"บิ๊กตู่" แจ้งข่าวดี เตรียมรับวัคซีนจากต่างประเทศมากขึ้น เร่งนำเข้า "สปุตนิก วี" ศบค.เผยเดือน ส.ค.มีวัคซีน 10 ล้านโดสจัดสรรให้ผู้สูงอายุ-7 กลุ่มเสี่ยง ซื้อไฟเซอร์เพิ่มให้ครบ 30 ล้านโดสในปี 64 มั่นใจกระจายไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสอย่างเป็นธรรม ผู้ว่าฯ อัศวินลั่นคนกรุงลงคิวรอวัคซีน 1.4 ล้านคน ผอ.ศูนย์บางซื่อขุดบ่อล่อปลา แจ้งจับจิตอาสา 19คนแก้ระบบฐานข้อมูลลงทะเบียนฉีดวัคซีนขาย 400-1,200 บาทต่อคิว
เมื่อวันอาทิตย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เป็นประธานการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 11/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากบ้านพักในกรมทหารราบที่ 1 รอ. โดยมีตัวแทนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษาศบค. และฐานะประธานคณะกรรมการจัดสรรวัคซีนและที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข และตัวแทนกรมการค้าภายในเข้าร่วม เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวก่อนเข้าสู่วาระการประชุมว่า ขณะนี้ไทยเตรียมรับวัคซีนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะวัคซีนสปุตนิก วี จะเร่งเรื่องเอกสารทางฝั่งบริษัท ขณะที่คณะแพทย์จะเจรจาการสั่งซื้อวัคซีนอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเร่งฉีดให้แพทย์และบุคลากรด่านหน้า สำหรับการใช้ชุดทดสอบแอนติเจน Antigen Test Kit (ATK) ต้องรัดกุม และเชื่อมกับโรงพยาบาลในการรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ต้องควบคุมราคาและคุณภาพ ส่วนการรักษาพยาบาลให้มีระบบที่เชื่อมมีต่อกัน รวมทั้งการใช้สมุนไพร พร้อมเน้นย้ำดูแลแพทย์ บุคลากรด่านหน้าทุกๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องของสิทธิประโยชน์เจ้าหน้าที่เบิกจ่ายให้เร็ว และกำลังพิจารณาสิทธิพิเศษหากจำเป็น
ที่ประชุม ศบค.ยังรายงานว่าในเดือน ส.ค. จะยังคงมีวัคซีน 10 ล้านโดสที่จะถูกจัดสรรให้ทั่วถึงกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รวมถึงสตรีมีครรภ์ นอกจากนี้ยังได้พิจารณาการจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ให้ครบ 30 ล้านโดส ภายในปี 64 จากเดิมที่มีแผนการสั่งซื้อแล้ว 20 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้สอบถามถึงการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ว่าควรเป็นไฟเซอร์หรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าการบูสต์เข็มแอสตร้าเซนเนก้าใช้ได้และมีผลดี
จากนั้นเวลา 17.00 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ผอ.ศบค.ได้พูดถึงเรื่องของการกระจายวัคซีนและอุปกรณ์การแพทย์ ที่รัฐบาลต่างประเทศส่งให้รัฐบาลไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกาส่งวัคซีนไฟเซอร์ให้เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 1,503,450 โดส สหราชอาณาจักร ได้ทำเรื่องส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้รัฐบาลไทยในเดือน ส.ค. 415,040 โดส สหพันธรัฐสวิสส่งมอบชุดตรวจแบบเร่งด่วน 1,100,000 ชุด และเครื่องช่วยหายใจ 102 เครื่อง มาถึงแล้วเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ขณะที่ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 12 ก.ค.รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากว่า 1 ล้านโดส โดยที่ประชุมเน้นย้ำให้กระจายให้ครอบคลุม กทม. ปริมณฑล และจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง โดยเร่งรัดให้ได้ 50% ของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์ โดยให้กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ดำเนินการขับเคลื่อน และเน้นย้ำไปยังจุดฉีดทุกจุดให้บริหารจัดการการป้องกันและควบคุมโรคให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
บูสต์เข็ม 3 ด่านหน้า 1.1 แสนราย
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุมยังหารือถึงการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์เพื่อกระตุ้นเป็นเข็มที่สาม และกำหนดเงื่อนไขของ สธ. โดยปลัด สธ.ชี้แจงว่า จากการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ของ กทม.และทั่วประเทศ ต้องการกระตุ้นภูมิเข็ม 3 กว่า 4 แสนโดส ในจำนวนนี้มีผู้ที่รับแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 1 แสนโดส ย้ำว่าจะกระจายให้ทั่วถึงทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากรต่างๆ และ อสม. ไม่ได้จำกัดเฉพาะแพทย์ทางเดินหายใจ อายุรแพทย์ หู คอ จมูก เท่านั้น เพราะทุกคนเสี่ยงหมดทั้งทำงานในห้องคลอด ทันตแพทย์ แพทย์ฉุกเฉิน แพทย์ไอซียู ขอให้มั่นใจว่าจะพิจารณากระจายให้บุคลากรทางการแพทย์อย่างครอบคลุมและเป็นธรรม
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กล่าวถึงกรณีมีข้อสงสัยจากประชาชนที่ระบุว่า หมอพร้อมเปิดให้กลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนว่า ปัจจุบันระบบหมอพร้อมได้เปิดระบบให้ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการฉีดวัคซีนสามารถจัดลำดับคิว และเปิดให้ลงทะเบียนเองได้ โดยระบบจะเป็นการจัดอันดับกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่สุดก่อนคือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม หรือผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรังที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งเรื่องการจองของอายุ 12 ปีไม่มีการเปิดระบบให้จองจากประชาชน ส่วนกรณีหมอพร้อม ยกเลิกการจองคิวที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30-31 ก.ค. 64 เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการเปิดให้ประชาชนจองคิวผ่านหมอพร้อม แต่ด้วยเกิดเหตุขัดข้องระหว่างการปรับปรุงระบบ ทำให้มีการจองคิวไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้มีการแก้ปัญหาเรื่องนี้
ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. นำคณะไปตรวจเยี่ยมการให้บริการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ผู้ประกอบพิธีทางศาสนาที่มีความเสี่ยง ณ จุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล หน่วยความร่วมมือกรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย เอสซีจี สำนักงานใหญ่ เขตบางซื่อ โดยพล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.มีเป้าหมายบริการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยหากได้รับจัดสรรวัคซีนจาก สธ.จะเร่งทำการฉีดให้แก่ผู้ที่ลงทะเบียนผ่าน “ไทยร่วมใจ” จากตัวเลขผู้ที่ลงทะเบียนไว้ประมาณ 1,400,000 คน ให้ได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกคนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย จำนวน 25 จุด ในโครงการ “ไทยร่วมใจ” ที่เปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาลแก่คนกรุงเทพฯ อาจต้องปิดการให้บริการชั่วคราว เนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเข้าไปเพิ่มเติม โดยที่เคยได้จัดสรรครั้งล่าสุดสามารถให้บริการฉีดได้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเท่านั้น
วันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่า ตามที่ ศบค.เห็นชอบให้จัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐ 150,000 โดสไปกระจายฉีดให้กับชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้ กต.จะเปิดลงทะเบียนชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทยเพื่อรับวัคซีนเข็มแรกโดยเว็บไซต์ของกรมการกงสุล expatvac.consular.go.th เปิดรับลงทะเบียนชาวต่างชาติในประเทศไทย ทุกกลุ่มอายุ และทุกจังหวัดกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะร่วมกันจัดฉีดวัคซีนให้ชาวต่างชาติที่ได้ลงทะเบียน ตามหลักเกณฑ์ความจำเป็นเร่งด่วนเดียวกับของคนไทย เช่น ผู้สูงอายุ ตั้งครรภ์ หรือผู้มีโรคร้ายแรงผู้ที่ลงทะเบียนไว้ จะได้รับแจ้งให้ไปรับวัคซีนตามความจำเป็นเร่งด่วน และในจังหวัดที่พำนักอาศัยต่อไป ส่วนนักเรียน นักศึกษา นักกีฬาที่มีกำหนดเดินทางไปศึกษาหรือแข่งขันกีฬาในต่างประเทศ สธ.จะได้มีการประกาศแนวทางขอรับวัคซีน ให้ทราบในโอกาสแรกต่อไป ขอขอบคุณรัฐบาลสหรัฐที่ได้เอื้อเฟื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาอีกครั้งหนึ่ง
ศูนย์บางซื่อแจ้งจับ 19 จิตอาสา
ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ แถลงกรณีการทุจริตการลงทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ว่า ได้ตรวจพบความผิดปกติในการนัดหมายล่วงหน้าที่คาดว่าอาจจะมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยเริ่มทราบความผิดปกติในวันที่ 18 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ไม่มีการนัดฉีดวัคซีนให้กับองค์กร ยกเว้นกระทรวงการต่างประเทศที่มีการนัดประมาณ 400 คน/วัน ที่พบพิรุธหลักๆ 2 ประการคือ 1.มีจำนวนการนัดล่วงหน้าสูงกว่าปกติที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล โดยเริ่มพบตัวเลขผิดปกติในหลักสิบในช่วงวันที่ 20-27 ก.ค. และในวันที่ 28-31 ก.ค. เพิ่มจำนวนนัดมากกว่าปกติเฉลี่ยประมาณ 2,000 คน รวมแล้วกว่า 7,000 คน ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเปิดรับการบริการแบบ walk-in รวมจำนวนนัดตั้งแต่ทราบความผิดปกติกว่า 10,000 คน
2.เป็นความผิดปกติของช่วงเวลาในการ upload ข้อมูลการนัดล่วงหน้าเข้าสู่ระบบ โดยพบว่าในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวซึ่งทางศูนย์ฯ ได้งดรับการนัดล่วงหน้าจากองค์กรภายนอกเกือบทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลา 18.00 น. ของแต่ละวันแล้ว แต่พบว่ายังมี Upload ส่งข้อมูลนัดหมายล่วงหน้าอีกในเวลาหลัง 22.00 น.ของทุกวันอยู่อีก จึงได้ทำการตรวจสอบและพบว่ามีการเพิ่มจำนวนนัดล่วงหน้าโดยทุจริตจาก Users 19 login ซึ่งอยู่ในกลุ่มจิตอาสาที่ได้รับการเพิ่มสิทธิ์ในการนำเข้า/แก้ไขข้อมูลผู้รับบริการในช่วงเปิดบริการแบบ walk-in แบ่งเป็น Users 8 login จะทำการลงทะเบียนจำนวนไม่มาก ประมาณ 1-2 คน และมีที่ทำการลงทะเบียนแบบจริงจังจำนวน Users 11 login ในจำนวนนี้มี Users 4 login หลักที่ทำการ upload ข้อมูลการนัดล่วงหน้าเข้าสู่ระบบมากถึง 400-500 คน จึงได้มีการแจ้งความให้เป็นผู้ต้องสงสัย
"ทางศูนย์ฯ จึงมีการวางแผนจับกุมเพื่อสืบให้ได้ถึงผู้กระทำผิดรายใหญ่ทั้งหมดนี้ ในวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่มีคิวนัดล่วงหน้าเพิ่มมากกว่าปกติกว่า 2,000 คน ได้ดำเนินกลยุทธ์ขุดบ่อล่อปลาให้ผู้ที่ซื้อคิวโดยทุจริตเหล่านี้เดินทางมารับบริการที่ศูนย์ฯ เมื่อตรวจเช็กแล้วว่าเริ่มมีการลงทะเบียนไปประมาณ 600 คน จากกว่า 2,000 คนนั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งยกเลิกคิวการฉีดของทั้งกว่า 2,000 คนนั้นทั้งหมด เพื่อบีบให้คนเหล่านี้แสดงตัวขอความช่วยเหลือ/ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ โดยได้จัดสถานที่ไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อทำการสอบสวน สามารถรวบรวมผู้นัดคิวจองวัคซีนล่วงหน้าจากการทุจริตได้มากกว่า 300 คน ซึ่งได้ให้การเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดีต่อไป"
ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อกล่าวต่อว่า คิวนัดดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้งซื้อเอง ญาติหรือนายจ้างซื้อให้ และมีการจ่ายเงินทั้งแบบเงินสดและการโอนเงินในอัตรา 400-1200 บาทต่อคิว ทางศูนย์ฯ ได้รับข้อมูลรายชื่อและเลขที่บัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวแล้ว จึงได้ให้นิติกรกรมการแพทย์เป็นผู้แทนในการดำเนินการแจ้งความต่อตำรวจ สน.นพวงศ์ ในฐานะผู้เสียหายต่อไปแล้ว ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดจนจิตอาสาทั้ง 19 คนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ขอความร่วมมือกับบก.ปอท. เพื่อสอบสวนหาหลักฐานเชิงลึกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
นพ.มิ่งขวัญกล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการแก้ไข ป้องกันการเกิดทุจริตดังกล่าวในอนาคต ทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ 1.ได้ยกเลิกนัดล่วงหน้าที่ผิดปกติ ซึ่งตรวจพบระหว่างวันที่ 28-31 ก.ค.ทั้งหมด 2.ยกเลิก login-users เดิมทั้งหมดและให้สิทธิ์ในการเพิ่มเติม/แก้ไขข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ IT ภายในของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น 3.ปิดระบบทำการทั้งหมดในช่วงกลางคืนเพื่อป้องกันการ vpn เข้ามาทำการนอกเวลางาน 4.ตรวจสอบข้อมูลความผิดปกติของการนัดล่วงหน้าและการนำเข้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้ได้ยกเลิกการนัดผิดปกติเพิ่มเติมถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2564 แล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |