ขุนหลวงพะงั่ว กษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ฉลาด มีหัวใจนักรบ ดูแลทหารและไพร่ฟ้าประชารษฎร์อย่างดี ทรงนำกองทัพออกสู้ศึกกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ ทรงยกกองทัพสุพรรณภูมิ ไปยึดอำนาจอยุธยาจากพระราเมศวรกษัตริย์องค์ที่ 2 ของสยามที่ล้มเหลวทางการเมืองการปกครอง เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา ด้วยพระชนมายุได้ 63 พรรษา
จากพระราชพงศาวดารขุนหลวงพ่องั่ว ทรงเป็นกษัตริย์ที่พระปรีชาสามารถ เคร่งครัดในศาสนา รักความก้าวหน้า และอุทิศตนให้ชาติ พระองค์เกิดมาเป็นนักปกครองที่มีเลือดนักสู้ แม้เกิดสงครามกลางเมือง แต่ทรงสามารถปราบปรามให้อยู่ภายใต้ราชอำนาจของพระองค์แต่ผู้เดียว โดยเลือดไม่นองแผ่นดิน พระองค์ทรงปกครองประเทศเป็นเวลา 18 ปี เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 81 พรรษา ในระหว่างที่พระองค์ครองราชย์บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ไม่มีความอดอยากขาดแคลน ความร่มเย็นเป็นสุขเช่นนี้ ด้วยพระบารมีพระเจ้าแผ่นดิน
นับเป็นการยกระดับการเรียนรู้ในจังหวัด เมื่อกรมศิลปากรและจังหวัดสุพรรณบุรีจัดสร้าง อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี เป็นทางเลือกใหม่ในการเรียนรู้เรื่องราวพระราชประวัติของขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์รัฐสุพรรณภูมิ และบันทึกประวัติศาสตร์เมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคแรกจนถึงยุคปัจจุบันผ่านภาพประติมากรรมสำริดที่มีความยาวกว่า 88 เมตร ถือว่ายาวมากที่สุดในประเทศไทย พร้อมเทคโนโลยีแสง เสียงประกอบการจัดแสดงอย่างงดงามตระการตา โดยกำหนดเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นวันแรกในวันที่ 19 ส.ค. นี้
นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า อาคารประติมากรรมขุนหลวงพะงั่วและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2553 ตามดำริของ นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพสลักหินเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จีน ณ China Millennium Monument เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อจัดแสดงพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือขุนหลวงพะงั่ว ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่ได้เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 3 ของกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศด้านการศึกสงคราม การเมืองการปกครอง การศาสนา และการค้ากับต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์ของเมืองสุพรรณบุรีตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวสุพรรณบุรีผ่านงานประติมากรรมหล่อโลหะสำริดอันงดงามและยาวที่สุดในไทย โดย ศก. เป็นผู้ออกแบบอาคารและภาพประติมากรรม
ภาพประติมากรรมสำริดนูนสูงและนูนต่ำจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่เป็นรูปวงรี แบ่งเป็น 9 ตอน ตั้งแต่ชุมชนแรกเริ่มสุพรรณบุรี แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ พิธีกรรม ความเชื่อ การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สังคมเกษตรกรรมในจ.สุพรรณบุรีเมื่อ 4,000-2,500 ปีมาแล้ว และภาพโบราณวัตถุสำคัญจากแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี เช่น ภาชนะมีนม ภาชนะมีเขา ภาชนะสามขา
ต่อด้วยอู่ทอง...เครือข่ายการค้าข้ามภูมิภาค แสดงถึงการติดต่อค้าขายระหว่างผู้คนในเมืองโบราณอู่ทองกับพ่อค้าจากชุมชนใกล้เคียงและพ่อค้าชาวต่างชาติ ได้แก่ ชาวอินเดีย ชาวอาหรับ และชาวจีน เมืองโบราณอู่ทองเป็นหนึ่งในชุมทางการค้าสำคัญของลุ่มแม่น้ำแม่กลองและลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเป็นส่วนหนึ่งเส้นทางการค้าทางน้ำสำคัญดินแดนสุวรรณภูมิ ถัดมาแสดงถึงการรับวัฒนธรรมศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากประเทศอินเดีย ก่อให้เกิดรูปแบบวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เรียกว่า“วัฒนธรรมทวารวดี” ด้วยความเคารพและศรัทธาในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของผู้คนในเมืองโบราณอู่ทองสร้างศาสนสถานและรูปเคารพทางศาสนา ได้แก่ ธรรมจักรและศิวลึงค์
ก่อนเข้าสู่ร่องรอยพุทธศาสนามหายาน แสดงให้เห็นถึงการเดินทางมายังปราสาทเนินทางพระ ศาสนสถานในศาสนาพุทธแบบมหายาน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมขอมสมัยบายน เพื่อทำการสักการบูชาพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในพุทธหายาน
ต่อเนื่องสู่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา แสดงเรื่องราวของขุนหลวงพะงั่วเจ้าเมืองสุพรรณภูมิทรงนำกองทัพออกสู้ศึกกับอาณาจักรขอมจนได้รับชัยชนะ และแสดงภาพเจดีย์วัดไก่เตี้ย เจดีย์ก่ออิฐทรงแปดเหลี่ยมรูปแบบเอกลักษณ์ของเจดีย์สมัยก่อนการสถาปนาอยุธยา และภาพแหล่งเตาบ้านบางปูน แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี
ภาพประติมากรรมเล่ามาถึงเหตุการณ์การเสด็จขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ และการติดต่อค้าขายกับเมืองจีนที่รุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่งในสมัยของสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์) จากนั้นพาเข้าสู่สมรภูมิยุทธหัตถี แสดงเหตุการณ์การกระทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ณ ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี
และมาต่อสุพรรณบุรี หัวเมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแสดงพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี และพระบรมรูปของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเหตุการณ์เมื่อครั้งเสด็จฯ สักการะบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี พร้อมด้วยคณะเสือป่ารักษาพระองค์ จนถึงปัจจุบันเมืองสุพรรณบุรี แสดงเหตุการณ์ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงวางพวงมาลาในรัฐพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำพสกนิกรเกี่ยวข้าวที่แปลงนาสาธิต และกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธียกพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระมณฑปและสมโภชรอยพระพุทธบาท ณ วัดเขาดีสลัก อ.อู่ทอง
นับเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่พร้อมระบบการบรรยายนำชมที่ทันสมัยทั้งในรูปแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และอุปกรณ์ Audio guide ที่มีให้เลือกถึง 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุพรรณบุรี ตั้งอยู่ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทรศัพท์ 035-535330 ในวันและเวลาราชการ
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |