5 ส.ค. 64 - ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงการบริหารจัดการนำผู้ติดเชื้อกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา ว่า ปัญหาในการติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวนมาก ผู้ที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจึงได้ถูกนำส่งให้กลับไปรักษา จากข้อมูลการ Import Case ที่สะสมจนถึงวันที่ 4 ส.ค. ผู้ติดเชื้อที่กลับไปรักษาในภูมิลำเนามีทั้งสิ้นจำนวน 94,664 คน โดยจำนวนที่อยู่ในระบบยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่เดินทางไปในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั่วประเทศ แยกเป็น 12 เขต ส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน อยู่ในเขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 13,022 คน เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 13,761 คน เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 17,293 คน เขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 9,821 คน รวม 4 เขตเท่ากับครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับบ้าน
ส่วนที่เหลือจะกระจายในภาคเหนือจำนวน 3 เขต คือ เขตสุขภาพที่ 1 เป็นภาคเหนือตอนบนจำนวนกว่า 4,000 คน เขตสุขภาพที่ 2 นับจากจ.ตากลงมาจำนวนกว่า 5,000 คน เขตสุขภาพที่ 3 บริเวณจ.นครสวรรค์ลงมาจำนวนกว่า 7,000 คน ส่วนภาคกลางเขตสุขภาพที่ 4 ประมาณ 4,700 คน เขตสุขภาพที่ 5 ประมาณ 7,800 คน เขตสุขภาพที่ 6 ภาคตะวันออกประมาณ 6,800 คน ส่วนภาคใต้ในเขตสุขภาพที่ 11 เป็นภาคใต้ตอนบนประมาณ 1,400 คน และเขตสุขภาพที่ 12 ภาคใต้ตอนล่างประมาณ 983 คน
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า โดยการนำผู้ติดเชื้อส่งกลับภูมิลำเนาในการดำเนินการที่ผ่านมา ในช่วงเริ่มต้นจะเป็นผู้ป่วยที่เดินทางกลับบ้านด้วยตนเอง มีทั้งแจ้งโรงพยาบาลปลายทางในพื้นที่เพื่อกลับไปรักษา และไม่แจ้ง หรือมีกลับไปที่บ้านบ้าง และไปกักตัวที่โรงแรม เมื่อมีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับต่างจังหวัดเยอะขึ้น ทางผู้ว่าจังหวัดต่างๆ ก็เริ่มมีมาตรการประกาศให้บริการสายด่วนเป็นช่องทางติดต่อในการรับผู้ติดเชื้อกลับบ้าน และส่วนท้องถิ่นก็มาช่วยเสริม ตัวอย่างเขตสุขภาพที่ 1 ในจ.เชียงราย ทางท้องถิ่นให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดหารถบัสมารับถึงกรุงเทพฯ และดำเนินการส่งต่อไปรักษายังพื้นที่ที่จัดให้ ส่วนในระดับนโยบายภาครัฐก็มีการส่งผู้ติดเชื้อกลับภูมิลำเนาผ่านทางรถไฟ เป็นต้น
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า เมื่อถึงภูมิลำเนาก็จะมีการประเมินอผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อแยกอาการความรุนแรงและเตรียมการรักษา โดยการประเมินอาการจะแยกผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีเขียว เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย โดยกระบวนการรักษามีหลายรูปแบบ ส่วนมากที่ทำเยอะ คือ โรงพยาบาลสนาม ในทุกจังหวัดได้มีการเพิ่มโรงพยาบาลสนาม เพราะมีการกระจายส่งผู้ติดเชื้อกลับบ้านไปกว่า 9 หมื่นคนในทุกจังหวัด จึงมีตัวเลขการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ในบางพื้นที่โรงพยาบาลสนามอาจจะมีข้อจำกัดจึงทำจุดแยกในชุมชนเรียกว่า community isolation เช่น ในบางจังหวัดได้มีการสั่งการให้ทุกอำเภอมี community isolation และบางจังหวัดอาจจะมีข้อจำกัดในการทำ Home Isolation ดังนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ประเมินทั้งอาการ และบ้านว่าเหมาะกับการกักตัวรักษาหรือไม่ หรือในบางจังหวัดก็มีการจัดสรรไปพักรักษาอยู่ในโรงแรม
หากผู้ป่วยอยู่ในกลุ่มสีเหลือง ที่มีอาการไม่รุนแรง ก็จะพิจารณาให้รักษาในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ สุดท้ายกลุ่มสีแดง ที่มีอาการหนัก จะอยู่ในโรงพยาบาลหลักจังหวัดนั้นๆ ดังนั้นในภาพรวมส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อที่กลับภูมิลำเนาจึงเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลืองบางส่วน และสีแดงส่วนน้อย ซึ่งในทุกพื้นที่ก็จะมีเจ้าหน้าที่รอรับไม่ว่าจะเป็นสถานีรถไฟ สถานีรถบัส หรือในสถานที่ที่มีการนัดหมาย
“สำหรับบุคคลที่อยากจะเดินทางกลับภูมิลำเนา อยากให้มีการติดต่อประสานงานล่วงหน้าเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตัวบุคคลเอง ในการประเมินอาการโควิดว่าอยู่ในระยะกลุ่มสีใด ที่จะแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง เพื่อลดการแพร่ระบาดในระหว่างเดินทางและในพื้นที่ปลายทาง โดยติดต่อประสานงานไปยังโรงพยาบาลภูมิลำเนาปลายทาง เพื่อรับคำแนะนำในการเดินทาง หรือประสานกับทางภาครัฐเพื่อประเมินอาการและประสานงานก่อนเดินทาง อย่างในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ผู้ที่เดินทางมามาจากกรุงเทพอาจจะไม่ได้ระวังตัวหรือทำการตรวจโควิดมาก่อน ดังนั้นก่อนเดินทางกลับภูมิลำเนาก็ควรที่จะตรวจคัดกรองก่อนเพื่อไม่แพร่เชื้อต่อให้กับครอบครัวและคนในพื้น เนื่องจากโควิด สายพันธุ์เดลต้ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ง่าย หากผู้ประสงค์ที่จะเดินทางด้วยตัวเองก็ต้องระวังอย่างเข้มงวด ไม่แวะระหว่างทาง หากจำเป็นต้องแวะห้องน้ำสาธารณะก็ต้องมีการทำความสะอาดมือก่อนทุกครั้ง โดยปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H แต่เข้าสู่กระบวนการประสานการเดินทางกลับภูมิลำเนาน่าจะดีที่สุด” นพ.ธงชัย ระบุ
เมื่อถามถึงสถานการณ์เตียงในพื้นที่ต่างจังหวัด นพ.ธงชัย กล่าวว่า ภาพรวมของเตียงที่มีอยู่ทั้งหมดในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต ยกเว้นกรุงเทพฯ มีเตียงอยู่ทั้งหมด 156,189 เตียง ปัจุบันมีการใช้เตียงไปประมาณ 114,786 เตียง หรือประมาณ 73.49% คงเหลือเตียงว่างอยู่ประมาณ 41,185 เตียง โดยการขยายเตียงออกไปมากกว่านี้ จะต้องแยกเตียงออกเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียว สีเหลือง สีแดง ขณะนี้ในเขตสุขภาพที่เริ่มมีผู้ป่วยครองเตียงสูงขึ้นอยู่ในเขตสุขภาพที่ 3 ประมาณ 70% เขตสุขภาพที่ 11 ประมาณ 62% เขตสุขภาพที่ 1 ประมาณ 52% เขตสุขภาพที่ 2 ประมาณ 64% ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งมีการระบาดอยู่ด้วย จึงมีจำนวนการครองเตียงอยู่ที่ 74% และสูงสุดอยู่ที่เขตสุขภาพที่ 4 5 6 ประมาณ 80% ซึ่งก็ยังมีเตียงว่างอยู่ แต่หากเป็นเตียงสีเขียว จะหาไม่ค่อยยาก เพราะมีโอกาสในการจัดการไม่ว่าจะเป็นการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation หรือที่ชุมชนจัดไว้เป็น community isolation และโรงพยาบาลสนาม ตัวอย่างจ.เชียงใหม่ ที่เคยมีการระบาดพบผู้ติดเชื้อถึง 4,000 คน ก็ได้ใช้พื้นที่ศูนย์ประชุม 700 ปี ทำเป็นพื้นที่รองรับผู้ป่วยได้ถึง 3,000 เตียง
ในส่วนต่างจังหวัดการขยายเตียงเขียวไม่ค่อยมีปัญหา ส่วนเตียงเหลืองอาจจะยากขึ้น แต่อยางไรก็ตามจะใช้วิธีการโดยใช้พื้นที่ในโรงพยาบาลชุมชนที่มีทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง จัดตั้งทำเป็นโรงพยาบาลโควิดไปก่อน เพื่อให้คนในชุมชนได้เข้ามารักษาได้ง่าย ส่วนที่ยากจะเป็นเตียงสีแดง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมเตียงสีแดงทั้งหมด อัตราครองเตียงอยู่ที่ 75% ยังคงมีเหลืออยู่บ้างประมาณ 1,000 กว่าเตียง ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในเขตสุขภาพไหน เพราะบางเขตสุขภาพเหลือเตียงแดงเพียง 20-30 เตียง และคาดว่าอีกใน 2 สัปดาห์น่าจะเป็นช่วงพีคของผู้ติดเชื้อที่ส่งกลับภูมิลำเนา
ทั้งนี้นับว่าเป็นภาระที่หนักของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยที่กลับภูมิลำเนา และส่วนภูมิภาคยังต้องส่งทั้งแพทย์และพยาบาลมาช่วยทำงานในโรงพยาบาลบุษราคัมและหอผู้ป่วยหนักที่เพิ่งเปิดไปอีกจำนวน 17 เตียง ประมาณ 200-300 คน เพื่อดูแลคนไข้กว่า 4,000 คน รวมไปถึงโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งเหล่าบุคลากรแพทย์และเจ้าหน้าที่ก็จะทำหน้าที่ในการดูแลรักษาอย่างเต็มที่ แม้จะมีความเหนื่อยล้า ก็มีการให้กำลังใจกัน หรือการปรับการดูแลในรูปแบบบัดดี้ และพยายามเสริมปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่อย่างทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลในการช่วยงานในการตรวจคัดกรอง ส่วนค่ารักษาพยาบาลฟรีทั้งหมด
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |