จ่อปรับเกณฑ์ซื้ออาหารในห้าง


เพิ่มเพื่อน    

ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 18,901 ราย เสียชีวิต 147 ราย ทำยอดติดเชื้อสะสมทะลุ 6.5 แสนแล้ว สธ.ร่วมมือแพทย์ชนบทลุยตรวจเชิงรุก กทม. 4-10 ส.ค. คาดเจอผู้ป่วยเพิ่ม 32,500 ราย! ยัน “ฟาวิพิราเวียร์” ไม่ขาดแคลนแต่อาจติดขัดเรื่องกระจาย “บิ๊กตู่” หยิบปัญหาสั่งอาหารในห้างถกที่ประชุม ครม. “เลขาฯ สมช.” แพลมอาจเพิ่มจุดรับสินค้าแก้ขัด จับตาประชุม 4 ส.ค.คลอดหลักเกณฑ์ใหม่อีกรอบ หลายจังหวัดตัวเลขพุ่งแห่ปิดห้าง-สถานที่ท่องเที่ยว
เมื่อวันอังคารที่ 3 ส.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 18,901 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 18,151 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 15,176  ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,975 ราย มาจากเรือนจำ 743 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 652,185  ราย หายป่วยเพิ่มเติม 18,590 ราย หายป่วยสะสม 437,831 ราย อยู่ระหว่างรักษา 209,039 ราย อาการหนัก 4,893 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 1,046 ราย และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 147 ราย เป็นชาย  84 ราย หญิง 63 ราย อยู่ใน กทม.มากที่สุด 55 ราย รองลงมาคือ  ปทุมธานี 11 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย อยู่ใน กทม. 1 ราย และปทุมธานี 1 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,315 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 199,595,039 ราย เสียชีวิตสะสม  4,248,886 ราย   
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ กทม. 3,566 ราย,  สมุทรปราการ 1,361 ราย, ชลบุรี 1,359 ราย, สมุทรสาคร 1,282 ราย,  นนทบุรี 565 ราย, ปทุมธานี 465 ราย, นครราชสีมา 454 ราย,  อุบลราชธานี 448 ราย, บุรีรัมย์ 405 ราย และสระแก้ว 382 ราย โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ 4 แห่ง ประกอบด้วย ที่ อ.เมืองสมุทรสาคร 2 แห่ง คือ  โรงงานถุงพลาสติก พบผู้ติดเชื้อ 19 ราย และโรงงานบรรจุอาหารกระป๋อง 11 ราย, บริษัทคอนกรีต อ.บางเลน จ.นครปฐม 10 ราย และโรงงานข้าวโพด อ.เมืองกาญจนบุรี 24 ราย  
    ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)  กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนมาก แม้ขยายเตียงรองรับกว่า 1.85 แสนเตียงก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.ในกลุ่มผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ได้จัดระบบการดูแลรักษาที่บ้าน (Home Isolation) และที่ชุมชน (Community  Isolation) โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.และคลินิกชุมชนอบอุ่นดูแลติดตามอาการ และมีหน่วยเชิงรุกในชุมชน หรือ CCR  Team สนับสนุนการดำเนินงาน ใน กทม.มีแล้วประมาณ 200 ทีม 
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า ในช่วงล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์นี้ สธ.ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบทจัดหน่วย CCR Team โดยบุคลากรสาธารณสุขจิตอาสาหลายสาขาวิชาชีพในภูมิภาค 39 ทีมภูธร ตรวจเชิงรุกในพื้นที่ กทม. ระหว่างวันที่ 4-10 ส.ค.และคาดว่าจะมีเพิ่มเติมอีกรวมกว่า 40 ทีม ซึ่งหน่วยเชิงรุก CCR Team มีความสำคัญในการช่วยควบคุมสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ กทม. เนื่องจากช่วยแยกผู้ติดเชื้อในชุมชนไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ โดยตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อในชุมชนด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) โดย  สธ.ได้สนับสนุนชุดตรวจ ATK 3 แสนชุด ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองวันละ 35,000 ราย โดยภายใน 7 วันจะตรวจคัดกรองให้ได้ไม่น้อยกว่า 250,000 ราย คาดว่าอาจพบผลบวก 15% หรือ 32,500  ราย และประมาณ 1 ใน 3 ต้องการยาฟาวิพิราเวียร์ จึงสนับสนุนยาฟาวิพิราเวียร์อย่างน้อย 6 แสนเม็ด เริ่มดำเนินการวันที่ 4 ส.ค.เป็นวันแรก
ฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาดแคลน
    ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด  สปสช.) มีมติเห็นชอบให้ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์  และชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรอง ตรวจยืนยัน การดูแลรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ที่ถูกกำหนดโดยกรมการแพทย์ สธ. หรือหน่วยงานที่ ศบค.มอบหมายทุกรายการ เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยังเห็นชอบให้เพิ่มรายการยาฟาวิพิราเวียร์ในแผนการจัดหาเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วนในปี  2564 จำนวนไม่เกิน 27 ล้านเม็ด วงเงินไม่เกิน 891 ล้านบาท จากงบค่าบริการโควิด-19 และต่อเนื่องไปปี 2565 รองรับกรณีหน่วยบริการไม่สามารถหายาฟาวิพิราเวียร์ได้เพียงพอ
    แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งถึงข้อกังวลปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ที่อาจมีไม่เพียงพอต่อการรักษา จะพิจารณาอนุญาตให้โรงงานผลิตยาเอกชนร่วมผลิตหรือไม่ว่า สธ.คาดการณ์ว่ายาฟาวิพิราเวียร์ไม่ขาด และในเดือน ส.ค.นี้องค์การเภสัชกรรมจะผลิตยาได้เดือนละ 2-3  ล้านเม็ด และได้สั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศด้วย โดยเดือน ต.ค.จะขยายกำลังการผลิตถึงเดือนละ 30 ล้านเม็ด จึงคาดการณ์ว่าน่าจะมีปริมาณยาที่เพียงพอ แต่อาจมีปัญหาการกระจายทั้ง รพ.หลัก รพ.สนาม หรือแต่ละจุด ซึ่งกำลังปรับกันอยู่และคาดว่าเร็วๆ นี้จะดีขึ้น
    ด้าน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด (กลุ่มสีเขียว) กลับภูมิลำเนาว่า ตั้งแต่ 29 ก.ค. ถึง 3 ส.ค.ได้ใช้เครื่องบินลำเลียงแบบ C295 บินส่งผู้ป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาไปแล้ว 4 เที่ยวบิน รวม 84 คน และล่าสุดจัดเที่ยวบินด้วย ฮ.ท.17  เป็นเที่ยวบินแรกใน 2 เส้นทางบิน โดยออกเดินทางจาก กทม.ไป จ.ตาก  และรับผู้ป่วยโควิดจาก จ.ตากไปส่งต่อที่ จ.พิษณุโลก รวม 11 คน นอกจากนี้ยังได้จัดรถยนต์นำผู้ป่วยโควิด (สีเขียว) กลับภูมิลำเนาอีก 2  จังหวัด คือ พิษณุโลก 12 คน และพิจิตรอีก 14 คน 
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ยังชี้แจงถึงกรณีเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์ประสานงานต้านโควิด ทบ.ว่ามีการรับสายตลอด 24 ชั่วโมง และยังใช้งานได้ตามที่ประชาสัมพันธ์ แต่ที่โทร.ติดบ้างไม่ติดบ้างอาจเป็นเพราะตอนนี้มีประชาชนโทร.เข้ามาเป็นจำนวนมาก และในแต่ละเคสต้องใช้เวลาพูดคุยอย่างน้อย 10-20 นาทีต่อคน แม้จะเพิ่มคู่สายเป็น 40 คู่สายแล้วก็ตาม 
    รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องการเดินทางออกจาก จ.ภูเก็ตของนักท่องเที่ยวเพื่อมายัง กทม.ขึ้นเครื่องกลับประเทศ โดยต้องนั่งรถบัสมา กทม. เนื่องจากสนามบินใน  กทม.ปิด โดยสั่งให้กระทรวงคมนาคมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางอำนวยความสะดวก  โดยอาจเปิดสนามบินเป็นกรณีพิเศษ หรือให้ใช้สนามบินอู่ตะเภาแทน 
จ่อชงผ่อนคลายเดลิเวอรี
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังได้หยิบยกปัญหามาตรการผ่อนปรนให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าขายอาหารแบบเดลิเวอรีได้ แต่ห้ามจำหน่ายหน้าร้าน ทั้งที่ประชาชนบางส่วนสามารถเดินทางไปจับจ่ายสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าได้ โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.ชี้แจงว่า การจำหน่ายอาหารเดลิเวอรีนั้น แม้เป็นพนักงานส่งอาหารก็ไม่สามารถเดินไปรับอาหารหน้าร้านค้าได้ ต้องไปรับอาหารจุดอื่น จึงจะพิจารณาให้เพิ่มจุดรอรับอาหารสำหรับคนที่จะมาซื้ออาหารให้เป็นกิจจะลักษณะที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งตรงนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ โดย  ศปก.ศบค.จะไปพิจารณารายละเอียดเรื่องแนวทางดังกล่าวอีกครั้ง 
มีรายงานแจ้งถึงข้อเสนอของผู้ประกอบการบางส่วน ที่เรียกร้องให้ประชาชนสั่งซื้ออาหารภายในห้างสรรพสินค้าได้ที่หน้าร้านว่า เบื้องต้นไม่สามารถอนุญาตได้ เนื่องจากทีมแพทย์เน้นย้ำว่าไม่อยากให้คน
รวมตัวกันหน้าร้าน แต่ในที่ประชุม ศปก.ศบค.ในวันที่​ 4 ส.ค.นี้จะพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และออกเป็นมติเพื่อให้จังหวัดออกแนวทางปฏิบัติได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เนื่องจากหลักการปฏิบัติจะสอดคล้องกับข้อกำหนดในประกาศอยู่แล้ว
    ส่วนเรื่องการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้น นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานด้านความมั่นคงไปติดตามการปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.ได้ประกาศข้อกำหนดออกไป หากฝ่าฝืนกระทำผิดก็ให้ลงโทษ เช่นเรื่องฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ขณะเดียวกันให้ไปดูกรณีบุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดหนึ่ง แต่เข้ามาทำงานอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ว่าจะเยียวยาเขาอย่างไร
    วันเดียวกัน นพ.สุวรรณ​ชัย​ วัฒนา​ยิ่ง​เจริญ​ชัย​ อธิบดี​กรมอนามัย แถลงเรื่องร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ระบุว่าให้สั่งเดลิเวอรีเท่านั้น  ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าเมื่อมาซูเปอร์มาเก็ตในห้างแล้วจะสามารถไปซื้อเองที่ร้านอาหารในห้างนั้นๆ ได้หรือไม่ ว่าต้องลดการรวมตัวแออัดหน้าร้าน จึงให้ร้านที่อยู่ในห้างจัดบริการเดลิเวอรี ซึ่งเราได้ทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการปิดห้างสรรพสินค้า หากห้างหรือศูนย์การค้า คอมมิวนิตีมอลไม่สามารถทำได้ ก็ไม่สามารถเปิดให้บริการลักษณะนี้ได้ จะต้องให้ผู้บริโภคสั่งผ่าน Food Delivery Service
    “สายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดได้ง่ายและเร็วขึ้น ทุกร้านต้องประเมินมาตรฐานสุขภาพลักษณะของสถานที่ Thai Stop Covid  Plus เพื่อให้ สธ.ติดตามกำกับและประเมินผล ส่วนพนักงานเดลิเวอรี  ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มการจัดส่งอาหารต้องประเมิน Thai Stop  Covid เช่นกัน ต้องคัดกรองพนักงาน ทั้ง Full Time และ  Part Time” 
เมื่อถามว่า เนื่องจากมีรายงานพบเห็นพนักงานส่งสินค้ามีการรวมตัวกันระหว่างรอคำสั่ง บางครั้งจับกลุ่มคุยกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย จะมีแนวทางจัดการอย่างไร นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ส่วนนี้เป็นสาเหตุของโอกาสแพร่เชื้อและเกิดกลุ่มก้อนของการระบาด ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดในส่วนของ part-time ซึ่งเรื่องที่มักมีการร้องเรียนก็คือ จุดที่ไปรอรับอาหารและจุดรับส่งคำสั่งซื้อ ซึ่งแยกเป็น 2 กรณี กรณีแรกร้านอาหารภายนอกห้างต้องขอความร่วมมือควบคุมและจัดระบบด้วย จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และกรณีที่สอง ร้านในห้างเรามีการกำหนดในข้อกำหนดฉบับที่ 30 ว่าห้างมีหน้าที่จัดระบบและควบคุมกำกับไม่ให้ไรเดอร์มารวมกลุ่ม หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการสูงสุด ส่วนจะมีการเอาผิดหรือไม่นั้น หากเป็นครั้งแรกมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท  ครั้งที่ 2 ปรับ 1,000-10,000 บาท ครั้งที่ 3 ปรับ 10,000-20,000 บาท  ซึ่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่สำคัญคือคณะกรรมการโรคติดต่อของกรุงเทพฯ ทุกจังหวัดมีหน้าที่ผู้กำกับให้เป็นไปตามประกาศของแต่ละจังหวัด ถือเป็นหน้าที่ แต่ส่วนสำคัญคือประชาชนต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เป็นหูเป็นตาสอดส่อง 
    สำหรับสถานการณ์โควิดในพื้นที่ต่างๆ นั้น ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,361 ราย และเสียชีวิต 4 ราย เป็นเพศหญิงทั้งหมด และยังพบว่า รพ.เอกชนในจังหวัดหลายแห่งขาดแคลนน้ำเกลือแล้ว ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 66 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการนำเชื้อเข้ามาจากต่างจังหวัด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.บุรีรัมย์ สถานการณ์ยังคงน่าเป็นห่วง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่อีก 234 ราย กระจายใน 13 อำเภอ  จาก 23 อำเภอ ขณะที่ จ.อำนาจเจริญ มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 54 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย โดยจังหวัดยังมีคำสั่งให้ปิดร้านสะดวกซื้อ และมินิบิ๊กซี สาขาพนา ส่วนที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่นิวไฮ  412 ราย เสียชีวิตรายวันอีก 2 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 66 ราย และยังมีคลัสเตอร์ที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดและมีมาตรการเข้มข้นบับเบิลแอนซีลอีก 9 คลัสเตอร์
    ส่วนในพื้นที่ภาคใต้นั้น จ.กระบี่ พบผู้ป่วยใหม่อีก 15 ราย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจึงมีมติขยายเวลาปิดศูนย์การค้าโวคกระบี่ออกไปอีก 7 วัน ส่วนที่ จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งอีก 359 ราย  เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย ทำให้มีมติเห็นชอบให้ปิดห้างบิ๊กซี สาขาปัตตานี  เป็นเวลา 14 วัน ไม่ต่างจาก จ.สงขลา ที่พบผู้ติดเชื้อใหม่ 122 ราย และเสียชีวิต 5 ราย สูงสุดในรอบ 4 เดือน ทำให้มีคำสั่งปิดสถานที่และชายหาดทั้งหมดในอำเภอเมืองสงขลาทั้ง 8 จุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"