"ศบค." ตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านสื่อสาร มี "เลขาฯ กสทช." เป็นหัวหน้าดูแลข้อมูลข่าวสาร "โพล" ชี้ ปชช.ส่วนใหญ่หนุนการแสดงความคิดเห็น บอกเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่ขอให้เคารพสิทธิคนอื่น ชี้รัฐบาลไม่ควรฟ้องดำเนินคดีใคร "หญิงหน่อย" ดักคอห้ามฉีดวัคซีนไฟเซอร์คนอื่นนอกจากบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. มีรายงานว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 11/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) โดยมีรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค.เป็นประธาน ที่ประชุมได้เห็นชอบจัดตั้งสำนักงาน กสทช.เป็นศูนย์ปฏิบัติการภายในโครงสร้าง ศบค.
โดยมีสาระสำคัญเพื่อให้การดำเนินการตามข้อกำหนดฉบับที่ 29 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเหมาะสม ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความละเอียดอ่อนและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็ว จึงเห็นควรจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารในอินเทอร์เน็ตภายในโครงสร้าง ศบค. โดยมีเลขาธิการ กสทช.เป็นหัวหน้าศูนย์ และให้ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์ดังกล่าวเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ขณะที่สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “การแสดงความคิดเห็นของประชาชนในยามวิกฤติ โควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,121 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.64 พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 91.71 เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง ผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น รองลงมาร้อยละ 87.71 ระบุประชาชนทำมาหากินลำบาก สภาพจิตใจย่ำแย่ ร้อยละ 80.81 บอกประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ร้อยละ 70.72 ระบุวิกฤติมาก มองไม่เห็นทางออก และร้อยละ 69.49 บอกประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นกันมากขึ้น
ถามถึงประชาชนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองมากน้อยเพียงใด พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 33.64 ระบุไม่ค่อยมีอิสระ ร้อยละ 24.76 บอกมีอิสระมาก ร้อยละ 21.25 มีอิสระพอสมควร และร้อยละ 20.35 มองว่ามีอิสระน้อย อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 79.02 ระบุการแสดงความคิดเห็นของประชาชนถือเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 68.44 ระบุสะท้อนการทำงานทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ร้อยละ 67.77 ระบุต้องการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 58.90 เป็นการระบายความอัดอั้นตันใจวิธีหนึ่ง และร้อยละ 56.34 มองว่าอาจมีผู้ไม่หวังดีสร้างกระแสโจมตีกัน
เมื่อถามว่า การแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองในยามวิกฤติโควิด-19 นี้ควรทำอย่างไร พบว่าร้อยละ 73.38 ให้เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น ร้อยละ 66.24 ใช้สิทธิของตนเองอย่างเหมาะสม ร้อยละ 65.04 เน้นสร้างสรรค์ เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหา ร้อยละ 58.47 ไม่ยั่วยุ สร้างความแตกแยก และร้อยละ 57.22 แสดงความคิดเห็นในขอบเขตที่สามารถแสดงได้
ถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับการที่ศิลปินดารา/อินฟลูเอนเซอร์ออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 68.88 เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 16.22 ไม่เห็นด้วย และ 14.90 ไม่แน่ใจ
น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต บอกถึงผลสำรวจดังกล่าวว่า การที่ผลโพลมองว่าประชาชนยังไม่มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของประชาชนที่อยากระบายความอัดอั้นตันใจและส่งเสียงให้รัฐบาลได้ยินมากขึ้น เพราะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพไม่ว่าจะเป็นคนดังหรือคนธรรมดา ก็ย่อมมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเพื่อให้รัฐบาลนำไปปรับปรุงแก้ไขปัญหา จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่าจะอยากรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่
ดร.พัชราพรรณ นาคพงษ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เสริมว่า การออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ในส่วนนี้พิจารณาได้ว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดหรือไม่ ต้องดูว่าในขณะที่กระทำได้มีบทกฎหมายตัวใดหรือไม่ที่ระบุว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด หรือต้องรับโทษจากการกระทำนั้น เช่น การโพสต์ข้อมูลเท็จ หรือบิดเบือนข้อมูลอาจเข้าข่ายความผิดได้
"การต่อสู้ของคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก็คงต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ด้วยการกล่าวอ้างสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 34, 35 และเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งอยู่ในวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ตาม ป.อาญามาตรา 329 (3) และไม่สมควรที่จะถูกรัฐบาลฟ้องหรือดำเนินคดีใดๆ เพราะจะแสดงให้เห็นว่ารัฐได้ปิดกั้นเสรีภาพและปิดกั้นการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ" นักวิชาการผู้นี้ระบุ
ขณะที่นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ถามถึง ครม.ไปไหน บริหารประเทศแบบ WFH พร้อมจี้ตั้งวอร์รูมลุยหน้างานว่า หากนายสุรพลมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่มีอคติกับใครนั้น จะเห็นว่านายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนทำงานอย่างไร ทั้งรัฐมนตรีด้านสาธารณสุขที่ได้ลงพื้นที่ดูแลพี่น้องประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ หามาตรการต่างๆ ในการนำผู้ป่วยรักษา มีรัฐมนตรีด้านแรงงานที่ดูแลผู้ใช้แรงงาน รวมถึงรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในการเยียวยาประชาชน โดยไม่มีใครที่ไม่ทำงาน และทำทุกอย่างในการช่วยเหลือประชาชน
นายเสกสกลกล่าวว่า การที่นายกฯ ต้อง WFH นั้นก็ไม่ได้หมายความว่านายกฯ ไม่ทำงาน แต่ต้องทำให้เป็นตัวอย่างกับหน่วยงาน เพราะเป็นผู้ออกมาตรการนี้มา และถือว่าเป็นมาตรการที่ดีที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ ทั้งนี้การติดตามสั่งการแก้ไขปัญหา online ยังมีความรวดเร็วกว่า และถึงแม้จะมีบางเรื่องที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่แทรกซ้อนตามมา แต่รัฐบาลก็ทำตลอดทุกเรื่อง
"การออกมาพูดซ้ำเติมทำลายขวัญกำลังใจกันในภาวะนี้ คงไม่เป็นผลดี มีแต่จะทำร้ายจิตใจคนตั้งใจทำงานมากกว่า ถ้ามีคนออกมาพูดทำลายจิตใจศาสตราจารย์สุรพลบ้าง ท่านก็คงผิดหวังหมดกำลังใจเช่นกัน คำพูดอะไรที่จะให้กำลังใจกันในยามแม่ทัพออกรบในสมรภูมิสงครามมีค่ายิ่ง คงไม่อยากให้สงครามครั้งนี้ประเทศไทยพ่ายแพ้นะครับ" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรีระบุ
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงมาตรการล็อกดาวน์ว่า ขอเสนอให้ ศบค.ดำเนินการ 4 มาตรการสำคัญ ดังนี้ 1.ไม่ควรล็อกดาวน์ยาวแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา ควรกำหนดระยะเวลา ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นค่อยขยายเวลาออกไป 2.เมื่อ ศบค.เลือกล็อกดาวน์รอบใหม่ ควรลดมาตรการควบคุมที่ไม่เกิดผลมากนัก 3.ควรใช้มาตรการเชิงรุกที่จริงจังมากขึ้น เข้าชุมชนแออัดให้ทั่วถึงเพื่อตรวจหาเชื้อ ฉีดวัคซีน และวางแนวทางป้องกันผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังไม่ให้ติดเชื้อ เพราะถ้าคนกลุ่มนี้ติดเชื้อมักจะมีอาการหนักอยู่ในกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดง จะหาเตียงรักษาลำบาก และ 4.ระดมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่ดูแลตนเองอยู่ที่บ้าน และไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและตัวเองได้
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กตอนหนึ่งระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดสจากอเมริกาต้องให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ด่านหน้าทุกคน โดยต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ตามหลัก autonomy ประชาชนมีสิทธิ์เลือกวิธีการรักษา มีสิทธิ์เลือกยาที่ใช้ เพราะฉะนั้นต้องคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะฉีด 1 เข็ม 2 เข็มหรือยังไม่ฉีดก็ตาม
"การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมานี้ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส โดยมีข้อสังเกต การจัดวัคซีนครั้งนี้มีการกันวัคซีนไว้บางส่วนโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดแจ้ง อันอาจจะมีการนำไปฉีดให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เป้าหมาย ควรเปิด Open data เพื่อให้ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส อย่าให้ประชาชนต้องตั้งคำถามว่าเก็บไฟเซอร์ไว้ให้ใครอีกเลย" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |