2 ส.ค. 64 - เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และตัวแทนสื่อออนไลน์ ประกอบด้วย นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, น.ส.ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสื่อออนไลน์ The Reporters, สื่อ Voice, The Standard, The Momentum, THE MATTER, ประชาไท, Dem All, The People, way magazine, PLUS SEVEN จำนวน 12 คน ได้รวมตัวยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้ศาลแพ่งมีคำสั่งเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) “ตัดเน็ต” ผู้โพสต์ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งออกคำสั่งโดยไม่มีอำนาจ ไม่มีความจำเป็น ไม่ได้สัดส่วน และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นอกจากนี้ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อคุ้มครองชั่วคราวด้วย ซึ่งการยื่นคำฟ้องใช้เวลาประมาณ 20 นาทีจึงเสร็จสิ้น จากนั้นจึงออกให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
โดยนายนรเศรษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ตัวแทนสื่อ และภาคประชาชน 12 คน เป็นโจทก์ ยื่นให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 29 ซึ่งออกโดยนายกรัฐมนตรี ในลักษณะที่ห้ามไม่ให้นำเข้า ข้อความที่อาจจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งข้อกำหนดนี้ อาจทำให้ตีความได้ว่าแม้การนำเข้าความจริงหรือนำเสนอข่าวตามความจริง ก็อาจจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดฉบับนี้ได้ จึงเห็นว่าขัดต่อหลักความชัดเจน หลักไม่มีความผิด ไม่มีกฎหมาย ไม่มีโทษตามกฎหมายอาญา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ประเด็นต่อมาสื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร เป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34,35,26 การจำกัดในลักษณะนี้เท่ากับเป็นการจำกัดเสรีภาพ ในการเสนอข่าว ด้วยความจริงอย่างตรงไปตรงมา และข้อกำหนดฉบับนี้ให้อำนาจ กสทช. สั่งให้ผู้ให้บริการทำการตรวจสอบ ข้อมูลว่าผู้ใดกระทำผิด และให้มีอำนาจ ระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต การกำหนดลักษณะนี้มีความไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ คือในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ไม่ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ การออกข้อกำหนดนี้จึงเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ
“การตัดอินเตอร์เน็ตเป็นการกระทำที่เกินไปกว่าแนวของศาลอาญาหรือเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อคุ้มครองเสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพทางการแสดงออก หากจะปิดกั้นหรือลบข้อความ ก็ควรลบเป็นรายข้อความที่เป็นความผิดต่อกฎหมายเท่านั้น แต่การระงับให้บริการอินเทอร์เน็ต จะทำให้ผู้ที่ถูกระงับไม่สามารถใช้งานได้ในทุกแพลตฟอร์ม และยังถือว่าเป็นการปิดกั้นการสื่อสารในอนาคต ซึ่งขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 30” นายนรเศรษฐ์ ระบุ
ส่วนประเด็นที่สังคมอาจจะมีคำถามว่า ถ้าไม่มีข้อกำหนดฉบับนี้ รัฐจะจัดการต่อข่าวปลอม หรือข่าวที่บิดเบือนอย่างไรนั้น ขอเรียนว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกพระราชกำหนด เพราะว่ารัฐสามารถใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์ ในการดำเนินคดีกับคนที่เผยแพร่ข่าวปลอม หรือข่าวบิดเบือนได้อยู่แล้ว ส่วนหากจำเป็นที่ต้องลบข้อความก็สามารถใช้อำนาจ ตามมาตรา 20 ในการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาให้ศาลสั่งลบข้อความได้ การออกข้อกำหนดลักษณะนี้จึงไม่มีความจำเป็น ที่สำคัญข้อกำหนดนี้ให้ กสทช.มีอำนาจเด็ดขาด โดยไม่ต้องผ่านศาลตรวจสอบ และไม่ให้คู่ความอีกฝ่ายคัดค้าน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันในวันนี้ก็ได้ขอให้ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย ดังนั้นถ้าศาลแพ่งรับฟ้อง พร้อมมีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉิน และหากศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว นั่นก็หมายความว่าข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะยังไม่สามารถใช้บังคับได้
ด้าน น.ส.ฐปณีย์ ตัวแทนสื่อออนไลน์ กล่าวว่า ในนามองค์กรสื่อ และประชาชน เราร่วมกับภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ซึ่งในทางกฎหมายอาจขัดรัฐธรรมนูญ ในแง่ของสื่อมวลชนหรือประชาชนที่ใช้อินเทอร์เน็ต ก็ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดนี้ ทำให้สร้างความหวาดกลัวต่อสื่อมวลชน และประชาชน เป็นข้อกำหนดที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
น.ส.ฐปณีย์ กล่าวด้วยว่า การนำเสนอข่าวเรื่องผู้ป่วยเสียชีวิตในบ้าน หรือข้างถนน ข่าวเหล่านี้ สลดหดหู่ เศร้า และเป็นข่าวที่น่ากลัว แต่น่ากลัวโดยสถานการณ์และข้อเท็จจริง ในฐานะสื่อมวลชน เรามีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานข่าว และมีหน้าที่นำเสนอข่าวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้เขาได้เข้าถึงสิทธิการรักษา มองว่ารัฐไม่ควรใช้กฎหมายเหล่านี้เข้ามาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และปิดกั้นการรายงานของสื่อมวลชนเพื่อช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ส่วนมองว่าจะมีการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งสื่อมวลชนหรือไม่นั้น ตนมองว่า ข้อกฎหมายนี้ไม่ชัดเจนกำกวม ซ้ำเติมสถานการณ์ เราตระหนักเรื่องจรรยาบรรณในวิชาชีพอยู่แล้ว ซึ่งแตกต่างจากประเด็นที่รัฐจะจัดการกับเฟกนิวส์ โดยเฟกนิวส์หรือข่าวปลอมนั้น มีกฎหมายที่จะดำเนินการอยู่แล้ว
“ในสถานการณ์นี้รัฐควรเอื้อให้ประชาชนได้มีพื้นที่ร้องขอความช่วยเหลือและรักษาตัวเอง อย่างไรก็ตามเราไม่ได้หวาดกลัวข้อกำหนดนี้ เราออกมาเพื่อปกป้องสิทธิของทุกคนมากกว่า ความจริงแล้วการที่ประชาชนนำเสนอข่าวในการเรียกร้องว่ามีคนตาย ต้องการความช่วยเหลือ เราควรรีบเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และช่วยเหลือเขามากกว่า แทนที่จะไปปิดกั้น” น.ส.ฐปณีย์ ระบุ
เมื่อถามว่า หากวันนี้ศาลแพ่งมีคำสั่งให้เพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าว แล้วมีคำสั่งฉบับใหม่ออกมาชัดเจนขึ้น เช่น ยกเว้นสื่อมวลชน จะพอใจหรือไม่ น.ส.ฐปณีย์ กล่าวว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้จำกัดเฉพาะสื่อมวลชนเท่านั้น ตนคิดว่าประชาชนเองในบางครั้งก็มีการนำเสนอข่าวได้ค่อนข้างดี ก็ควรมีพื้นที่ดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการยื่นฟ้อง ศาลได้รับคำฟ้องไว้ในสารบบเป็นคดีหมายเลขดำ พ.3618/2564 เพื่อนัดชี้สองสถานต่อไป ส่วนคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวขณะนี้ยังไม่มีการเเจ้งคำสั่งลงมา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |