กนง.เสียงแตก 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ย 0.5% หั่นจีดีพีรอบด่วนพิเศษปีนี้เหลือโตแค่ 0.7% ผวาโควิดระบาดกระทบหนักกว่าประเมิน จับตาเตะฝุ่นเกือบ 3 ล้านคน กกร.หวั่นไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย ปรับลดจีดีพีอยู่ที่ -1.5-0% ชงมาตรการเยียวยา-ขยายเพดานหนี้ นำเข้าวัคซีนเสรี ลดภาษีซื้อชุดตรวจโควิด
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากกว่าที่ประเมิน และมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะเดียวกัน ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลดลงเหลือ 0.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 1.8% และปี 2565 ลดลงเหลือ 3.7% จากคาดการณ์เดิมที่ 3.9% เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้ายังอยู่ในระดับสูง ตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ
ทั้งนี้ โจทย์สำคัญคือการเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชน และเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการด้านการเงินการคลังจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงยากลำบากหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ โดยการช่วยเหลือต้องเร่งผลักดันผ่านการกระจายสภาพคล่องและลดภาระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่ามาตรการการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 2 คนเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า
“การทบทวนตัวเลขประมาณการทางเศรษฐกิจครั้งนี้ เป็นการทบทวนเพิ่มเป็นพิเศษจากรอบปกติ โดยปรับลดลงตามการบริโภคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและอาชีพอิสระ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด” เลขานุการ กนง.ระบุ
ทั้งนี้ กนง.ได้ติดตามสถานการณ์การจ้างงานอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าจากมาตรการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด มีสัดส่วน 78% ของจีดีพี และ 43% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ตลาดแรงงานแย่ลงไปอีกจากการระบาดที่ยังยืดเยื้อ นับเป็นปัญหาว่างงานที่วิกฤติกว่าในอดีต โดยขณะนี้มีผู้เสมือนว่างงาน 2.8 ล้านคน ว่างงานระยะยาว 2 แสนคน และแรงงานย้ายถิ่นเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคน แต่หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาได้ในช่วงต้นไตรมาส 4/2564 ลดการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 0 วัน ไตรมาส 2/2565 คาดว่าจะมีนักท่องเทึ่ยวในปีนี้ที่ 1.5 แสนคน และกลับมาที่ 6 ล้านคนในปีหน้า แต่หากคุมได้ช่วงปลายไตรมาส 4/2564 ลดการกักตัวช่วงไตรมาส 3/2565 จะส่งผลให้ปีนี้เหลือนักท่องเที่ยว 1 แสนคน
นายทิตนันทิ์กล่าวว่า กนง.จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศ ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
วันเดียวกัน นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน ส.ค. เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังวิกฤติและเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะต่อไป กกร.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็น -1.5% ถึง 0.0% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร. คาดว่าจะขยายตัว 10.0% ถึง 12.0%
"หากการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนทั่วประเทศยังทำได้ช้า ประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงที่ยังต้องจำกัดกิจกรรมเศรษฐกิจตลอดไตรมาสที่ 4 รวมถึงลดทอนความเป็นไปได้หรือประโยชน์ของแผนการเปิดประเทศ ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก และเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2564 เข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งก็ตาม" นายผยงระบุ
สำหรับมาตรการยกระดับและขยายพื้นที่ครั้งนี้เป็นการปรับตามสถานการณ์ที่มีการระบาดในต่างจังหวัดเพิ่ม โดยประเมินผลกระทบเพิ่มเติมเป็น 300,000-400,000 ล้านบาท (พื้นที่สีแดงเข้ม มีสัดส่วนถึง 78% ของจีดีพีประเทศ) สถานการณ์ตอนนี้มีการยกระดับใกล้เคียงเมื่อเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน จึงเสนอขอขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 65) รวมถึงเสนอภาครัฐเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป และขอกรมสรรพากรยกเว้นภาษีเอสเอ็มอี 3 ปี
นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งให้ อย.เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น ขณะเดียวกันขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 และให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา "ฟาวิพิราเวียร์" ที่กำลังมีความต้องการสูง
นายผยงกล่าวว่า ภาครัฐต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่วิกฤติและถลำลึกกว่าที่คาดไว้มาก ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นโดยเตรียมความพร้อมในเรื่องความเพียงพอของงบประมาณ เพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี เป็น 65-70% เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติ รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติม ภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินประเทศ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |