การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาร่วม 2 ปี ได้ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างมาก และยิ่งมีการระบาดระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลคุมเข้มการเดินทาง ยิ่งซ้ำเติมอุตสาหกรรมการบินที่กำลังจะจมน้ำกลับจมดิ่งลึกลงไปอีก ขาดเงินสดหมุนเวียนอย่างหนัก จะเห็นได้ชัดเจนคือสายการบินไทยแอร์เอเชียที่ประกาศหยุดบิน และหยุดจ่ายเงินเดือนพนักงาน 1 เดือน, การบินไทยที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการก็ต้องประกาศขายทรัพย์สินที่ดินในทำเลทองหลายแห่ง และจะมีอีกหลายๆ สายการบินที่ประกาศหยุดบินตามกันมาติดๆ
ทั้งหมดได้แต่รอความหวังที่รัฐบาลจะช่วยเรื่องซอฟต์โลนแล้ว ก็หวังว่าการระบาดจะคลี่คลาย กลับมาบินได้อีกครั้ง และอีกหนึ่งความหวังคือ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศอย่างมาก โดย 1 เดือนที่ผ่านมานั้นมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาถึง 12,368 คน ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในจังหวัดภูเก็ตมากกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องยอมรับว่าความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและนำมาสู่การพัฒนาสร้างจุดแข็งตั้งแต่แผนรองรับความเสี่ยง โดยการวางกฎระเบียบต่างๆ อย่างเข้มข้นและเป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย
และก้าวต่อไปคือ การถอดโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการขยายไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่มีศักยภาพพร้อมเปิดดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น เกาะสมุย เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี โดยนำภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาประยุกต์ใช้ ทั้งเรื่องความปลอดภัย สวัสดิภาพ การจัดการภายใต้สภาวะวิกฤติ และเหตุฉุกเฉิน ที่สำคัญคือการบริหารจัดการรับมือกับการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งจากนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิดการติดเชื้อในพื้นที่ มีหน่วยงานกลางในการบูรณาการให้เกิดระบบการบริการการท่องเที่ยวที่สมบูรณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน เปิดเวทีสัมมนาขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวและบริการของไทย ในหัวข้อเรื่อง “ถอดบทเรียนการป้องกันโควิด-19 จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สู่พื้นที่พิเศษและเมืองรอง” เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมที่จะไปสู่แผนการบริหารจัดการท่องเที่ยว เพื่อรองรับการให้บริการท่องเที่ยววิถีใหม่ ต้อนรับฤดูกาลการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2564 ผ่านการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน
โดยการนำองค์ความรู้ในการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยว และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จนเป็นผลสำเร็จ รวมถึงการบริหารจัดการแบบบูรณาการภายใต้กลไกของภาครัฐ ที่จะนำเทคโนโลยีระบบดิจิตอลมาพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน Tourism Digital Sandbox ในพื้นที่ของตนเอง ที่สอดคล้องกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) และสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้และฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
เพราะตลาดนักท่องเที่ยวหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยวจะให้ความสนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความสุข และความยั่งยืนมากขึ้น โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเป็นกลุ่มวัยเกษียณ กลุ่มครอบครัว กลุ่มคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงต้องมีระบบสาธารณูปโภค ระบบอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ และต้องขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ท่องเที่ยวในเมืองรองมากขึ้น ถือเป็นการตอบโจทย์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวนับจากนี้ไป
ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมแผนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวของไทยใหม่ ภายใต้การท่องเที่ยววิถีใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาติดเมืองการท่องเที่ยว 1 ใน 5 ประเทศของโลกเหมือนเดิม และพร้อมที่จะแข่งขันกับนานาชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศมัลดีฟส์และบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ที่การพัฒนายกระดับการให้บริการเพื่อสร้างตลาดการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้งเช่นกัน.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |