ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ย่อมมิอาจขัดรัฐธรรมนูญ


เพิ่มเพื่อน    

วันพรุ่งนี้ (6 สิงหาคม) ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งตามคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามที่มีตัวแทนสื่อมวลชนและประชาชนฟ้องนายกฯ

            เป็นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดฉุกเฉินฉบับที่ 29

            เหตุมาจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่องการเผยแพร่ข้อความ “ที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว” เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่มีเสียงต่อต้านจากกลุ่มบุคคลมากมายหลายฝ่าย

            เพราะเป็นสัญญาณอันตรายของผู้ปกครองประเทศ ที่ต้องการจะคุกคามสิทธิเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ในภาวะที่จะต้องมีการเสนอข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบเพื่อเอาชนะสงครามโควิด

            ไม่ว่าจะเป็น 6 องค์กรสื่อ หรือนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน หรือนักนิติศาสตร์ต่างก็ออกมาชี้ให้เห็นถึงอันตรายของการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญและหลักปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง

            องค์กรสื่อได้ออก “จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี” ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนดในฉบับที่ 29

            ระบุถึงข้อกำหนดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เมื่อวันที่ 10  กรกฎาคม 2564 และฉบับที่ 29 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ระบุข้อความในลักษณะเดียวกันว่า “การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร”

            นักวิชาการคณะนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยกเลิกข้อกำหนด

            สรุปประเด็นว่า

            "...เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่หลักของการสื่อสารในยุคดิจิทัล  การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้โดยไม่มีหลักการหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนย่อมเป็นภาพสะท้อนของการขาดธรรมาภิบาล  (governance) อันเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐ

            ข้อกำหนดฉบับนี้เห็นได้ชัดเจนว่าขาดหลักนิติธรรม เพราะนอกจากมีความคลุมเครือในบทบัญญัติแล้วยังให้อำนาจรัฐในการตีความว่าเนื้อหาใดเข้าข่ายบิดเบือน สร้างความหวาดกลัว หรือสร้างความเข้าใจผิด อาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามอำเภอใจและกระทบถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

            ข้อกำหนดฉบับนี้ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่มีโอกาสชี้แจง โต้แย้งและร้องเรียนประการใดๆ ได้

            ขณะเดียวกันการสั่งการไปยังสํานักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์กรอิสระให้เป็นผู้สนองนโยบายย่อมเป็นการแทรกแซงและกระทบถึงความเป็นอิสระขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง กสทช.  ส่งผลให้ขาดธรรมาภิบาลต่อผู้รับใบอนุญาตอย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และประชาชนอีกทอดหนึ่งด้วย..."

            อีกด้านหนึ่งคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 70 ท่านออกแถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์

            ยืนยันว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแจ้งชัด

            ที่เห็นชัดเจนคือข้อกำหนดที่ว่านี้มีลักษณะ “คลุมเครือ ไม่ชัดเจน”  วิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปไม่อาจคาดหมายได้ว่า ข้อความใด “อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว”

            การออกข้อกำหนดที่มีเนื้อหาเช่นนี้ เท่ากับเป็นการห้ามประชาชนมิให้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และห้ามสื่อมวลชนมิให้ใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าว เพราะบุคคลดังกล่าวย่อมไม่แน่ใจว่า คำพูด การแสดงออก หรือการนำเสนอข่าวสาร จะผิดกฎหมายหรือไม่ ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนส่วนหนึ่งอาจเลือกที่จะไม่แสดงออกหรือไม่นำเสนอข่าวเลย  (chilling effect) ทั้งๆ ที่ข้อมูลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ด้วยเกรงผลทางกฎหมายที่จะตามมา ดังนั้น ข้อกำหนดนี้จึงมิใช่มาตรการที่เหมาะสมแต่อย่างใด

            และการกำหนดให้สำนักงาน กสทช.แจ้งผู้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตตรวจสอบ IP address และให้แจ้ง สนง. กสทช.ทราบ และให้ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address ที่เผยแพร่ข่าวสารซึ่งมีลักษณะต้องห้ามในทันที เป็นข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 34 มาตรา 36 ประกอบมาตรา 26

            การสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address ใด ย่อมกระทบต่อเสรีภาพสองประการดังกล่าว

            ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรี และ สนง. กสทช.ต้องการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต ท่านก็ต้องมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้อำนาจท่านไว้ด้วย

            ด้วยเหตุนี้ สนง. กสทช.ย่อมไม่อาจอาศัยอำนาจตามความในข้อกำหนดนี้ สั่งการให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่ IP address ใดๆ ได้

            และมีคำเตือนด้วยว่า

            “โปรดสังวรด้วยว่า มาตรา 17 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ยกเว้นความรับผิดทางกฎหมายให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เฉพาะแต่กรณีที่กระทำโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เท่านั้น”

            ในภาวะวิกฤติแห่งโควิดก็ยังทับซ้อนด้วยวิกฤติแห่งศรัทธา เกี่ยวกับการใช้อำนาจของผู้นำในการสื่อสารระหว่างกันของภาคประชาชนอีกด้วย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"