ปัญหา (Problem) และความต้องการ (Need) ในการบริหารจัดการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอทั้งในการบริหารงานองค์กรตั้งแต่ระดับร้านก๋วยเตี๋ยวไปจนถึงบริษัทมหาชน ตั้งแต่ระดับกองไปจนถึงกระทรวงทบวงกรม ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงประเทศชาติ ปัญหาและความต้องการทั้งหลายเหล่านี้มากกว่า ร้อยละ ๗๐ สามารถจัดการแก้ไขได้ด้วย “ยาวิเศษในการบริหาร” อันได้แก่ “ภาวะผู้นำ” (Leadership) นั่นเอง
ภาวะผู้นำ หมายถึง “วิธีการแสดงออกที่สะท้อนถึงความคิดอ่านภายในจิตใจและสมองของบุคคลผู้ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าหรือผู้นำ ผ่านทางบุคลิกลักษณะท่วงทีวาจา เกิดการตัดสินใจ แล้วสื่อสารต่อไปสู่บุคคลอื่น ในรูปของการสั่งการหรือจูงใจให้บุคคลนั้น ๆ ดำเนินการด้วยวิธีต่าง ๆ ให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้” (คำว่าภาวะผู้นำ ส่วนใหญ่จะใช้ไปในความหมายด้านดี เช่น “หัวหน้าคนนี้มีภาวะผู้นำ” ก็แปลว่าคนนี้เป็นคนเก่ง สั่งการหรือนำพาผู้คนได้) ภาวะผู้นำที่จำเป็นยิ่งสำหรับการบริหารราชการภาครัฐ มีดังนี้
๑. คุณธรรม จริยธรรม หมายถึงธรรมะที่อยู่ในจิตใจ และพฤติกรรมที่แสดงออก อันได้แก่ ความซื่อสัตย์ สุจริต ความเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีงาม มีหิริโอตัปปะ นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักเล่นหุ้นชาวอเมริกัน
เคยกล่าวว่า “ถ้าขาดซึ่งมโนสุจริต (Integrity) เสียแล้ว คุณสมบัติอื่น ๆ ก็หมดความหมาย” ผู้นำในภาคราชการต้องยึดผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชนมากกว่าส่วนตนและพรรคพวก แต่ในเมืองไทยเรื่องนี้นับว่า
ยังมีปัญหาอยู่มาก คะแนนดัชนีการรับรู้ทุจริต คือ Corruption Perceptions Index (CPI) ของประเทศไทยก็ตกต่ำลงทุกปี (ปี ๒๕๖๓ อยู่ลำดับที่ ๑๐๔ จาก ๑๘๐ ประเทศ) ที่น่าตกใจคือมีการวัดคะแนนนี้มานานนับสิบปีแล้ว คะแนนของเราไม่เคยเกินค่าเฉลี่ยของโลกเลยแม้แต่ปีเดียว
๒. ความกล้ารับผิดรับชอบและยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ภาวะผู้นำเรื่องนี้ต้องการบุคคลที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวมั่นคง กล้ารับผิดชอบ ไม่โยนความผิดให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือโทษโน่นนี่ไปเรื่อย รวมทั้งกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องแม้จะถูกบีบจากผู้มีอำนาจมากแค่ไหน นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เคยให้กำลังใจข้าราชการประจำว่า “เขาย้ายเราได้ แต่ลดซี (ระดับตำแหน่ง) เราไม่ได้ อยู่ไหนก็ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้เหมือนกัน”
๓. ความยุติธรรม ผู้นำที่ดีต้องยึดเอาความยุติธรรมเป็นที่ตั้งในการดูแลผู้ร่วมงานและประชาชน
คงไม่มีใครอยากทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ยุติธรรม และถ้าหน่วยงานนั้นมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตอนุมัติหรือตัดสินชี้ขาด ยิ่งต้องคำนึงถึงความยุติธรรมเป็นที่ตั้ง นายจู หรงจี้ อดีตนายกรัฐมนตรีจีนเคยกล่าวไว้ว่า “ข้าราชการไม่ได้เกรงข้าฯ เพราะข้าฯ เข้มงวด แต่เกรงข้าฯ เพราะข้าฯ สุจริต ประชาชนไม่ได้ชื่นชมข้าฯ เพราะผลงาน แต่ชื่นชมข้าฯ เพราะข้าฯ ยุติธรรม” (บางสำนักสนับสนุนให้ “ผู้บังคับบัญชาต้องเข้มงวด” ซึ่งผมเห็นด้วย แต่ต้องยุติธรรมและมีเมตตาควบคู่กันไปด้วย)
๔. ความสามารถในการคาดการณ์อนาคต ผู้นำที่ดีควรมีความสามารถมองภาพรวมหรือสภาวการณ์ในอนาคตหรือฉากทัศน์ (Scenario) ได้ โดยมีลางสำนึก (Sixth Sense) บางอย่าง ที่บอกได้ว่าเรื่องใดทำแล้วจะดี เรื่องใดทำแล้วจะเกิดปัญหา ความสามารถนี้จะทำให้ผู้นำวางวิสัยทัศน์ (Vision) ได้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น รัชกาลที่ ๔ ทรงเล็งเห็นว่าชาติตะวันตกกำลังรุกคืบเข้ามายึดพื้นที่ในเอเชีย จึงได้ทรงเตรียมเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองและเตรียมการศึกษาให้ราชบุตรราชธิดาของพระองค์ท่าน ซึ่งต่อมารัชกาลที่ ๕ ก็ได้ทรงสืบทอดพระราชปณิธานนั้น โดยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ตลอดรัชกาล พาบ้านเมืองรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นมาได้ เรื่องการคาดการณ์อนาคตนี้เกี่ยวข้องกับพื้นฐานทางคุณธรรมและจริยธรรมด้วย กล่าวคือถ้าเป็นคนดีมีธรรมะ การตัดสินใจก็จะออกมาในทาง
มีเหตุมีผล มุ่งไปในด้านดีงามเสมอ แม้ถ้าหากผิดพลาดคลาดเคลื่อนบ้าง ก็จะไม่เสียหายมากนัก
๕. ความสามารถในการบริหารคน ผู้นำต้องรู้จักหาคนดีคนเก่งมาใช้งาน ต้องรู้จักแยกแยะว่าใครมีความรู้ความสามารถอย่างไร งานใดควรใช้คนประเภทไหนทำ ถ้ารู้ไปถึงนิสัยใจคอและพฤติกรรมส่วนตัว รวมถึงครอบครัวได้ก็ยิ่งดี ฉะนั้น การใช้คนให้เหมาะแก่งาน (Put the right man on the right job) จึงสำคัญยิ่ง
บางองค์กรมีการสร้างผู้นำรุ่นต่อไปอย่างเป็นระบบ เช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) มีการบ่มเพาะแล้วคัดกรองอย่างถี่ถ้วน เพื่อวางทายาทคนที่จะเป็นผู้นำในอนาคตแบบรู้ตัวล่วงหน้าไม่คลุมเครือ ซึ่งระบบราชการไทยยังไม่สามารถจะทำได้เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องซับซ้อนมากเกินไป
๖. ความสามารถในการสื่อสาร ในชีวิตประจำวันผู้นำหรือหัวหน้าจะต้องพูดจากับเพื่อนร่วมงาน
ทั้งในการปรึกษาหารือ การประชุม การวางแผน การตัดสินใจ การสั่งการ การอธิบายชี้แจงซึ่งรวมถึงการรับฟังผู้อื่นด้วย เนื่องจากปัจจุบันโลกแคบลงเพราะเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารทันสมัยและมีหลายช่องทาง ข้อมูลข่าวสาร ที่ส่งกันไปมาในหน่วยงานและประชาชนมีมากมายมหาศาล ฉะนั้น การฝึกฝนเตรียมตัวที่ดีเพื่อการสื่อสารที่ชัดเจน
มีพลังในทางบวกจึงจำเป็นสำหรับผู้นำมาก โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์หรือการพูดต่อหน้าสาธารณะ
๗. ความมุ่งมั่นตั้งใจ ผู้นำจะต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ (Determination) ที่จะทำงานให้สำเร็จโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ประกอบด้วยความอุตสาหะวิริยะเอาใจใส่ ความผูกพัน (Engagement) กับองค์กร และการมีแรงปรารถนา (Passion) ที่จะทำงานให้ได้ผลดี มาร์ติน ลูเธอคิง จูเนียร์ เคยกล่าวไว้ว่า “คนกวาดถนนถ้ามีใจรักในงาน ก็สามารถกวาดถนนได้เหมือนไมเคิล แองเจโลวาดรูป เบโธเฟนเล่นดนตรี เชกสเปียร์เขียนบทกวี” ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำจะเป็นพลังดึงดูดให้ผู้ร่วมงานคึกคักเข้มแข็งตามไปด้วย เช่น ถ้าหัวหน้าขยัน ลูกน้องก็จะขยันตาม
๘. ความฉลาดเฉลียว ผู้นำหรือหัวหน้าไม่จำเป็นต้องฉลาดปราดเปรื่องมี I.Q. (Intelligence Quotient) สูงขนาด ๑๘๐ เพราะผู้นำสามารถหาคนฉลาด ๆ มาช่วยงานได้ แต่ต้องเฉลียวเก่ง เพราะความเฉลียวจะทำให้เห็นหรือสงสัยอะไรบางอย่างที่คนฉลาดมองข้ามไป มีตัวอย่างมากมายที่ผู้นำหรือหัวหน้าฉลาดแต่ไม่เฉลียวแล้วสร้างปัญหาจนพาองค์กรหรือประเทศชาติไปสู่หายนะ นอกจากนี้แล้วผู้นำจำเป็นต้องใช้ความฉลาดในการแก้ไขปัญหามี A.Q. (Adversity Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ E.Q. (Emotional Quotient) ความฉลาดทางสังคม S.Q. (Social Quotient) และความฉลาดทางจริยธรรมและศีลธรรม M.Q. (Moral Quotient) ด้วย
สรุป ภาวะผู้นำเป็น“ยาวิเศษ”ที่สามารถแก้ไขปัญหาให้เบาบางลงได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ถ้าผู้นำหรือผู้บริหารที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ กล้าพอที่จะใช้ภาวะผู้นำที่ดีทั้งแปดข้อข้างต้นเข้าจัดการกับปัญหาเหล่านั้น ดังเช่น ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังสร้างความเสียหายอย่างมากมายทั้งทางชีวิตร่างกายและ
ทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ ยิ่งต้องการผู้นำที่ใช้ภาวะผู้นำเข้าจัดการกับปัญหานี้อย่างเต็มที่ ประเทศจึงจะพ้นภัยไปได้.
“If you build an army of 100 lions and their leader is a dog, in any fight, the lions will die like a dog. But if you build an army of 100 dogs and their leader is a lion, all dogs will fight like a lion.” (Napoleon Bonaparte)
ส่งบทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ โดย พงศ์โพยม วาศภูติ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |