ผมติดตามการพยากรณ์ตัวเลขของคนไทยที่จะติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าภายใต้สมมติฐานต่างๆ
พอเห็นภาพว่า หากมาตรการล็อกดาวน์ไม่ได้ผลหรือได้ผลเพียงบางส่วน เราจะเห็นภาพที่น่ากังวลมากเพียงใด
การทำภาพจำลองสถานการณ์เช่นนี้เป็นประโยชน์สำหรับการปรับนโยบายให้สอดคล้องกับปัจจัยที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
มีปัจจัยสำคัญๆ คือ
1.หยุดยั้งการแพร่ระบาดได้เพียงใด
2.มาตรการล็อกดาวน์ได้ผลหรือไม่อย่างไร
3.หาและฉีดวัคซีนได้เร็วและกว้างขวางเพียงใด
4.ไวรัสตัวนี้กลายพันธุ์แล้วมีอิทธิฤทธิ์มากน้อยเพียงใด
5.ยุทธศาสตร์ของประเทศชัดเจนเพียงใด มีการบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
ผมจึงสนใจว่า “ฉากทัศน์” ของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุดที่สร้างภาพจำลองต่างๆ ไว้นั้นจะนำเราไปสู่จุดไหน
และเมื่อเห็น scenarios ต่างๆ แล้วจะมีการปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอย่างไรบ้าง
สัปดาห์ที่ผ่านมาเราได้รับทราบจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ถึงที่มาที่ไปของ “ฉากทัศน์” ต่างๆ ที่น่าสนใจ
ท่านกล่าวถึงการคาดการณ์สถานการณ์โควิดตามแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ SEIR ว่า
เส้นที่วิ่งตรงขึ้นไปแสดงถึงยอดตัวเลขการคาดการณ์
ส่วนเส้นที่ยึกยักขึ้นลงเป็นตัวเลขจากสถานการณ์จริง
เมื่อนำเส้นกราฟทั้ง 2 มาเปรียบเทียบและใช้สูตรคำนวณจะพบว่าใกล้เคียงกัน
จุดหมายที่ใช้เปรียบเทียบคือ หลังมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร
โดยมีทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิต เปรียบเทียบทั้งโมเดลและสถานการณ์จริง เทียบเคียงมาตรการล็อกดาวน์เมื่อปลายเดือน ก.ค.64 นำมาเปรียบเทียบเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ข้างหน้า
นพ.โอภาสบอกว่า สำหรับการเปรียบเทียบสถานการณ์ 3-4 เดือนข้างหน้าจะมีเส้นกราฟอยู่ 5 เส้น
โดยเส้นสีน้ำเงินเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน จากการคาดการณ์หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือมาตรการเข้มข้นใดๆ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะสูงเกิน 4 หมื่นรายได้ และจุดสูงสุดจะอยู่ที่ 14 ก.ย.
หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ พบว่าเส้นกราฟจากการคำนวณในแบบโมเดลมีทั้งหมด 4 เส้น
เส้นแรกคือสีส้ม หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์ ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการอยู่บ้านมากที่สุด มาตรการทำงานที่บ้าน Work From Home หยุดกิจกรรมชุมนุมรวมตัวกลุ่มคน เป็นต้น
หากทำได้มีประสิทธิภาพจะลดการติดเชื้อได้ 20% เป็นเวลานาน 1 เดือน ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะลดลง จากเกินกว่า 4 หมื่นราย เหลือกว่า 3 หมื่นราย จุดสูงสุดอยู่ที่ต้นเดือน ต.ค.
"หากใช้มาตรการล็อกดาวน์นานกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ จะเป็นโมเดลเส้นกราฟสีเหลือง หากทุกคนให้ความร่วมมือมาตรการต่างๆ จะลดติดเชื้อได้ 25% นาน 1 เดือน ก็จะใกล้เคียงกับเส้นสีส้ม ถัดมาเป็นเส้นสีเทา หากล็อกดาวน์นาน 2 เดือนและมีประสิทธิภาพ 20% จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือกว่า 2 หมื่นราย จากกว่า 4 หมื่นรายหากไม่ทำอะไรเลย" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวถึงการคาดการณ์ผู้เสียชีวิตต่อวันว่า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์หรือไม่มีมาตรการอื่นๆ จะพบว่า เส้นสีน้ำเงินแสดงถึงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน จุดสูงสุดประมาณวันที่ 28 ก.ย.
แต่หากมีมาตรการล็อกดาวน์ ปลายเดือน ก.ค.จะเป็นเส้นสีส้มและสีเหลือง ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่เกิน 400 รายต่อวัน จุดสูงสุดอยู่ที่ 26 ต.ค. ในมาตรการตั้งแต่ 20-25%
นพ.โอภาสเสริมว่า หากล็อกดาวน์นานขึ้นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง
ตามมาตรการที่รัฐบาลและ สธ.ได้ดำเนินการ คือเส้นสีเขียว ได้มีมาตรการต่างๆ ทั้งล็อกดาวน์ ค้นหาผู้ป่วย มาตรการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค, หญิงตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่กำลังเร่งพยายามทำอยู่
"แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ความร่วมมือของประชาชน ลดกิจกรรมไม่จำเป็น อยู่บ้านมากที่สุด เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ จะช่วยทำให้มาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการแพร่เชื้อมีประสิทธิภาพ" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสตอบคำถามที่ว่า มาตรการล็อกดาวน์จนถึงวันนี้ได้ผลอย่างไรว่า หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์เลย ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะสูงกว่านี้
ดังนั้น มาตรการล็อกดาวน์จึงสำคัญในการลดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต
แต่ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์นั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย
จะสังเกตเห็นว่ามาตรการล็อกดาวน์ครั้งนี้ หน่วยงานราชการต่างๆ ทำงานที่บ้านจำนวนมาก ศูนย์การค้ามีการปิด มีไม่กี่อย่างที่เปิด เช่น การไปรับการรักษาพยาบาล การไปฉีดวัคซีน การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
ฉะนั้น ความร่วมมือของประชาชนจึงสำคัญ จากแบบจำลองก็ชัดเจนว่า หากได้รับความร่วมมืออย่างมีประสิทธิภาพ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตจะลดลง
“มาตรการล็อกดาวน์ไม่ได้แปลว่า ล็อกดาวน์วันนี้ผู้ติดเชื้อจะลดลงทันที การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นอีกระยะหนึ่ง มาตรการในช่วงต้นจะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มสูงเกินไป จากนั้นอีก 2-4 สัปดาห์มาตรการล็อกดาวน์จะเห็นผลชัดขึ้นในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงมา ซึ่ง สธ.จะประเมินเรื่องนี้เป็นระยะและจะนำเสนอ ศบค.ต่อไป” อธิบดีกรมควบคุมโรคบอก
เมื่อประกาศล็อกดาวน์ขยายเวลาถึงสิ้นเดือนสิงหาคมและจาก 13 เป็น 29 จังหวัด ก็เป็นเวลาที่เราจะได้พิสูจน์กันว่า สิงหาคมจะเป็นเดือนตัดสินโอกาสชนะหรือแพ้สงครามกันจริงๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |