"ปลัด มท." สั่งทุกจังหวัดเข้มข้นมาตรการล็อกดาวน์ตามคำสั่ง ศบค. พร้อมเร่งให้ความรู้ ปชช.ในพื้นที่จำกัดการเคลื่อนย้าย-การรวมกลุ่ม "ศบค." แย้มประเมินล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์ ถ้าสถานการณ์ดีอาจมีผ่อนคลายก่อนสิ้น ส.ค. "สธ." วอนล็อกดาวน์ให้ถึง 25% ร่วมกับการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและตายลดลงรวดเร็ว เชื่อทุกคนทำพร้อมเพรียงคุมโควิดอยู่แน่ "อนุสรณ์" แนะใช้โคกขามโมเดลปฏิบัติการเชิงรุกแบบครบวงจร
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) กล่าวถึงมาตรการล็อกดาวน์ว่า ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศใช้ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 ส.ค.64 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 11/2564 ลงวันที่ 1 ส.ค.64 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.64 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัด
นายฉัตรชัยกล่าวว่า ได้ประสานกรุงเทพมหานครและสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดรับทราบและถือปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำสั่งดังกล่าวโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ผู้ประกอบการ พนักงาน ผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ว่ามาตรการตามข้อกำหนดดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายของประชาชน และการรวมกลุ่มของบุคคล เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคติดเชื้อโควิด-19
"สำหรับจังหวัดที่ได้ปรับระดับเขตพื้นที่สถานการณ์ขึ้นใหม่ตามคำสั่ง ให้เตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ และประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อม เพื่อการดำเนินการตามมาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่างๆ เป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะจังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงสร้างการรับรู้ให้ประชาชนปฏิบัติมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเข้มข้น" นายฉัตรชัยกล่าว
ปลัด มท.กล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดวางระบบประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมอบหมาย ศปก.จังหวัด ศปก.อำเภอ ศปก.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อกำกับการปฏิบัติตามมาตรการ ประกาศ หรือคำสั่งจังหวัดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีมติให้ออกประกาศหรือคำสั่งให้ส่งประกาศหรือคำสั่งให้ ศบค.มท.ทราบโดยเร็ว เพื่อรายงานสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบประกาศหรือคำสั่งโดยทั่วกัน
ขณะที่ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงตอนหนึ่งว่า เป้าหมายการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ เช่น โรงงาน แคมป์ก่อสร้าง บริษัท ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดแล้ว แต่รวมไปถึงพื้นที่ที่ยังไม่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ จะต้องจัดการทำงานแบบบับเบิลแอนด์ซีลอย่างเข้มงวด เพื่อลดการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดไปยังชุมชน ไม่ใช่ว่าเปิดไม่ได้ แต่มีเงื่อนไข
"สำหรับพื้นที่เหล่านั้นหากมีพนักงานอยู่หลายฝ่ายให้จัดกันเป็นกลุ่ม ไม่ให้มีการปะปนกัน แยกพื้นที่รับประทานอาหาร สถานประกอบการใดสามารถจัดหาที่พักให้คนงานได้ให้ซีลแรงงานไว้ แต่บางโรงงานที่แรงงานยังต้องเดินทาง ขอร่วมมือบริษัทศึกษาแนวทางปฏิบัติโดยละเอียด ตรงนี้กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วง บางบริษัทที่มีคนงานจำนวนมากอาจทำตามมาตรการไม่ได้ ให้ขอความช่วยเหลือหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ทุกฝ่ายพร้อมให้การช่วยเหลือ และเน้นย้ำการซีลแรงงานต้องมีการดูแลเรื่องอาหาร เครื่องนุ่มห่ม และเครื่องใช้ประจำตัว เพื่อให้ 14 วันนี้แรงงานเหล่านี้จะได้ไม่ต้องไปปะปนในชุมชน หากโรงงานใดมีบริบทที่แตกต่างให้ปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อสามารถปรับมาตรการตามความเหมาะสมได้" พญ.อภิสมัยกล่าว
ถามว่าการขยายเวลาล็อกดาวน์ครั้งนี้จะขยายถึงวันที่ 31 ส.ค.ใช่หรือไม่ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 30 ที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้วันที่ 3 ส.ค.ให้มีผลถึงวันที่ 31 ส.ค. โดยเมื่อข้อกำหนดมีผลแล้ว ศบค.จะติดตามผลในระยะ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ คือวันที่ 18 ส.ค. หากผลออกมาดี ข้อกำหนดอาจผ่อนคลายได้ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็ยืดไปถึง 31 ส.ค.
"14 วันหลังจากนี้หากประชาชนจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัดสีแดงเข้ม เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดูหลักฐานอนุญาตการเดินทาง ดังนั้นหากไม่จำเป็นขอให้ประชาชนงดเว้นการเดินทางในช่วง 14 วันนี้ไปก่อน" ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าว
ส่วน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละพื้นที่มีการยกระดับมาตรการ พื้นที่สีแดงเข้มขอให้เลี่ยงหรืองดเว้นการเดินทางออกนอกเคหสถานนอกที่พักโดยไม่จำเป็น และห้ามออกจากเคหสถานเวลา 21.00-04.00 น. วันรุ่งขึ้น หากทำได้พร้อมเพรียงกันก็ลดโอกาสแพร่เชื้อในพื้นที่สาธารณะที่มีการพบกันของผู้คน, งดการให้บริการขนส่งข้ามเขตจังหวัด และตั้งด่านสกัดระหว่างจังหวัดเพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อข้ามพื้นที่ โดยต้องอาศัยความร่วมมือประชาชนด้วย, ห้ามจัดกิจกรรมรวมกันมากกว่า 5 คน เพราะโอกาสแพร่เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาเร็วขึ้นติดง่ายขึ้น
"สำหรับข้อมูลโมบิลิตี ติดตามการเคลื่อนย้ายรถและการเดินเท้า หลังประกาศลดการเดินทางตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้วพบว่ามีแนวโน้มลดลง แต่ยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่าง กรุงเทพฯ และ จ.ชลบุรี ปีที่แล้วสามารถลดลงได้ 80% กว่า ส่วนปีนี้ทำได้เพียง 70% กว่า ต้องขอความร่วมมือเพื่อให้ความเสี่ยงลดลง เชื้อโรคจะไม่มีที่ไปต่อ ถ้าลดการเดินทาง เชื้อโรคก็ลดโอกาสแพร่เชื้อ" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า กราฟแสดงสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันสัปดาห์ที่ 30 พบผู้ป่วยใหม่ยังเพิ่มขึ้น ผู้หายป่วยก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ผู้ป่วยใหม่มากกว่าผู้หายป่วย ทั้งนี้ กราฟแสดงการคาดการณ์พบว่าตัวเลขสถานการณ์จริงทั้งการติดเชื้อและเสียชีวิตใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ประสิทธิภาพการล็อกดาวน์ 20% ซึ่งหากเพิ่มประสิทธิภาพการล็อกดาวน์เป็น 25% ร่วมกับการฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ จะทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงค่อนข้างมาก ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพแค่ 5% ก็จะมีผลอย่างมาก ขณะนี้เราจึงต้องร่วมกันควบคุมการติดเชื้อ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันล็อกดาวน์ให้ถึง 25% ทั้งเรื่องของงดการเดินทาง การไปพบปะ การดูแลตนเองที่ต้องทำเข้มขึ้น จะทำให้ยอดผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงรวดเร็วเช่นกัน
ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า มาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลไม่ทำให้โควิดอ่อนกำลังลงอย่างที่โฆษณา รัฐบาลควรปฏิบัติการเชิงรุกแบบครบวงจรในการตรวจค้นหา รักษาป้องกันโควิด-19 แบบโคกขามโมเดล ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ทุกคนที่มาเข้ารับบริการหลังจากผ่านกระบวนการตรวจสอบประวัติบันทึกข้อมูลในระบบเบื้องต้นแล้ว ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการ หรือขั้นตอนที่เรียกว่าตรวจค้นหารักษาป้องกัน
"เมื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) จากนั้นนั่งรอผลประมาณ 15 นาที ถ้าผลเป็นลบก็ให้ไปต่อที่การฉีดวัคซีน เมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็นั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมแล้วกลับบ้าน ขณะที่ผู้ที่มีผลเป็นบวกจะต้องเข้าสู่ห้องแยกกักตัวชั่วคราวเพื่อคัดกรองอาการของโรคทันที และทางเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ติดเชื้อรายนั้นต้องให้ยาหรือไม่ ถ้าต้องให้ยาควรเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ หรือฟ้าทะลายโจร และต้องใช้วิธีการกักตัวในแบบใด Home Isolation, Community Isolation โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก โมเดลนี้จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้ครอบคลุมรวดเร็วขึ้น" นายอนุสรณ์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |