"ในหลวง" พระราชทานพระราชทรัพย์กว่า 188 ล้าน ช่วยวัด-โรงเรียนตั้ง รพ.สนาม-ที่กักตัว-ที่ฌาปนกิจศพโควิดทั่วประเทศ ขณะที่ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ทะลุ 2 หมื่นวันแรก ดับนิวไฮ 188 ราย ยอด กทม.พุ่ง 4 พันราย โลกแตะ 200 ล้านราย กรมวิทย์-ควบคุมโรคพบสายพันธุ์เดลตาระบาดใน 74 จว. ใน กทม.ถึง 82% ลามบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อกว่า 1 พันราย ศบค.ชี้ “ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว” ยังไร้ผล เหตุยอดติดเชื้อยังพุ่ง เผย “บิ๊กตู่” ไฟเขียวแนวทางขายอาหารในห้าง 3 รูปแบบ
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญเงินพระราชทานจำนวน 88,800,000 บาท ไปถวายแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร สมทบทุนวัดต่างๆ ที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และที่ฌาปนกิจศพ
จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เชิญเงินพระราชทานจำนวน 99,900,000 บาท ไปมอบแก่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียน สถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ และเหล่าทัพที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และสถานที่กักตัว ทั่วประเทศ
รวมเป็นเงินที่ได้พระราชทานในครั้งนี้จำนวน 188,700,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดหาชุดป้องกันส่วนบุคคล (ชุด PPE) เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ พร้อมทั้งสนับสนุนค่าสาธารณูปโภค ค่าซ่อมแซมปรับปรุงอาคารสถานที่ ค่าบำรุงเมรุ และค่าดำเนินการฌาปนกิจศพ โดยตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้พระราชทานเงินช่วยเหลือไปแล้ว 1,051 ล้านบาท รวมกับที่ได้พระราชทานในครั้งนี้เป็นเงินพระราชทานทั้งสิ้นกว่า 1,240 ล้านบาท
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับมอบเงินบริจาคจำนวน 50 ล้านเยนจาก Mr.Oba Yuichi (Minister Economic Section, Embassy of Japan) อัครราชทูตญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจประจำประเทศไทย และคณะผู้แทนจากบริษัทเครืออิออนในประเทศไทยสนับสนุนจัดซื้ออุปกรณ์ ยาเวชภัณฑ์ และครุภัณฑ์ให้แก่โรงพยาบาลบุษราคัมและโรงพยาบาลอื่นๆ ที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด รวมทั้งรับมอบเงิน 110 ล้านบาทจากคุณชูชาติ และคุณดาวนภา เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหารบริษัทเมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เพื่อสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาล 6 แห่ง แห่งละ 10 ล้านบาท ได้แก่ โรงพยาบาลสุโขทัย, สถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลวชิรพยาบาล, โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์, โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สำหรับโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง แห่งละ 1 ล้านบาท รวมทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แห่งละ 20 ล้านบาท
นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับบริษัทประกันภัยต่างๆ จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ของภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด จำนวน 250,120 กรมธรรม์ แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์สังกัด สธ. 223,872 กรมธรรม์ และนอกสังกัด สธ. ได้แก่ สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ กทม., โรงพยาบาลภูมิพล, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, โรงเรียนแพทย์, กองทัพเรือ และกรมแพทย์ทหารบก รวม 26,248 กรมธรรม์
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 20,200 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 19,992 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 16,284 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 3,708 ราย มาจากเรือนจำ 187 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 672,385 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 17,975 ราย หายป่วยสะสม 455,806 ราย อยู่ระหว่างรักษา 211,076 ราย อาการหนัก 4,910 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,035 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 188 ราย เป็นชาย 90 ราย หญิง 98 ราย อยู่ใน กทม.มากที่สุด 92 ราย รองลงมาคือ ยะลา 12 ราย สมุทรปราการ 10 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตที่บ้านและเสียชีวิตระหว่างนำส่ง 4 ราย อยู่ใน กทม. 2 ราย ปัตตานี ยะลา จังหวัดละ 1 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,503 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 200,259,203 ราย เสียชีวิตสะสม 4,258,679 ราย
เปิด 3 แนวทางซื้ออาหารในห้าง
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 4 ส.ค. ได้แก่ กทม. 4,118 ราย ชลบุรี 1,678 ราย สมุทรสาคร 1,294 ราย สมุทรปราการ 945 ราย นนทบุรี 908 ราย ฉะเชิงเทรา 556 ราย สระบุรี 522 ราย นครราชสีมา 456 ราย อุบลราชธานี 396 ราย อุดรธานี 388 ราย มีคลัสเตอร์ใหม่ 7 แห่ง ประกอบด้วยที่ จ.ชลบุรี 2 แห่ง คือ บริษัทยานยนต์ อ.ศรีราชา พบผู้ติดเชื้อ 25 ราย บริษัทข้อต่อโลหะ อ.เมืองชลบุรี 11 ราย จ.สมุทรสาคร 2 แห่ง คือ บริษัทลวด อ.เมืองสมุทรสาคร 11 ราย บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า อ.กระทุ่มแบน 53 ราย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 2 แห่ง คือ ตลาดอินโดจีน 35 ราย ตลาดรัตนธรรม 44 ราย บริษัทกระสอบ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 25 ราย
แหล่งข่าวระดับสูงใน ศบค.เปิดเผยถึงกรณีที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถซื้ออาหารจากร้านอาหารที่จำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้ากลับบ้านได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้เห็นชอบในมาตรการผ่อนคลาย โดยหากอธิบายให้ประชาชนเข้าใจง่ายๆ คือจะมีจุดบริการ 3 จุด คือ 1.รับออร์เดอร์ 2.จุดรับสินค้า และ 3. จุดจำหน่ายอาหาร โดยจุดรับออร์เดอร์และจุดรับสินค้า ห้างสรรพสินค้าสามารถกำหนดให้ 2 จุดดังกล่าวอยู่ภายใน Supermarket ได้ หรือกำหนดที่เดียวกับ Rider ได้ หรืออาจกำหนดแยกต่างหากก็ได้ ซึ่งเดิม Supermarket มีพื้นที่ 100 ตารางเมตร แต่วันพรุ่งนี้จะมีการขยายพื้นที่เป็น 150 ตารางเมตร เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด พร้อมกับย้ำว่าจุดจำหน่ายอาหารจะต้องอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น ยกตัวอย่างร้านจำหน่ายอาหารอาจนำสินค้าของตนมาวางจำหน่ายภายในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ แต่หากจะรับออร์เดอร์จุดรับออร์เดอร์หรือจุดรับสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตใดมีขนาดกว้างขวางอาจรับสินค้านั้นมาวางอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตได้
แหล่งข่าวใน ศบค.ยอมรับว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิวยังไม่ได้ผล เนื่องจากประชาชนยังปฏิบัติตามไม่มากพอสมควร แต่จะพยายามเร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งหากเข้มมาตรการมากขึ้นกว่านี้ก็จะสร้างความเดือดร้อนมากขึ้น ถึงต้องประเมินอีกสักระยะหนึ่ง จำนวนผู้ติดเชื้อเองเพิ่มขึ้นอย่างมีเหตุผล หากไม่ได้ทำอะไรเลย มาตรการเหมือนเดิม ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมา นั่นจึงน่าเป็นห่วง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิดในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการว่า แนวโน้มในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 24-30 ก.ค.64 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 2,547 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) 1,993 ราย (78.2%) สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) 538 ราย (21.2%) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 16 ราย (0.6%) โดยในพื้นที่ กทม.สุ่มตรวจ 1,229 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,059 ราย (86.2%) สายพันธุ์อัลฟา 170 ราย (13.8%) ส่วนสายพันธุ์เบตาไม่พบผู้ติดเชื้อ ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจ 1,318 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 934 ราย (70.9%) สายพันธุ์อัลฟา 368 ราย (27.9%) และสายพันธุ์เบตา 16 ราย (1.2%)
โดยขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบ 74 จังหวัด ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบมากที่สุดที่จังหวัดยะลา 14 ราย จังหวัดสงขลาและตรังจังหวัดละ 1 ราย สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด และยังเป็นเพียงสายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variant of Interest) ตามการแบ่งระดับขององค์การอนามัยโลก (WHO)
บุคลากรแพทย์ติดเชื้อพันราย
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดมีแนวโน้มสูงขึ้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนกว่า 20,000 รายต่อวัน และเสียชีวิตเกินวันละ 100 ราย เชื้อที่เป็นสาเหตุหลักคือเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์ที่กำลังระบาดในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย เชื้อชนิดนี้สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์อัลฟาถึงร้อยละ 60 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 7 กรกฎาคม 2564 พบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 1,064 ราย เป็นผู้ที่มีอาการป่วย 491 ราย ส่วนใหญ่เป็นพยาบาลวิชาชีพ แพทย์ และผู้ช่วยพยาบาล สาเหตุการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ติดจากการปฏิบัติงานในโรงพยาบาล จากภาระงานจำนวนมากทำให้เหนื่อยล้า รวมทั้งมาจากการที่ผู้ป่วยปิดบังข้อมูล
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ.และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงการบริหารจัดการโรงพยาบาลบุษราคัมว่า ขณะนี้ รพ.มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษากว่า 1.8 หมื่นคน นอนรักษาใน รพ.อีกกว่า 3,300 คน โดยมีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องออกซิเจนประมาณ 450 คน ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์อีก 169 คน ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ 2 คน ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินของ สธ.ก็ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินการตั้งไอซียูสนาม เป็นหอดูแลผู้ป่วยวิกฤติเฉพาะขึ้น ซึ่งขณะนี้ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จพร้อมให้บริการ โดยการสร้างอยู่ที่บริเวณลานจอดรถด้านหลัง รพ. เป็นโครงสร้างกึ่งถาวร มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ครบครันเทียบเท่ามาตรฐานห้องไอซียูพร้อมกับทีมแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลไอซียูที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ด้านในจะบรรจุเตียงจำนวน 17 เตียง แบ่งเป็นวอร์ดไอซียู 13 เตียง ห้องแยกผู้ป่วยความดันลบ 4 เตียง มีเป้าหมายในการรองรับผู้ป่วยวิกฤติอาการหนักที่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดจากภายในชาลเลนเจอร์ฮอลของ รพ. และจะเปิดรับคนไข้นอกเพิ่มเติมอีก 3-5 คน และเพิ่มศักยภาพจนมีคนไข้รักษาครบทุกเตียงหมุนเวียนกันไป โดยจะเปิดรับผู้ป่วยรายแรกในช่วงบ่ายวันนี้
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏมีการขายยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่ได้รับอนุญาต เตือนประชาชนอย่าซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญอยู่เลย หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้เสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน รวมถึงการซื้อยาผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดและเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยาฟาวิพิราเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หากประชาชนสงสัยว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้รับเป็นยาปลอมสามารถสอบถามและแจ้งเบาะแสที่สายด่วน 1556
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิดในเรือนจำและทัณฑสถานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3 ส.ค.64 เวลา 16.00 น.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 187 ราย (พบในเรือนจำสีแดง 165 ราย และพบในห้องแยกกักโรคผู้ต้องขังรับใหม่ 22 ราย) รักษาหายเพิ่ม 481 ราย เสียชีวิต 2 ราย และวันนี้ไม่พบเรือนจำแพร่ระบาดเพิ่มต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยมีเรือนจำสีแดงคงที่ 29 แห่ง เรือนจำสีขาวที่ไม่พบการระบาด 106 แห่ง และสิ้นสุดการระบาดแล้วจำนวน 7 แห่ง
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม.ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย กสทช., True, Dtac, AIS และ NT จัดตั้ง “สายด่วนโควิดเขต” เป็นสายตรงถึง 50 สำนักงานเขต เขตละ 20 คู่สาย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาโดยเร็ว โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้บางเขตที่มีความพร้อมได้เริ่มทยอยให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.64 และจะดำเนินการให้ครบทั้ง 50 เขตโดยเร็ว
ต่างจังหวัดยังติดเชื้อพุ่ง
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต่างจังหวัดยังมีการติดเชื้อจำนวนมากที่จังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อใหม่ 945 ราย เสียชีวิต 10 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 427 ราย
สถานการณ์ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงทำสถิติต่อเนื่อง วันนี้พบอีก 1,678 คน กระจายใน 10 อำเภอ ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็เป็นนิวไฮ โดย 10 สาเหตุในการติดเชื้อยังมาจากสถานประกอบการ ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง ชุมชน ครอบครัว และสถานที่ทำงาน
ที่หน้าโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัท ฮัลซอล เทคนิค (ประเทศไทย) จำกัด ส่งออกทั่วโลก ตั้งอยู่ที่ 168 ม.1 ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มีแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าวจำนวนมากรวมตัวประท้วง ไม่พอใจเจ้าของโรงงานชาวเกาหลีที่ไม่ยอมแก้ไขสถานการณ์ โควิด ซึ่งนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี มอบหมายให้นายพิสิษฐ์ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบ้านบึง พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีเข้าไปตรวจสอบ จึงให้เจ้าของโรงงานชาวเกาหลีปิดโรงงานชั่วคราวในเวลา 11.00 น. โดยพนักงานทั้งกว่า 2 พันคนกลับบ้าน พร้อมกับรายงานเสนอ ผวจ.ชลบุรีปิดเป็นเวลา 7 วัน
ที่ จ.สมุทรสาคร อีกหนึ่งพื้นที่สีแดงเข้ม ผู้ติดเชื้อก็ยังพุ่งสูง วันนี้พบอีก 1,294 คน เป็นการเข้าตรวจในโรงพยาบาล 843 คน ค้นหาเชิงรุก 451 คน
ส่วนที่ จ.นนทบุรี พบผู้ติดเชื้อ 765 คน ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่โควิดระบาดใน จ.นนทบุรี ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว สถานที่ทำงาน และชุมชน โดยเฉพาะในอำเภอบางใหญ่ ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่นิวไฮ 545 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตรายวันอีก 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 67 ราย ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.นครราชสีมา นายกอบชัย บุญอรณะ ผวจ.นครราชสีมา เป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ "หมู่บ้านสีฟ้าปลอดโควิด-19" จังหวัดนครราชสีมา พร้อมมอบธงสีฟ้าสื่อสัญลักษณ์หมู่บ้านนี้ไม่มีโควิด-19 แก่นายอำเภอ 6 อำเภอนำร่อง จากทั้งหมด 32 อำเภอ
ที่ จ.บุรีรัมย์ ยังคงน่าเป็นห่วงเพราะพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 339 ราย แยกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อพบในพื้นที่จังหวัด 2 ราย ติดเชื้อมาจากนอกพื้นที่ 337 ราย รวมยอดผู้ป่วยสะสม 4,999 ราย เสียชีวิตสะสม 7 ราย รักษาหายแล้ว 612 ราย ยังรักษาอยู่ 4,380 ราย
ที่ จ.หนองคาย มีผู้ป่วยรวมสะสม 1,003 ราย กำลังรักษา 805 ราย หายป่วยกลับบ้าน 194 ราย เสียชีวิตสะสม 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยติดเชื้อนอกจังหวัดขอกลับมารักษาที่ภูมิลำเนาตัวเอง
ที่ จ.ขอนแก่น จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดพื้นที่สีแดงควบคุมสูงสุด วันนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 171 ราย ทำให้ขณะนี้จังหวัดมีผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,748 ราย ในจำนวนนี้กำลังรักษาในโรงพยาบาล 2,652 ราย รักษาหายแล้ว 1,083 ราย และเสียชีวิต 13 ราย
ที่ จ.อำนาจเจริญ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่เพิ่ม 79 ราย เป็นผู้ติดเชื้อเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันทีที่มาถึง 77 ราย
ที่ จ.สงขลา จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในแต่ละอำเภอ โรงงาน ตลาดและชุมชน ผลการตรวจมีผู้ติดเชื้อ 353 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยอดรวมสะสม 13,137 ราย เสียชีวิตสะสม 72 ราย
สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ยังควบคุมไม่ได้ พบว่ามีการระบาด ติดเชื้อ และเสียชีวิตมากกว่าเดิม โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อของวันที่ 3 ส.ค.พุ่งอีก 320 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 ราย มียอดผู้ป่วยสะสมทะลุ 10,288 ราย รักษาหาย 6,863 ราย และเสียชีวิตสะสม 135 ราย ผู้ป่วยหนักที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลปัตตานีมี 149 ราย
ที่ จ.ชุมพร พบคลัสเตอร์ใหญ่ในพื้นที่บ้านน้ำใส หมู่ที่ 12 เขตเทศบาลตำบลมาบอำมฤต อ.ปะทิว ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ตั้งอยู่ริมถนนคู่ขนานรถไฟ ตรงข้ามที่ทำการเทศบาลตำบลมาบอำมฤต และสถานีตำรวจบ้านมาบอำมฤตเพียง 300 เมตร เป็นชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนอาศัยอยู่มากกว่า 100 คน ได้เข้ามาบ้านเช่าแบบชั้นเดียวปลูกติดกันเป็นห้องกว่า 40 ห้อง เจ้าหน้าที่ได้ลงทำการปูพรมเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเชิงรุก และพบมีแรงงานต่างด้าวผลตรวจเป็นบวกติดเชื้อโควิดยืนยันไม่แสดงอาการ 61 ราย ซึ่งเป็นการพบกลุ่มผู้ป่วยติดเชื้อโควิดมากที่สุดของจังหวัดชุมพร และมีกลุ่มเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้ประกาศปิดชุมชนดังกล่าว โดยสั่งห้ามแรงงานทั้งหมดออกนอกพื้นที่อย่างเด็ดขาด
ที่ จ.นครศรีธรรมราช มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 164 ราย (ผู้ป่วยในจังหวัด 128 คน/รับจาก กทม.และปริมณฑล 36 ราย) ยอดผู้ป่วยสะสม 4,157 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 1,791 ราย (จากต่างจังหวัด 896 ราย รักษาหายแล้ว 364 ราย) รักษาหายแล้วสะสม 2,600 ราย เสียชีวิตสะสม 35 ราย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |