พายุฝนตกกระหน่ำหนักส่งผลมวลน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลทะลักเข้าสู่ 3 หมู่บ้าน ใน ต.ปะเหลียน อ่วมแล้วกว่า 160 ครัวเรือน สัตว์เลี้ยงถูกกระแสน้ำพัดตายเพียบ ด้าน 40 ชีวิตกลุ่มเสี่ยงโควิดถูกกักตัวเดือดร้อนหนักน้ำท่วมเข้าซ้ำเติม ปภ.เผยรอบ 6 เดือนเกิดสาธารณภัยใน 6 ประเภทภัย
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานหลังลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ หมู่ 1 หมู่ 8 และหมู่ 9 บ้านลำปลอก ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง หลังจากที่ฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ตรัง มากว่า 2 วัน จนทำให้เมื่อช่วงเวลาประมาณ 02.00-03.00 น.ของกลางดึกที่ผ่านมา มวลน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลทะลักลงสู่น้ำตกลำปลอก น้ำตกโตนเต๊ะ และน้ำโตนตก ผ่านเข้าสู่ลำคลองกะช่อง และลำคลองปะเหลียน ก่อนไหลเข้าสู่โครงการประตูระบายน้ำคลองปะเหลียน (กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) อย่างรวดเร็วจนไม่สามารถรับน้ำไว้ได้ ทางเจ้าหน้าที่จึงจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำ ทำให้มวลน้ำได้ทะลักเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนจำนวน 3 หมู่บ้าน กว่า 160 หลังคาเรือน ระดับน้ำสูงตั้งแต่ 1-1.50 เมตร พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งนี้สัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด, ไก่ ของเกษตรกรได้ล้มตายและไหลไปตามกระแสน้ำอีกจำนวนมาก
นายสุนทร ชมช่วย อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.ปะเหลียน กล่าวว่า ในพื้นที่ ต.ปะเหลียน มี 15 หมู่บ้าน ตอนนี้เดือดร้อนไปแล้ว 3 หมู่บ้าน โดยที่หมู่ 8 น้ำท่วมมากและได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ราบสูงและราบลุ่มสลับกันไป เมื่อกลางดึกที่ผ่านมาได้ช่วยชาวบ้านขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง โดยที่ทางกรมชลประทานได้แจ้งเข้ามาว่าน้ำกำลังจะเข้ามา จึงรีบประสานชาวบ้านในทันที ปรากฏว่าขนย้ายทันบ้างไม่ทันบ้าง ข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวเรือน สัตว์เลี้ยงเสียหาย และในพื้นที่นี้น้ำจะท่วมเป็นประจำทุกปี ปีละ 4-5 ครั้ง ส่วนแนวทางการป้องกันมีทางเดียวคือ กรมชลประทานจำเป็นจะต้องลอกลำคลองตั้งแต่ ต.ปะเหลียน ไปจนถึง อ.ย่านตาขาว จึงจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ได้
ขณะที่นายวิโรจน์ แซ่เตีย อายุ 50 ปี เจ้าหน้าที่ดูแลโครงการประตูระบายน้ำคลองปะเหลียน กล่าวว่า เมื่อวานนี้ได้เปิดประตูระบายน้ำไว้ที่ 30 ซม. จนกระทั่งช่วงประมาณ 2 ทุ่มคืนที่ผ่านมา ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก วัดระดับปริมาณน้ำฝนได้ที่ 127.5 มิลลิเมตร เลยทำการเปิดประตูระบายน้ำเพิ่ม 3 บาน บานละ 70 ซม. และจนกระทั่งเที่ยงคืน น้ำได้ไหลบ่ามาเยอะมาก จึงจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำ 3 บานเพิ่มเป็น 1 เมตร และได้แจ้งชาวบ้านให้ขนย้ายสิ่งของทันที เพราะต้องรักษาระดับน้ำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยข้อมูลสถิติสาธารณภัยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยเกิดสาธารณภัยใน 6 ประเภทภัย ได้แก่ อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ดินโคลนถล่ม อัคคีภัย และโรคระบาดสัตว์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมเหตุสาธารณภัยรายวันของจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีข้อมูลสถิติในภาพรวม ดังนี้
อุทกภัย 1,028 หมู่บ้าน อยู่ใน 27 จังหวัด 101 อำเภอ 271 ตำบล ผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้บาดเจ็บ 2 ราย บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2,857 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 21,711 ไร่
วาตภัย 13,758 หมู่บ้าน อยู่ใน 75 จังหวัด 707 อำเภอ 3,522 ตำบล พื้นที่กรุงเทพมหานคร 5 เขต 6 แขวง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้สูญหาย 2 ราย ผู้บาดเจ็บ 48 ราย บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 81,702 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 46,041 ไร่
ภัยแล้ง 9 หมู่บ้าน อยู่ใน 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 ตำบล โดยประกาศยุติสถานการณ์ภัยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564
ดินโคลนถล่ม 12 หมู่บ้าน อยู่ใน 9 จังหวัด 9 อำเภอ 9 ตำบล ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 7 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 90 ไร่
อัคคีภัย 1,043 ครั้ง ในพื้นที่ 68 จังหวัด 393 อำเภอ 779 ตำบล 945 หมู่บ้าน พื้นที่กรุงเทพมหานคร 25 เขต 28 แขวง ผู้เสียชีวิต 17 ราย ผู้บาดเจ็บ 71 ราย อาคาร/บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 1,003 หลัง พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 718 ไร่
โรคระบาดสัตว์ (โรคลิมปี สกิน) 21,332 หมู่บ้าน อยู่ใน 31 จังหวัด 268 อำเภอ 2,079 ตำบล
จากข้อมูลสถิติสาธารณภัยพบว่า ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงปลายฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน จึงมีสถิติการเกิดอัคคีภัยสูงในทั่วทุกภาค ขณะที่วาตภัยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เกิดพายุฤดูร้อนบ่อยครั้งขึ้น ประกอบกับในช่วงฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน มีการปรับเปลี่ยนทิศทางลม ส่งผลให้เกิดลมกระโชกแรง ส่วนอุทกภัยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างสูงเช่นกัน เนื่องจากเดือนมกราคมยังอยู่ในช่วงปลายฤดูฝนของภาคใต้ ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายนเกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือ สำหรับโรคระบาดในสัตว์ที่มีสถิติการระบาดค่อนข้างสูง เนื่องจากเกิดโรคลิมปี สกิน ในกลุ่มโคและกระบือที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือกระจายไปยังพื้นที่ภาคเหนือ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |