดตรวจแบบเร็ว แล้วนำก้านสำลีมาตรวจด้วยน้ำยา สามารถทราบผลได้ภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที /ราย หากไม่พบเชื้อผู้ตรวจจะกลับบ้านได้เลย หากพบว่ามีผลเป็นบวกหรือติดเชื้อ แพทย์จะตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน
นายวิชัย พร้อมมูล ประธานชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง เขตบางบอน บอกว่า ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทองเป็นจุดตรวจแห่งหนึ่งในเขตบางบอน โดยเมื่อวานนี้มีประชาชนในชุมชนบ้านมั่นคงและชุมชนใกล้เคียงมาตรวจทั้งหมด 419 คน ตรวจพบติดเชื้อจำนวน 21 คน แต่ละคนแพทย์จะจ่ายยาให้ตามอาการ เช่น หากอาการไม่มากหรืออยู่ในกลุ่มสีเขียวจะได้รับยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรและยาอื่นๆ หากอาการมากจะได้รับยาฟาร์วิพิราเวียร์ และลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษาของ สปสช. ส่วนทีมแพทย์ชนบทที่ตรวจมาจากจังหวัดลำพูน (สสจ.ลำพูน) จำนวน 10 คน
“ผู้ที่ตรวจแล้วพบว่าติดเชื้อทั้ง 21 คนเป็นชาวชุมชนใกล้เคียง ส่วนชาวบ้านในชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทองไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่เราก็จะไม่ประมาท ยังเข้มงวดเรื่องการตรวจวัดอุณหภูมิคนเข้า-ออก มีมาตรการต่างๆ เช่น ห้ามมั่วสุมในชุมชน ออกจากบ้านต้องใส่หน้ากากอนามัย เพราะก่อนหน้านี้มีคนในชุมชนของเราติดเชื้อรวม 16 คน รักษาหายแล้ว 10 คน ส่วนที่เหลืออีก 6 คนอยู่ในระหว่างการรักษาตัว” ประธานชุมชนบอก
จุดตรวจที่ชุมชนบ้านมั่นคงวิมานทอง เขตบางบอน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ภายหลังจากที่ประชาชนได้รับการตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มาตรการสำคัญที่สุด คือการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแล โดยในกลุ่มผู้ติดเขื้อสีเขียวหรือกลุ่มไม่มีอาการ-อาการไม่รุนแรงนั้น สปสช.ได้ประสานคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาล เพื่อจับคู่ดูแลที่บ้าน (Home Isolation) ส่วนของกลุ่มที่สภาพที่อยู่อาศัยไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการเฝ้าระวังอาการและติดตาม
ชุมชนคลองเตยยังน่าห่วงตรวจอีก 4,000 คน
ส่วนวันนี้ (5 สิงหาคม) ทีมแพทย์ชนบทได้กระจายบุคลากรลงตรวจตามชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งหมด 21 จุดในกรุงเทพฯ รองรับชาวชุมชนแออัดประมาณ 40 ชุมชน แต่ละจุดจะมีผู้มาลงทะเบียนตรวจประมาณ 400-1,500 คน เช่น ชุมชนคลองเตย 1,000 คน แคมป์คนงานบริเวณถนนกำแพงเพชร 7 เขตบางกะปิ ประมาณ 700 คน อุ่รถเมล์คลองเตย ตรวจพนักงาน ขสมก.ประมาณ 1,300 คน จุดตรวจแบบ Walk in โดยไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าที่สมาคมชาวปักษใต้ เขตบางแค ประมาณ 5,000 คน ฯลฯ รวมผู้เข้ารับการตรวจวันนี้ทั้งหมดประมาณ 23,300 คน
ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ตรวจโควิดชาวชุมชนคลองเตย
นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ทีมแพทย์ชนบทจะเข้ามาตรวจชาวชุมชนคลองเตยในระหว่างวันที่ 5-10 สิงหาคมนี้ รวมทั้งหมดประมาณ 4,000 คน โดยก่อนหน้านี้ทีมแพทย์ชนบทและแพทย์จากในกรุงเทพฯ ได้มาตรวจเพื่อหาเชื้อชาวชุมชนคลองเตยแล้วหลายครั้ง และมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วจำนวน 50,000 คน จากจำนวนประชากรในชุมชนคลองเตยทั้งหมดประมาณ 1 แสนคน ซึ่งรวมถึงประชากรแฝง แรงงานต่างด้าวที่ทำงานและพักอาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตยด้วย
“แม้ชาวคลองเตยจะฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้วประมาณ 50,000 เข็ม ทำให้ช่วงแรกสถานการณ์ดีขึ้น และยังมีศูนย์พักคอยที่วัดสะพานรองรับคนป่วยก่อนส่งต่อไปโรงพยาบาล แต่ตอนนี้คนที่ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้อีก และแพร่ระบาดไปเร็วมาก เฉพาะศูนย์พักคอยที่วัดสะพานก็มีข้อมูลคนที่ติดเชื้อแล้วประมาณ 4,000 คน และมีคนที่ติดเชื้อและกักตัวอยู่ในบ้านอีกจำนวนมาก ประมาณ 500 หลัง” นางประทีปบอกสถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชนคลองเตย
เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีปบอกต่อไปว่า การตรวจวัคซีนของทีมแพทย์ชนบทในชุมชนคลองเตยรอบนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 โดยรอบแรกตรวจเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ตรวจไปแล้วประมาณ 1,000 คน พบผู้ติดเชื้อประมาณ 300 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ส่วนการตรวจรอบใหม่นี้ประมาณ 4,000 คน ประเมินว่าจะพบผู้ติดเชื้อประมาณร้อยละ 25 หรือติดเชื้ออีกประมาณ 1,000 คน
ส่วนการรองรับและดูแลผู้ที่ติดเชื้อนั้น นางประทีปกล่าวว่า ตอนนี้ในชุมชนคลองเตยมีศูนย์พักคอยที่วัดสะพาน 1 แห่ง รองรับผู้ป่วยเพื่อรักษาและดูอาการได้จำนวน 400 เตียง แต่ไม่พอ จึงประสานงานกับภาครัฐและเอกชนเพื่อเตรียมเปิดศูนย์พักคอยอีก 1 แห่งที่สนามฟุตบอลของทีมท่าเรือ รองรับได้อีก 240 เตียง
“ตอนนี้มูลนิธิดวงประทีปได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อดูแลผู้ที่ติดเชื้อ โดยเจ้าหน้าหน้าที่มูลนิธิเข้าไปเยี่ยมและให้การช่วยเหลือผู้ที่ติดเชื้อ มีหน่วยงานและภาคเอกชนสนับสนุนด้านอาหาร ข้าวสาร ไข่ไก่ และมีเครื่องช่วยหายใจที่ได้รับบริจาคจากเอกชนเอาไปช่วยคนที่ติดเชื้อหายใจลำบาก จำนวน 10 เครื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ หากมีผู้บริจาคเพิ่มมูลนิธิดวงประทีปก็ยินดี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในช่วงนี้” นางประทีปกล่าว และว่า ตอนนี้มูลนิธิฯ ต้องการแอลกอฮอล์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคในบ้านและชุมชน นมผงสำหรับเด็กทารก นม UHT สำหรับเด็กเล็ก รวมทั้งผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่ป่วยติดเตียง ผู้ที่ประสงค์จะบริจาคติดต่อได้ที่มูลนิธิดวงประทีป
(ซ้าย) ครูประทีป (ขวา) นพ.สันต์กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิดวงประทีปเตรียมแจกอาหารให้ผู้ติดเชื้อ
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ ประธานมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ตนขอเสนอว่า กทม.ควรจะใช้โรงเรียนในสังกัดของ กทม.เปิดเป็นศูนย์พักคอย แต่ที่ผ่านมา กทม.ไม่ขยับเรื่องนี้เลย ทั้งที่ต่างจังหวัดเริ่มทำไปแล้ว เพื่อแยกผู้ติดเชื้อออกมา ไม่ให้แพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่น โดยเฉพาะในชุมชนแออัด ส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ที่จะทำศูนย์พักคอย อีกทั้งบ้านเรือนก็คับแคบ ไม่สามารถกักตัวอยู่ในบ้านได้
“ผมอยากให้ผู้ว่า กทม. เสนอให้ผู้อำนวยการเขตใช้โรงเรียนเป็นศูนย์พักคอย เพราะโรงเรียนมีห้องอยู่แล้ว เพียงเอาเตียงไปใส่ ห้องน้ำก็มีอยู่แล้ว โรงเรียนก็ปิด และเอาครูมาช่วยดูแล เพราะตอนนี้บุคลากรทางแพทย์ขาดแคลนมาก ต้องเอาแพทย์จากชนบทเข้ามาช่วย ถ้าโรงเรียนทำตรงนี้ได้ก็จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชนได้มาก” นพ.สันต์บอกถึงข้อเสนอ
ประเมินโอกาสพบผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัด 10-15 %
การตรวจโควิดของทีมแพทย์ชนบทในกรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยตรวจ 2 ครั้งแรกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีชาวชุมชนได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดทั้งหมด 51,389 คน พบผู้ติดเชื้อ 6,863 คน คิดเป็น 13.35% ของผู้ตรวจทั้งหมดจากการประมาณการของชมรมแพทย์ชนบท ปฏิบัติการครั้งที่ 3 นี้จะสามารถคัดกรองผู้คนในเมืองกรุงได้ประมาณ 250,000 ราย หากผลบวกอยู่ที่ประมาณ 10-15% จะพบผู้ที่มีเชื้อโควิดที่จะเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาจำนวน 25,000-32,500 คน ซึ่งจะสามารถตัดตอนการระบาดไปได้พอสมควร และสามารถช่วยลดภาวะเตียงล้นของโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ ลงได้ เพราะทีมแพทย์จะพยายามจ่ายยา favipiravir ให้กับผู้ติดเชื้อตามเกณฑ์ที่ควรรับยาทุกคน เพื่อลดโอกาสที่จะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล
ชุดตรวจโควิด
ยา favipiravir 1 ชุด 50 เม็ด กินติดต่อกัน 5 วัน
การส่งทีมแพทย์ชนบทเข้ามาตรวจเชิงรุกครั้งที่ 3 นี้ เกิดจากความร่วมมือและการประสานงานของหลายฝ่าย คือ ชมรมแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร เครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) รวมทั้งทีมอาสาจากภาคประชาชน คือ ทีมโควิดชุมชน (Com-Covid) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิดวงประทีป สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้นำชุมชนต่างๆ เครือข่ายบ้านมั่นคง สภาองค์กรชุมชน กลุ่มเส้นด้าย ฯลฯ
เผยรายชื่อทีมแพทย์ชนบทบุกเมืองกรุง
1. ทีม รพ. สิชล จ.นครศรีธรรมราช 2. ทีม รพ.จะนะ จ.สงขลา 3. ทีม รพ. สมเด็จนาทวี จ.สงขลา 4. ทีม สสจ.ชัยภูมิ 5. ทีม สสจ. เชียงราย 6. ทีม สสจ. ลพบุรี 7. ทีม สสจ. น่าน 8. ทีม สสจ. สุรินทร์ 9. ทีม สสจ. ยโสธร 10. ทีม รพท.ชุมพร 11. ทีม รพศ.มหาราช นครราชสีมา 12. ทีม สสจ.ฉะเชิงเทรา 13. ทีม สสจ.ขอนแก่น (มา 3 ทีม) 14. ทีม รพ.ด่านมะขามเตี้ย กาญจนบุรี 15. ทีม สสจ. สุโขทัย 16. ทีม สสจ.อุตรดิตถ์ 17. ทีม รพท. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา จ.ระยอง
18. ทีม สสจ. อุดรธานี 19. ทีม สสจ. แพร่ 20. ทีม รพท. มหาสารคาม 21. ทีม รพท. กาฬสินธุ์ 22. ทีม สสจ. ชุมพร 23. ทีม สสจ. ระนอง 24. ทีม รพ.ตากใบ + รพ. แว้ง สสจ.นราธิวาส 25.ทีม รพ.รามัน ยะลา 26. ทีม สสจ. พะเยา 27. ทีม รพท. สมุทรปราการ (ลงพื้นที่ตนเอง) 28. ทีม สสจ. เพชรบุรี 29. ทีม สสจ. สุราษฎร์ธานี 30. ทีม สสจ. แม่ฮ่องสอน/รพ. ปางมะผ้า
31. ทีม รพ.บางกรวย 2 จ.นนทบุรี 32. ทีม สสจ. นครปฐม/รพ.หลวงพ่อเปิ่น (ลงพื้นที่ตนเอง) 33. ทีมเภสัชกร อาสา อ.สุนี มข.ช่วยจ่ายยา 34. ทีม สสจ. นครสวรรค์ 35. สมาคม/สภาเทคนิคการแพทย์ 36. ทีม รพ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ 37. ทีม รพ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี (ลงพื้นที่ตนเอง) 38. ทีม สสจ.กำแพงเพชร 39.ทีม สสจ.ลำพูน ฯลฯ
ทั้งนี้ทีมแพทย์และบุคลากรจากชมรมแพทย์ชนบทจะกระจายลงตรวจตามจุดและชุมชนที่มีการประสานงานและเตรียมพร้อมก่อนหน้านี้ประมาณวันละ 30 จุดๆ ละ 400-1,000 คน ส่วน รพ.มหาราชนครราชสีมา จะเปิดจุดตรวจแบบ Walk in วันละ 1 จุด สามารถตรวจได้วันละประมาณ 5,000 คน เช่น วันที่ 4 สิงหาคมที่วัดหนัง เขตจอมทอง วันที่ 5 สมาคมชาวปักษ์ใต้ เขตบางแค วันที่ 6 หน้าศูนย์การค้าเกตเวย์ เขตบางซื่อ วันที่ 7 วัดยาง เขตสวนหลวง ฯลฯ โดยจะมีจุดตรวจทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 174 จุด รองรับชุมชนต่างๆ ได้ประมาณ 300 ชุมชน
ส่วนหนึ่งของทีมแพทย์ชนบทบุกเมืองกรุงครั้งที่ 3
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |