จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดูเหมือนว่าตัวเลขของผู้ติดเชื้อจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องยืดระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์ จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 2 ส.ค.64 ออกไปอีก 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ นับจากวันที่ 2 ส.ค. พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มอีก 16 จังหวัด จนครบทุกภาค รวมเป็น 29 จังหวัด และขอให้ประชาชนงดภารกิจที่ต้องเดินทางออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00-04.00 น. เพื่อให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงให้มากที่สุด
ไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจากมาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการอย่างหนักหนาสาหัส แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการได้หามาตรการเพื่อให้บริษัทอยู่รอด แต่ไม่สามารถประคับประคองต่อไปได้อีก เนื่องจากเมื่อหยุดบินรายได้ก็เป็นศูนย์ ซึ่งสวนทางกับรายจ่ายที่ยังเท่าเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการจึงรวมตัวกันเพื่อให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ
ก่อนหน้านี้ สมาคมสายการบินแห่งประเทศไทย นำโดยนายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการ 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, ไทยสมายล์แอร์เวย์, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยเวียตเจ็ท, ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, ไทยแอร์เอเชีย และนกแอร์ ร่วมแถลงข่าวออนไลน์เพื่อติดตามความคืบหน้าการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นข้อเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผลกระทบต่อสายการบิน แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุมัติ และขณะนี้ยังถูกให้งดทำการบินชั่วคราว
อลหม่านวงการการบิน เมื่อสายการบินไทยแอร์เอเชียได้ออกประกาศว่า จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ธุรกิจสายการบินได้รับผลกระทบ จากคำสั่งที่ให้สายการบินหยุดทำการบินเส้นทางบินในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้ม ประกอบกับผลกระทบที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ปัจจุบันสายการบินต้องทยอยประกาศหยุดทำการบินเส้นทางบินในประเทศชั่วคราวทั้งหมดตั้งเเต่เดือน ก.ค. ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะสภาพคล่องและเงินหมุนเวียนในบริษัท
จนในที่สุดได้ออกประกาศการเลื่อนจ่ายเงินเดือนพนักงานเพื่อพยุงการจ้างงาน บริษัทมีความจำเป็นต้องประกาศแจ้งมาตรการระยะสั้นเลื่อนและแบ่งจ่ายเงินเดือนพนักงาน เดือน ก.ค.-ส.ค.64 และจะหยุดให้บริการหยุดประกอบกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราวในเดือน ส.ค.64
ขณะที่สายการบินนกแอร์ได้ประกาศด่วนยุติการทำการบิน สำหรับเที่ยวบินที่บินเข้า-ออก ณ สนามบินอู่ตะเภา ตั้งแต่ 3 ส.ค.64 เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นไปตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา กรณีเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มอีก 16 จังหวัด รวมทั้ง จ.ระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินอู่ตะเภา
เช่นเดียวกับสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ แจ้งว่าเพื่อปฏิบัติตามประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 28 และอ้างอิงตามประกาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จึงจำเป็นที่จะต้องงดให้บริการเส้นทางบินในประเทศชั่วคราว ระหว่างวันที่ 4-15 ส.ค.64 และสายการบินบางกอกแอร์เวย์สได้แจ้งหยุดให้บริการเที่ยวบิน เส้นทางสมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
จากวิกฤติโควิด-19 นับว่าธุรกิจการบินได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า แม้แต่สายการบินไทย ที่อยู่ระหว่างเข้าแผนฟื้นฟู ล่าสุดได้ประกาศขายที่อสังหาริมทรัพย์ของบริษัทในทำเลทองต่างๆ ได้แก่ ย่านหลานหลวง, สีลม, ดอนเมือง, ภูเก็ต, ขอนแก่น, อุดรธานี, พิษณุโลก, เชียงใหม่ และเชียงราย
ก่อนหน้านี้ การบินไทยได้ยื่นศาลล้มละลายเพื่อขอขายทรัพย์สิน เนื่องด้วยสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทุกสายการบิน รวมถึงการบินไทยไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ อีกทั้งธุรกิจการบินทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติการหดตัวอย่างรุนแรง จากข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กระแสเงินสดของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไม่เพียงพอที่บริษัทจะกลับมาเริ่มทำการบินได้
คงต้องยอมรับกันว่า วิกฤติครั้งนี้ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจการบินจะต้องนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการบินในเร็วๆ นี้.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |