รอมานานกับการก้าวสู่ความสำเร็จเมื่อคณะกรรมการมรดกโลกประกาศให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานของประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้เกณฑ์ข้อที่ 10 ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2564 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนทำงานหนักพยายามรวบรวมข้อมูลชนิดพันธุ์สัตว์และพืชป่าเฉพาะถิ่นที่หายาก ศักยภาพของความเป็นผืนป่าขนาดใหญ่แห่งนี้ ยืนยันถึงความโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มป่าแก่งกระจานต่อคณะกรรมการมรดกโลกนานกว่า 10 ปี
หากย้อนดูไทม์ไลน์ประเทศไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)นำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี รวมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านไร่ กินพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วยราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นต่อศูนย์มรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 2554 อย่างไรก็ตาม ยูเนสโกให้ประเทศไทยปรับแก้ข้อมูลในเอกสารหลายครั้งเพื่อให้มีความสมบูรณ์และเข้ากับหลักเกณฑ์มากขึ้น
คณะทำงานจึงมุ่งมั่นเร่งจัดทำเอกสารนำเสนอให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2558 พ.ศ. 2559 และในปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการมรดกโลกที่พิจารณาการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ให้โอกาสไทยกลับมาทบทวนประเด็นข้อห่วงใยและนำเสนอเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป โดยมี 3 ข้อห่วงใย คือ การปรับแนวเขตพื้นที่ที่เสนอให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ทำข้อมูลวิเคราะห์ให้เห็นและยอมรับได้ว่า ขอบเขตใหม่ที่ตกลงกันแล้วนั้นยังคงคุณค่าในเชิงนิเวศ ตามเกณฑ์ข้อที่ 10(แหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าหายากหรืออยู่ในภาวะอันตราย)ควบคู่กับการนำเสนอมาตรการในการดูแลคุ้มครองพื้นที่ด้วยและให้นำเสนอผลการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชนในพื้นที่ตามข้อห่วงกังวลของคณะกรรมการมรดกโลกแล้วสรุปว่ากลุ่มป่าแก่งกระจานยังไม่ได้รับประกาศเป็นมรดกโลก
หลังจากนั้น คณะทำงานได้ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ หลายเรื่อง และประสบความสำเร็จ อาทิ การลงนามเรื่องเขตแดนกับพม่าการจัดการแบบมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ทำงานร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองในแก่งกระจาน จัดให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับที่ดิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นรวมถึงส่งเสริมการศึกษา อบรมเรื่องอาชีพ มีหน่วยงานเข้าไปปรับปรุงฟื้นฟูเพื่อแสดงศักยภาพในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของไทยเพราะที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นทางสู่มรดกโลกแก่งกระจานไม่ราบรื่นจากข้อกังวลและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นชาติพันธุ์พื้นเมืองตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและการยินยอมต้องเกิดจากคำยินยอมของประชาชนอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้ คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาติ หรือ UNได้ส่งคำเตือนถึงคณะกรรมการมรดกโลกขอให้มีมติยกเลิกการขอขึ้นทะเบียนผืนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เหตุผลหลัก คือ มีชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงถูกละเมิดสิทธิอย่างต่อเนื่องทั้งการบังคับอพยพ การเผาบ้าน รวมถึงแกนนำชาวบ้านถูกฆาตรกรรมหลังการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่อุทยานรวมทั้งกรณีการจับกุมชาวบ้าน 28 รายเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาในข้อหาบุกรุกแผ้วถางที่ดินดั้งเดิม
ส่วนในประเทศ ก็มีความเคลื่อนไหวคัดค้าน โดย"กลุ่มภาคี Save บางกลอย "ออกมาคัดค้านแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก และหยิบยกประเด็นการต่อสู้ของสิทธิชุมชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขมาเป็นเหตุผล
ชาวบางกลอยมีความกังวลว่า การพิจารณาให้กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ จะเป็นการปฏิเสธสิทธิการอยู่อาศัยบนผืนดินบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและชุมชนอื่น ๆ ชาวบางกลอย เรียกร้องว่า การเป็นมรดกโลกของป่าแก่งกระจาน ควรเป็นไปในแนวทาง ในการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ควบคู่ไปกับการดำรงของชุมชนดั้งเดิม ซึ่งจะทรงไว้ทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมและวิถึชีวิตของผู้คนในพื้นที่ และต้องการให้ระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ที่ทำกันมายาวนาน จนเป็นมรดกตกทอดที่ส่งต่อมาแต่บรรพบุรุษ ได้รับการยอมรับรวมถึงต้องการความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติต่อชาติพันธุ์ ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานตามหลักการสิทธิมนุษยชน
ล่าสุด เมื่อวาระป่าแก่งกระจานเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ปี 2564 ซึ่งเป็นการจัดประชุมผ่านระบบทางไกลระหว่างวันที่ 16 -31 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้ มีประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ผลสรุปการประชุมคณะกรรมการเห็นชอบให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานตีตราเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย ต่อจากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ -ห้วยขาแข้ง ปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ปี พ.ศ. 2548
มีรายงานว่า ประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆที่โหวตสนับสนุนยกมือให้กลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นเป็นมรดกโลก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สเปน ออสเตรเลีย มาลี บราซิล จีน ไนจีเรีย เมียนมา และกัวเตมาลา มีเพียงประเทศนอร์เวย์ประเทศเดียวที่คัดค้าน เพราะยังติดใจในประเด็นการจัดการเรื่องสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน
เหตุผลหลักที่ทำให้คณะกรรมการยอมรับ ให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้นก็คือ การเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ใกล้สูญพันธุ์และมีคุณค่าโดดเด่นระดับโลก รวมไปถึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรีและแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่หรือราว 4,089 ตารางกิโลเมตรมีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่มากกว่า 200 กิโลเมตร
จากข้อมูลส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ กรมอุทยานฯ ระบุว่า กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกของไทยและของโลก เพราะถือว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่า ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติถึง 3 แห่งและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ข้อที่ 10 กล่าวคือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั้งโลกให้ความสนใจ
นอกจากนี้ กลุ่มป่าแก่งกระจานยังไม่ได้มีแค่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพียงแห่งเดียวที่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี มีพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัด แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเขตนิเวศอินโดมาลายันซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างภูมิศาสตร์ย่อยของพืชพันธุ์สัตว์ป่าหลายเขตมาประจบกันอีกทั้งยังเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ต่อเนื่องไปกับเทือกเขาตะนาวศรี ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย
อีกทั้งการเป็นต้นแม่น้ำเพชรบุรี ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ที่หายากและใกล้สูญพันธ์อย่างจระเข้น้ำจืด (Siamese Crocodile)ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นสัตว์หายาก โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมานักอนุรักษ์ ได้พบจระเข้น้ำจืดสัตว์ป่าหายากของไทยในป่าธรรมชาติครั้งนี้ผ่านภาพจากกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าบันทึกภาพจระเข้ไว้ได้ในเขตพื้นที่อุทยานฯ แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
การพบ“จระเข้น้ำจืด”หรือ “จระเข้สายพันธุ์ไทย” (Crocodylus siamensis) บริเวณพื้นที่แม่น้ำเพชรตอนบนเหนือบ้านโป่งลึกและบ้านบางกลอยมากกว่า 1 ตัว เป็นหลักฐานยืนยันสถานภาพความสมบูรณ์ของป่า ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการตรวจพบภาพจระเข้มานานกว่า 5-6 ปี จนคิดว่าจระเข้น้ำจืด อาจจะสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว ทั้งที่มีการเฝ้าติดตามมาตลอดหลายปี ปัจจุบันในอนุสัญญาไซเตสได้ขึ้นบัญชีจระเข้น้ำจืดไว้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1แล้ว
นอกจากจระเข้น้ำจืดที่พบแล้วในเขตอุทยานฯ แก่งกระจาน ยังพบเสือโคร่งเพิ่มขึ้นจากเดิม รวมถึงช้างป่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการอนุรักษ์ผืนป่าจนประสบความสำเร็จที่สำคัญเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินงานพิทักษ์ป่าและปกป้องชีวิตสัตว์ป่าหายากอย่างมุ่งมั่นสู่ความเป็นมาตรฐานมรดกโลกอยู่แล้ว จากปณิธานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ตั้่งมั่นว่า “ รักษาป่าต้นน้ำ 1.8 ล้านไร่ให้แม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรีในมาตรฐานมรดกโลกอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ”
หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะเข้ามาดำเนินการ จัดตั้งคณะกรรมการ ที่มีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการผืนป่าแก่งกระจาน เนื่องจาก ป่ามีพื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่มากถึง 3 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการ เป็นไปตามหลักเกณฑ์มรดกโลก และเป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น และโจทย์สำคัญอีกประการก็คือ การจัดการดูแลให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานดั้งเดิม อย่างไร ถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสอดคล้องกับกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ของการเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวว่า การที่กลุ่มป่าแก่งกระจานได้ขึ้นบัญชีมรดกโลกเราคนไทยในฐานะเจ้าของแหล่งจะต้องปกป้องรักษาป่าที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกให้คงคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลไว้ให้ลูกหลาน นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศและเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยแล้ว ยังทำให้ภาครัฐ ภาคประชาชนคนในประเทศ คนในพื้นที่ เกิดการตระหนักในการดูแลผืนป่าเพราะแก่งกระจานเป็นมรดกของคนทั้งโลกที่ต้องช่วยกันดูแลอีกทั้งทำให้คนหลายจังหวัดรู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ด้วย
“การขึ้นทะเบียนยังมีประโยชน์ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาวิจัยในระดับสากลช่วยยกระดับการอนุรักษ์พื้นที่ด้วยการบริหารจัดการที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลให้คงคุณค่าของแหล่งเพื่อส่งต่อยังคนรุ่นต่อไปจะเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศโดยเฉพาะด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจชุมชนและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนมรดกโลกได้ “ ปลัด ทส. กล่าว
ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต่างดีใจหลังป่าแก่งกระจานขึ้นมรดกโลก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมถึงผู้แทนไทยที่อยู่ในคณะกรรมการมรดกโลกทั้งยังกำชับให้มีการดำเนินการตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกทั้งเรื่องการดูแลชุมชนกะเหรี่ยง เรื่องของสิทธิมนุษยชนการรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ซึ่ง กลุ่มคนต่างๆที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจานจะได้ดูแลเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการบริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาต่อไป
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |