อาเซียนตั้งรัฐมนตรีบรูไนเป็นทูตพิเศษประจำเมียนมา


เพิ่มเพื่อน    

รัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มอาเซียนประกาศแต่งตั้งเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน เป็นผู้แทนพิเศษของอาเซียนประจำเมียนมาแล้วเมื่อวันพุธ หลังจากล่าช้ามานานหลายเดือน แถลงการณ์ร่วมเผยทูตอาเซียนมีหน้าที่สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่น และจะสามารถเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แฟ้มภาพ เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน (Vladimir Gerdo\TASS via Getty Images)

    รายงานของเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันพุธที่ 4 สิงหาคม กล่าวว่า มติของอาเซียนที่แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบรูไนดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของอาเซียนประจำเมียนมา เป็นผลจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันจันทร์ และการประชุมนอกกำหนดการเมื่อวันพุธ ที่รายงานกล่าวว่าบรรยากาศเมื่อวันจันทร์มีการวิวาทะกันด้วยอารมณ์เป็นบางช่วง

    การแต่งตั้งทูตพิเศษเป็นส่วนหนึ่งของฉันทมติจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารที่ก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มาเข้าร่วมด้วยตนเอง แต่การเจรจาเพื่อคัดเลือกผู้รับตำแหน่งนี้ล่าช้ามานานหลายเดือน วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้นำทหารเมียนมารายนี้กล่าวในสุนทรพจน์ที่เขาประกาศจะเลือกตั้งใหม่ใน 2 ปีด้วยว่า เขาต้องการให้นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เป็นทูตของอาเซียน แต่ "มีการเปิดเผยข้อเสนอใหม่ และเราไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้"

    รอยเตอร์อ้างคำกล่าวของนักการทูตหลายรายว่า ระหว่างการประชุมเมื่อวันจันทร์ เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ตั้งคำถามถึงสถานภาพของรัฐบาลทหารเมียนมาในอาเซียน จากกรณีที่เมียนมาคัดค้านการแต่งตั้งรัฐมนตรีบรูไนรายนี้ จนกระทั่งการเจรจากันอีกครั้งในวันพุธ อาเซียนจึงยืนยันว่าแต่งตั้งยูซอฟเป็นทูตพิเศษของประชาคม

    นับแต่รัฐประหาร ยูซอฟเคยเดินทางเยือนเมียนมาในนามของอาเซียนแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน และได้เข้าพบพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย

    แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อวันพุธ ระบุว่า ภารกิจของยูซอฟจะรวมถึง "การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่น" และเขาจะ "สามารถเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่"

    ยูซอฟจะได้รับมอบหมายงานยุติความรุนแรงในเมียนมา, เปิดการสานเสวนาระหว่างผู้ปกครองจากกองทัพและฝ่ายต่อต้านในเมียนมา นอกจากนี้เขายังจะมีหน้าที่กำกับดูแลโครงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ โดยแถลงการณ์เรียกร้องให้ศูนย์ประสานงานเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนเริ่มการกำหนดแนวนโยบาย

    ขณะที่แถลงการณ์อีกฉบับโดยกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียยืนยันว่า ทูตพิเศษอาเซียนจะเริ่มทำงานโดยเร็ว และสามารถเข้าถึงทุกฝ่ายในเมียนมาได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันฝ่ายค้านในเมียนมากหลายคนซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี กำลังถูกขังคุกหรือกักตัวไว้ที่บ้าน

    แหล่งข่าว 2 คนที่ใกล้ชิดกับการประชุมเผยด้วยว่า ผู้แทนของคณะปกครองทหารเมียนมาในที่ประชุมนี้ยังต่อต้านคำร้องขอจากชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านมนุษยธรรมมีอิสระในการส่งความช่วยเหลือเข้าพื้นที่ที่พวกเขาเชื่อว่าต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดด้วย

    สัปดาห์ที่ผ่านมา อังกฤษกล่าวเตือนว่า ครึ่งหนึ่งของประชากรเมียนมา 54 ล้านคนอาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายใน 2 สัปดาห์ และองค์การสหประชาชาติประเมินว่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขเพียงร้อยละ 40 ในเมียนมาที่ยังทำงานได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"