ครม.ขยายมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน-นายจ้าง 29 จังหวัดแดงเข้ม เพิ่มวงเงินเป็น 6 หมื่นล้านบาท 13 จ.เดิมได้เงิน 2 เดือน อีก 16 จ.รับ 1 เดือน จ่อช่วยเหลือโชเฟอร์แท็กซี่-วิน จยย. ยืดเวลา ม.40 ลงทะเบียนรับ 5 พัน โฆษกรัฐบาลเผยเงินกู้ยังเหลือกว่า 4 แสนล้าน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท รายละเอียดดังนี้ ปรับเพิ่มพื้นที่ดำเนินการจากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กทม., กาญจนบุรี, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, ตาก, นครปฐม, นครนายก, นครราชสีมา, นราธิวาส, นนทบุรี, ปทุมธานี, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, ยะลา, ระยอง, ราชบุรี, ลพบุรี, สงขลา, สิงห์บุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สระบุรี, สุพรรณบุรี และอ่างทอง
ส่วนกลุ่มเป้าหมาย ให้ความช่วยเหลือครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคม และไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ครอบคลุมกิจการในระบบประกันสังคม 9 สาขา และในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบถุงเงิน ภายใต้โครงการคนละครึ่ง, โครงการเราชนะ ที่ผ่านการคัดกรองและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 20 ก.ค.โดยระยะเวลาช่วยเหลือ กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม 2 เดือน คือ ก.ค.-ส.ค. และกลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติม 1 เดือน คือสิงหาคม
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม. วันที่ 20 ก.ค.ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป
นายอนุชากล่าวด้วยว่า ครม.มีมติขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ใน 9 กลุ่มสาขาอาชีพ เพิ่มเติม 16 จังหวัด เป็น 29 จังหวัดในส่วนของผู้ประกันตนอาชีพอิสระ มาตรา 40 ซึ่งปิดให้ลงทะเบียนไปตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ไปหารือเกี่ยวกับการขยายเวลาให้ลงทะเบียนเพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับการเยียวยา
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวถึงกรณีการใช้เงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องการใช้จ่ายเงินกู้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเงินกู้รอบล่าสุด 5 แสนล้านบาทนี้ จะอนุมัติเพื่อดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งการประชุม ครม.ครั้งนี้อนุมัติลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองเกี่ยวกับค่าเทอม และการขยายวงเงินช่วยเหลือแรงงาน รวมประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาท ฉะนั้นยังมีเงินเหลือในส่วนของเงินกู้ประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท นายกฯ ขอให้ความมั่นใจว่าจะดูในสิ่งที่ต้องเยียวยาและประชาชนได้รับผลกระทบจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนในอนาคตจะมีการกู้เพิ่มหรือไม่นั้นคงแล้วแต่สถานการณ์และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยจะต้องคำนึงถึงเสถียรภาพทางการคลังและกรอบวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด
ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33, 39 และ 40 ในจังหวัดที่เพิ่มมาอีก 16 จังหวัด จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเยียวยา 13 จังหวัด โดยจะนำเข้า ครม.ในวันที่ 10 ส.ค. และคาดว่าจะเริ่มโอนเงินเยียวยาสำหรับผู้ประกันมาตรา 33, 39 และ 40 ในจังหวัดที่เพิ่มมา 16 จังหวัดได้หลังวันที่ 24 ส.ค.เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีการเยียวยา 13 จังหวัดเดิมเพิ่มอีก 1 รอบ เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ในพื้นที่รวมเป็น 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) โดยจะจ่ายเงินเยียวยา 29 จังหวัดพร้อมกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |